วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บิณฑบาตอย่าเกินเวลา

On August 14, 2020

คอลัมน์ : สำนัก(ข่าว)พระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 14 ส.ค. 63)

มหาเถรสมาคม (มส.) ได้ออกกฎคุมเข้มพระสงฆ์อย่าออกบิณฑบาตเกินเวลา อย่างงก โลภมาก เอาแต่ปัจจัย เรื่องนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นพระที่เรียกกันว่า ต่างด้าว ต่างชาติก็มีไม่ใช่น้อย ยิ่งมาบิณฑบาต เรียกว่า บิณหาที่ลงไม่ได้ มันสาย 4 โมง 5 โมงเช้าอะไรอย่างนี้ นั่นก็เกินไป ท่านทำกันอย่างชนิดที่เรียกว่า ต้องออกกฎ ออกกติกา บิณบาตไม่เดิน ไปไหน นั่งอยู่เป็นที่ อันนี้ก็แลเหมือนนั่งเฝ้าร้าน บางทีมีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ฮั้วกัน

บางทีเป็นพระลูกชาย พระสามี อะไรก็ไม่รู้ที่วนเวียนกันอยู่ในวงจรที่ไม่สง่างาม ไม่น่าเลื่อมใสศรัทธา สำหรับทางวัดสวนแก้วเราห้ามพระที่ไปยืน หรือนั่งอยู่กับที่ ให้เดินบิณบาตไปเรื่อยๆ จะยืนบ้างในช่วงที่คนเข้ามารุม ยังไปไม่ได้ก็จะยืนอยู่พักเดียวแล้วก็เดินต่อ แล้วก็ต้องดู อย่างที่วัดสวนแก้ว ไปแล้วไม่มีที่จะไปรับเขาข้างเดียว มีการให้หนังสือธรรมะ ให้หน่อไม้ ผลไม้อะไรต่างๆที่เรามันเหลือจะเน่า จะเสีย เอาไปแจกจ่ายแบ่งบันให้เด็กๆได้กิน ได้ทาน

ส่งผลให้เด็กดีใจ เห็นพระมาก็อยากใส่บาตร และสมัยก่อนๆแจกหนังสือการ์ตูนธรรมะ ได้ใจเด็กเลย เด็กจ้องจะใส่บาตร เพราะอยากจะได้หนังสือการ์ตูน เป็นหนังสือการ์ตูนธรรมะก็ดี มีประโยชน์ ต้องเรียกว่า การบิณบาตนั้น เป็นการจารึก เป็นการให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชาวบ้านมีสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับจำกันได้ อาตมารู้สึกว่า ไปบิณฑบาตแล้วจะมีคนตามมาที่วัด และก็ได้อ่านหนังสือ ได้ผลไม้อร่อยปาก อร่อยท้องก็ตามมาวัดอีก

เรียกว่า บิณบาต เดิมใช้คำว่า โปรดสัตว์ เพราะสัตว์ยังอยู่ในวงจรงก เห็นแก่ได้ และการใส่บาตรของชาวบ้านก็เป็นการแกล้งกิเลศตัวหนึ่ง คือ ตัวงง แต่ทีนี้พระเมื่อได้มาแล้ว บางวัดก็ดีมีคนที่ตกทุกข์ได้ยากรอบวัดก็เอามาแบ่ง มาให้ ที่วัดสวนแก้วเลี้ยงคนชรา คนพิการเยอะ เพราะฉะนั้นได้มาเรื่องที่เอาไปขายมันยาก นอกจากเรารู้จักไปเปลี่ยนแลกฝาก ให้เด็กเขาจัดการว่า ของชนิดนี้ นมกล่องอะไรต่างๆ ถ้าได้เป็นลัง ฉันไม่หมด เอาไปฝากร้านที่เขาขายไปก่อน

พอวันไหนไม่พอ ขาดแคลนก็ไปเบิกเอาคืน ไปเอาที่เขารับมาใหม่ ซื้อมาใหม่ ไม่หมดอายุ ทำให้เกิดการหมุนเวียน เปลี่ยน ถ้าเราเอาไว้มันอาจจะหมดอายุ เพราะฉันไม่หมด อันนี้มีให้เป็นลัง ยกเป็นลังเลย อย่างที่วัดมีบางคน บางบริษัทมาให้ทางวัดมาก เราก็เอาไปฝากให้เขาขายไปก่อน ถ้าวันไหนขาดก็เอามาเลี้ยงคนทั้งพระ เป็นอันว่า แลกเปลี่ยนหมุนเวียน แต่ไม่ใช่แบบขายเข้าพกเข้าย้าม ให้เขาไปขาย แล้วถ้าเราขาดเมื่อไร ไม่พอก็ไปให้ มีโอกาสทำให้เกิดไม่เน่า ไม่เสีย ไม่บูด ไม่เละ

ต้องเรียกกันว่า เล่นแร่แปรธาตุ แต่ไม่ได้เหมือนกับว่า บิณบาตตรงนั้น ขายตรงนั้น เจ้าของยังไม่ทันจะไป อันนี้สร้างความเสื่อมศรัทธา มส.จึงต้องออกกฎตรวจดูให้ดี อย่าปล่อยให้กลับวัดตั้ง 3 โมง 4 โมงเช้า ที่วัดสวนแก้วจะไม่ให้เกินเวลาพอสมควร อาจจะเกินบ้างเล็กน้อยระหว่างเดินออกซอย อาจจะไปถึงปลายซอย รถคอยก็เดินช้าบ้าง แต่อย่าให้สายเป็นประจำ มันต้องเป็นบางครั้ง บางคราว เช่น ฝนตก อาจจะติดฝน

อันนี้อนุโลมได้ แต่อย่าสายเป็นอารมณ์ เป็นความเคยชิน เป็นความติดยึด ก็ต้องบอกกันว่า มส.สั่งมาแล้วต้องช่วยกันปฏิบัติเพื่อจะได้เกิดความเลื่อมใส ศรัทธา ไม่ต้องถูกคำติเตียน ครหาต่อไป กฎกติกานี้มันจำเป็นต้องมี เพราะการทำผิด ถ้าพระพุทธเจ้าอยู่ วินัยคงไม่ใช่ 227 ข้อ แต่อาจเป็น 400-500 ข้อก็ได้ เพราะมีคนร้องเรียน มีคนไปฟ้อง ก็ต้องออกกฎข้อห้ามอะไรต่างๆออกมา ก็หวังว่า คงจะได้เห็นพระบิณบาตแบบน่าเลื่อมใส่ น่าศรัทธากันต่อไป

เพราะต้องถือกติกามส.เตือนแล้วไม่ฟังก็อาจจะต้องมีตำรวจพระไปตามจัดการอีกต่างหากก็ว่ากันไป อย่ามีปัญหา ปัญหามีไว้ให้แก้ไข ไม่ได้มีให้เรากลุ้มหรือเสื่อมศรัทธา แต่มีให้ต้องแก้ไขกันต่อไป

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login