วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จุฬาฯควรสร้างอนุสาวรีย์ให้ “จอมพล ป.”

On August 4, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 7 -14  ส.ค. 2563)

หลายคนคงไม่รู้ว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามเกี่ยวอะไรกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วทำไมต้องสร้างอนุสาวรีย์ให้กับจอมพลท่านนี้ด้วย หลายคนอาจไม่ทราบว่าจอมพล ป. มีคุณูปการอย่างสูงสุดท่านหนึ่งต่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ผม (ดร.โสภณ พรโชคชัย) ในฐานะประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) เคยได้ยินอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านหนึ่งที่วายชนม์เมื่อปี 2560 เกริ่นถึงเรื่องที่จุฬาฯควรสร้างอนุสาวรีย์ให้จอมพล.ป. เพราะท่านมีคุณูปการมากนี้ อาจารย์ท่านนี้ก็คือ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (“เฮียยิ้ม”) โดยในสมัยท่านเรียนปริญญาโทได้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “กระบวนการทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2490-2500)” <1>

จอมพล ป.พิบูลสงคราม (พันเอกหลวงพิบูลสงคราม) <2> อดีตนายกรัฐมนตรีและคนสำคัญของคณะราษฎร เคยเป็นอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนที่ 4 โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2479 – วันที่ 1 สิงหาคม 2487 และวันที่ 21 ตุลาคม 2492 – วันที่ 21 กรกฎาคม 2493 รวมระยะเวลาประมาณ 9 ปี ซึ่งนับว่าเป็นอธิการบดีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดท่านหนึ่ง <3> การดำรงตำแหน่งอธิการบดีนั้นก็เพื่อเป็นการคุมปัญญาชนในทางหนึ่ง จะเห็นได้ว่าแม้แต่หลังสมัยจอมพล ป. แล้ว จอมพลประภาส จารุเสถียร ก็ยังเคยเป็นอธิการบดีเช่นกัน

ในปี 2493 จอมพล ป. ได้ทูลเกล้าฯถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในปีนั้นในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก “การประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 153/2493 เมื่อวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม 2493 ณ ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม อธิการบดี เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย เรื่องที่สำคัญยิ่งคือ การทูลเกล้าฯถวายปริญญากิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งที่ประชุมอนุมัติให้ทูลเกล้าฯถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีกิตติมศักดิ์” <4>

เมื่อรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัติกลับสู่ประเทศไทย จุฬาฯโดยจอมพล ป. อธิการบดีในขณะนั้น ก็กราบบังคมทูลเชิญพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัชกาลที่ 7 และ 8 ก็เคยมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรบ้างเช่นกัน แต่ส่วนมากเป็นการ “รับพระราชทานปริญญาบัตรจากผู้แทนพระองค์” เป็นสำคัญ <5> เช่น ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี 2489 นิสิตรับปริญญาปีแรกจากผู้แทนพระองค์คือ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร <6> เป็นต้น

คุณูปการที่สำคัญที่สุดของจอมพล ป. ต่อจุฬาฯก็คือ การตราพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย <7> โดยโอนที่ดิน 3 แปลง รวมเนื้อที่ 1,196 ไร่ 32 ตารางวา แต่เดิมนั้นที่ดินของจุฬาฯเช่าจากในหลวง เช่น ตามโฉนดที่ดินของจุฬาฯที่กรมที่ดินเก็บคู่ฉบับไว้ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2478 ในหลวงรัชกาลที่ 8 “ให้เช่า 30 ปี” แก่จุฬาฯ ไม่ใช่การพระราชทานให้โดยตรง ถ้าไม่ได้จอมพล ป. ป่านนี้จุฬาฯก็ยังต่อทะเบียนเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทุก 30 ปี

อย่างไรก็ตาม หลังการจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลังการปฏิวัติ 2475 นั้น กระทรวงการคลัง (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) เป็นผู้ถือครองที่ดินแปลงนี้ และในวันที่ 12 ธันวาคม 2483 กระทรวงการคลังก็ “ให้” ที่ดินแปลงนี้แก่จุฬาฯ <8> ในปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 1,153 ไร่ (หลังจากหักแบ่งเป็นถนน) โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่เขตการศึกษา 595 ไร่ พื้นที่ส่วนราชการเช่าใช้ 184 ไร่ และพื้นที่เขตพาณิชย์ 374 ไร่ <9>

จอมพล ป. ทำให้จุฬาฯมีรายได้มหาศาลจากการให้เช่าที่ดินทั้งแก่ภาครัฐและภาคเอกชน กลายเป็นทรัพยากรสำคัญของจุฬาฯในการพัฒนาการเรียนการสอนและความสะดวกสบายแก่บุคลากรของจุฬาฯจนถึงทุกวันนี้ มีตัวเลขรายได้ของจุฬาฯว่า “ในปี 2558 รายได้จากรัฐบาล 7,117 ล้านบาท รายได้จากการดำเนินงานของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน 4,950 ล้านบาท รายได้จากการจัดการศึกษา 2,927 ล้านบาท โดยรายได้รวมทั้งหมดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ 21,538 ล้านบาท” <10> มหาวิทยาลัยมีรายได้ของตนเองจำนวนถึง 4,950 ล้านบาทนี้ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดินเท่าเงินรายได้ของจุฬาฯก้อนนี้เลย

ด้วยเหตุนี้จุฬาฯจึงควรสร้างอนุสาวรีย์ให้กับจอมพล ป. เพื่อสำนึกในคุณูปการที่ท่านสนับสนุนการศึกษาของจุฬาฯเช่นกัน

 

อ้างอิง

<1> Wikipedia. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. https://bit.ly/30b1bDj

<2> Wikipedia. แปลก พิบูลสงคราม. https://bit.ly/3jP82tR

<3> จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิการบดี. https://bit.ly/305CDLz และประกาศตั้งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2479/D/2271.PDF

<4> หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. https://bit.ly/32Yt1Eu

<5> ตามข้อ 4

<6> มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ทศวรรษที่ 1 พ.ศ. 2486-2495. http://kuhistory.ku.ac.th/02/time1.htm

<7> พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/A/1364.PDF

<8> โปรดดูรายละเอียดในโฉนดที่ดินของจุฬาฯทั้ง 3 แปลง

<9> ตามข้อ 3

<10> ลงทุนแมน. ทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. https://www.longtunman.com/10549


You must be logged in to post a comment Login