วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ครั้งแรกในประเทศไทย ม.มหิดล ร่วมกับ อาลีบาบา คลาวด์ แลกเปลี่ยนดิจิทัลเทคโนโลยีบนธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง

On August 14, 2020

อาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) ดำเนินการธุรกิจหลากหลาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในตลาดการค้า อีกทั้งยังดำเนินธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยี โดยมี Alibaba Cloud เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัลและให้บริการด้านระบบข้อมูล รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีคลาวด์ อันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นับเป็นธุรกิจหลักสำคัญของกลุ่มบริษัทอาลีบาบา โดยล่าสุด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับอาลีบาบา คลาวด์  ซึ่งความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลครั้งนี้ นักศึกษาจะได้รับความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ และระบบคลาวด์คอมพิวติ้งชั้นนำ เพื่อพัฒนาความเข้าใจในเทคโนโลยีด้านการเงิน การค้า รวมไปถึงกระบวนการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆในองค์กร  และมหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีความร่วมมือทางวิชาการในการถ่ายทอดดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน และการวิจัย  โดยจะเริ่มดำเนินการที่คณะที่มีการเรียนการสอนด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ตลอดจนจะมีการจัดตั้ง Knowledge Center ที่หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ต่อไปเร็ว ๆ นี้

S__38518833

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “นวัตกรรม” จะเกิดขึ้นได้ต้องมีลักษณะของ A-B-C-D ซึ่ง “A” คือ Alliance หรือ พันธมิตร “B” คือ Brain หรือ การสร้างมันสมอง หรือความรู้ต่างๆ “C” คือ Collaboration  หรือ ความร่วมมือ และ “D” คือ Dedication หรือการอุทิศเพื่อที่จะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นต่อไป ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีความร่วมมือกับอาลีบาบา คลาวด์ ถือเป็นโอกาสในการสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรม จากองค์กรระดับโลกที่จะมาเป็นคู่พันธมิตรทางด้านการสนับสนุนเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติเข้มแข็งต่อไป

S__38518835

รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า จากความร่วมมือกับอาลีบาบา คลาวด์ ก่อให้เกิดประโยชน์ในการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง AI และธุรกิจบนคลาวด์ต่าง ๆ โดยนักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล จะได้รับโอกาสให้ใช้งานจริงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในปีแรก ซึ่งประโยชน์ไม่ได้มีเฉพาะในเชิงวิศวกรรมเท่านั้น แต่จะขยายวงกว้างไปสู่ทุกวงการที่มีการศึกษา วิจัย และการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลจะได้เข้าถึงโอกาสในการได้รับการผลักดันเป็นผู้ประกอบการในอนาคตจากการศึกษาข้อมูลและเชื่อมโยงกับกลุ่มตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย

S__38518837

ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (MUICT) กล่าวว่า จากความร่วมมือกับอาลีบาบา คลาวด์ นักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งของอาลีบาบา ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการใช้ทรัพยากรในระบบคลาวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนักศึกษาไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์สูงในการเขียน AI อัลกอริธึม และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถนำแพลตฟอร์มของอาลีบาบา คลาวด์ มาใช้เพื่อต่อยอดในการสร้างแอพพลิเคชันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายกว่าการสร้าง Data Center และสิ่งอื่นๆ ขึ้นมาใช้เอง นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาระบบ และความมั่นคงไซเบอร์ ไปจนถึงระดับ Enterprise Application หรือ แอพพลิเคชันทางการตลาด ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศชาติให้เข้าสู่ Digital Economy ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

S__38518839

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ในฐานะผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ อาลีบาบา คลาวด์ จะทำให้เกิด Knowledge Center หรือ ศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ขึ้นที่หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยจะทำหน้าที่ในการสร้างพื้นที่ให้เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกทักษะด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยมีอาลีบาบา คลาวด์ ให้การสนับสนุนทั้งในด้านองค์ความรู้ และระบบเซิร์ฟเวอร์ เริ่มด้วยการ Train the Trainer ให้แก่คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งคณาจารย์ที่ผ่านการอบรมจะได้รับเชิญเป็น Ambassador หรือทูตที่ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ในเชิงวิชาการให้แก่คณาจารย์ด้วยกัน ตลอดจนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อจุดประกายให้เกิดโครงการที่หลากหลาย ตอบสนองต่อการจ้างงานบัณฑิตตามความต้องการของโลกในยุคดิจิทัลต่อไป

S__38518842

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login