วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ม.มหิดล ปรับโฉมศูนย์เครื่องมือกลาง MU-FRF รองรับงานวิจัยระดับโลก

On August 26, 2020

การก้าวสู่อันดับมหาวิทยาลัยโลก (World Class University) ไม่ได้วัดแต่เพียงการตีพิมพ์ผลงานวิจัย ทว่าครอบคลุมไปถึงการนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการอ้างอิงผลงานวิจัย (Citation) ด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเห็นความสำคัญของยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยให้เป็นยุทธศาสตร์แรก เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลมี Frontier Research ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คอยผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ ซึ่งการที่จะผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพจำเป็นต้องมีการจัดหาเครื่องมือ-อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทันสมัย และเชื่อถือได้ จึงได้มีการปรับโฉมศูนย์เครื่องมือกลางที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และยกระดับเป็น Mahidol University Frontier Research Facility (MU-FRF)

2

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ และผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า MU-FRF เกิดขึ้นจากแนวคิดในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน มุ่งผลวิจัยที่เป็นเลิศตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 3 Health & Wellness เพื่อการมีชีวิตที่มีสุขภาพและสวัสดิภาพที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะผลักดันงานวิจัยสู่ระดับโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว

การวิจัยจะก้าวหน้า สำเร็จตามเป้าหมาย รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ปลอดภัย จำเป็นต้องมีเทคโนโลยี หรือเครื่องมือวิจัยที่เหมาะสมเป็นพื้นฐาน ซึ่งหน้าที่ของ MU-FRF ก็คือ การส่งมอบเครื่องมือวิจัยที่เหมาะสมกับงานวิจัยที่เป็นพื้นฐานของ SDGsโดยในอนาคตอันใกล้จะมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบด้วยซอฟต์แวร์ที่มีการออกแบบเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการในเชิงรุก โดยทันทีที่นักวิจัยได้รับอนุมัติทุนวิจัย จะสามารถเลือกจองใช้เครื่องมือผ่านระบบได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถทำวิจัยได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ได้ผลที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับ

3

“เครื่องมือขั้นสูงของมหาวิทยาลัยมีความแม่นยำ และมีความละเอียดสูงมากต่างจากเครื่องมือทั่วไป ซึ่งเครื่องมือยิ่งมีเทคโนโลยีสูง ก็ยิ่งมีราคาสูงตามไปด้วย หากใช้วิจัยได้เฉพาะโครงการเดียวจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งนอกจากแนวคิดด้านการใช้ทรัพยากรร่วมกันแล้ว ต่อไป MU-FRF จะมุ่งมั่นเป็นศูนย์ให้บริการเครื่องมือขั้นสูงในระดับโลก เพื่อการวิจัยที่เป็นเลิศของประเทศในอนาคต” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์  กล่าวทิ้งท้าย

 

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)  งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login