วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ม.มหิดล ร่วมขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ผลักดันโครงการสเปซ-เอฟ สู่ระดับโลก

On July 3, 2020

3 องค์กรพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งโครงการสเปซ-เอฟ : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวพันธมิตรใหม่จากภาคเอกชน เพื่อร่วมสนับสนุนโครงการสเปซ-เอฟ รุ่นที่ 2

โครงการสเปซ-เอฟ (SPACE-F) เป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพในการสร้างนวัตกรรมอาหารที่ผสานเทคโนโลยีขั้นสูงและมีการพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลกที่ต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความปลอดภัย โดยในระยะแรกเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทั้ง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานแห่งเดียวที่เป็นสถาบันการศึกษาร่วมก่อตั้ง ซึ่งเป็นผลต่อยอดจากความร่วมมือเดิมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ของโครงการ Global Innovation Incubator ที่ดำเนินการโดย คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกันระหว่าง 4 ภาควิชา ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ ชีวเคมี เคมี และสรีรวิทยา

ในปีนี้ได้มีการขยายเป็นความร่วมมือของโครงการสเปซ-เอฟ มาสู่ระดับมหาวิทยาลัย โดยมี สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยการจัดการ และ สถาบันโภชนาการ

และเป็นที่น่ายินดีที่โครงการสเปซ-เอฟในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรใหม่เพิ่มเติมอีก 3 บริษัทได้แก่ บริษัท ไทย เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมเป็นหุ้นส่วนร่วมจากภาคเอกชน (Corporate Partner) อีกทั้งมีการร่วมสนับสนุนจาก บริษัท เบทาโกร จำกัด และ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ในฐานะผู้ให้การสนับสนุน (Supporting Partner) ที่เป็นกำลังสำคัญร่วมผลักดันโครงการ SPACE-F เพื่อสร้างการยอมรับในระดับสากลในด้านการพัฒนา และการลงทุนด้านนวัตกรรมอาหาร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีงานวิจัย และองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะสนับสนุนธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งขยายขอบเขตตามนโยบายรัฐจากการเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) สู่การส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร (Foodtech Startup) ซึ่งเป็นแนวโน้ม (trend) ต่อไปในอนาคตที่ก่อให้เกิดระบบการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา จากผลสัมฤทธิ์ของโครงการสเปซ-เอฟ รุ่นแรก มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านวิชาการและองค์ความรู้ด้านวิจัยทางอาหารให้กับสตาร์ทอัพต่างๆ ที่เข้าร่วม ทั้งระดับผู้ผลักดัน (accelerator) และผู้บ่มเพาะทางธุรกิจ (incubator) ทั้งจากไทยและนานาประเทศ ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการในรุ่นแรก นอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับสตาร์ทอัพ ยังทำให้เกิดการจับคู่ลงทุนทางธุรกิจต่างๆ สำหรับนักลงทุนอีกด้วย

“สำหรับโครงการสเปซ-เอฟ รุ่นที่ 2 ได้มีการขยายผลเปิดกว้างให้ผู้สนใจจากทั่วโลกมาเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นการส่งเสริม Entrepreneurial Mindset หรือ ความคิดในรูปแบบของการเป็นผู้ประกอบการให้กับคนรุ่นใหม่  โดยในส่วนของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลหากผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ก็จะมีโอกาสได้เพิ่มศักยภาพสู่การเป็นสตาร์ทอัพในระดับสากล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการเป็นที่รู้จัก (visibility) ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การเป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลกได้ต่อไป” ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้าย

สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม  นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login