วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ป.โทพยาบาล ม.มหิดล คิดค้น “แอปพลิเคชันกระดานเสียงของฉัน” ช่วยเหลือผู้ป่วยเด็ก ICU

On August 16, 2020

การเรียนการสอนในโลกยุคดิสรัปชั่นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่สอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตจากการได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยตัวเอง

น.ส.ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ ได้สร้างสรรค์ผลงาน “แอปพลิเคชันกระดานเสียงของฉัน” ซึ่งเป็นผลงานวิทยานิพนธ์นวัตกรรมระดับปริญญาโท คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากการปฏิบัติหน้าที่พยาบาลวิชาชีพในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤติ (PICU) ได้ตอบโจทย์การเรียนการสอนในโลกยุคใหม่ ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นจากความต้องการการสื่อสารของผู้ป่วยเด็กใน ICU โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการออกแบบแอปพลิเคชันด้วยชุดคำสั่งอย่างง่ายที่สามารถติดตั้งไว้ในแท็บเล็ตทั่วไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนี ประสบกิตติคุณ ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาว่า ภารกิจสำคัญของพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ หรือ พยาบาลดูแลผู้ป่วยเด็ก คือ การสร้างเสริมสุขภาพให้ผู้ป่วยเด็กได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการสร้างนวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นเป้าหมายหลักของภารกิจสำคัญของวิชาชีพพยาบาล

ในโลกยุคดิสรัปชั่น จำเป็นต้องมีเรื่องของนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวช่วย ซึ่งจำเป็นต้องมีการดึงศักยภาพในทุกด้านของผู้เรียนออกมา ทั้งจากความรู้ ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจ ร่วมกับการได้รับการสนับสนุนจากหลักสูตร และทีมอาจารย์ที่ปรึกษา สู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อส่งเสริมคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเด็กในภาวะวิกฤติที่ต้องการการดูแลทั้งทางด้านร่างกายและด้านจิตใจอย่างใกล้ชิด

S__38608905

แม้จะไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์โดยตรง น.ส.ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ ได้ใช้ความรู้ และประสบการณ์จากการดูแลผู้ป่วยเด็กใน ICU ซึ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ตามปกติ และที่สำคัญ คือ ไม่สามารถสื่อสารได้ด้วยการพูด โดยได้ออกแบบ “แอปพลิเคชันกระดานเสียงของฉัน” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ในแท็บเล็ตที่ใช้โดยทั่วไป เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กใน ICU สามารถสื่อสารกับพยาบาล พ่อแม่ หรือผู้ดูแล โดยการสัมผัส (Touch Screen) บนหน้าจอของแท็บเล็ต จากนั้นจะปรากฏเสียง และรูปภาพประกอบข้อความที่ผู้ป่วยเด็กต้องการสื่อสารกับบุคลากรทางการพยาบาล และผู้ดูแล เช่น หิว เจ็บ ต้องการขับถ่าย เบื่อ หรือเหงา เป็นต้น ซึ่งจากการทดลองใช้จริงกับผู้ป่วยเด็กใน ICU ที่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลราชบุรี พบว่าบุคลากรทางการพยาบาล และผู้ดูแลที่ใช้แอปพลิเคชันมีความพึงพอใจในการสื่อสารด้วยแอปพลิเคชัน มากกว่าวิธีการสื่อสารตามปกติอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดการสื่อสารที่ตรงกัน ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเด็กใน ICU ได้รับการพยาบาลโดยองค์รวมในขณะที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

 

ซึ่งผลงานของ น.ส.ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์ ได้เป็น 1 ใน 8 ผลงานวิทยานิพนธ์นวัตกรรมที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงผลงานแบบปากเปล่า (Oral Presentation) เพื่อชิงรางวัลวิทยานิพนธ์นวัตกรรมดีเด่น ประจำปีงบประมาณ 2563 จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 – 12.00 น. ผ่าน Zoom ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้จาก FB: Faculty of Graduate Studies, Mahidol University.

 

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)  งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login