วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ร.3และพระเจ้ามินญ์หมาง….โดย เกรียงศักดิ์ โยธาประเสริฐ

On August 28, 2020

แนวคิดพระเจ้ามินญ์หมาง ถ้าไม่ต้องการแก่งแย่งเขตแดนเขมรให้สยามมาอ้างสิทธิก็ต้องให้เขมรเป็นญวน แต่งตัวมีประเพณีและศาสนาแบบญวน

แนวคิดสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สงสารเป็นห่วงประเพณี พุทธศาสนา และพระในเขมรจะสูญหายไป

การอ่านประวัติศาสตร์ให้สนุกและเข้าใจสถานการณ์ได้ดีก็ต้องรู้เหตุการณ์คู่กรณีหรือประเทศใกล้เคียงด้วย สยามรบกับญวนในสมัยรัชกาลที่ 3 ร่วม 20 ปี ด้านสยามมีเขียนไว้มาก โดยเฉพาะในบันทึกอานามสยามยุทธของเจ้าพระยาบดินทรเดชา กษัตริย์ญวนซึ่งเป็นคู่สงครามกับรัชกาลยาวนานคือพระเจ้ามินญ์หมาง

พระเจ้ามินญ์หมางประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2334 (ในชื่อเหงียน ฟุก ด๋าม) ครองราชย์ปี 2363 สิ้นพระชนม์ปี 2394 เป็นโอรสองค์ที่ 4 ของพระเจ้ายาลองหรือองเชียงสือ เป็นเรื่องบังเอิญเช่นเดียวกับรัชกาลที่ 3 ที่พระเจ้ามินญ์หมางนั้นโดยลำดับสืบสันตติวงศ์แล้วจะไม่ได้เป็นกษัตริย์ เพราะไม่ใช่ลูกของพระมเหสี แต่เนื่องจากรัชทายาทได้เสียชีวิตลงก่อน ลูกของรัชทายาทควรได้สิทธิ แต่เพราะอยู่ใกล้ชิดกับบาทหลวงคริสต์ พระเจ้ายาลองแคลงพระทัย จึงตั้งเหงียน ฟุก ด๋าม ขึ้นเป็นรัชทายาทแทน และต่อมาได้ขึ้นครองราชย์ในชื่อพระเจ้ามินญ์หมาง (ชีวิต โชติช่วง)

เมื่อขึ้นครองราชย์ก็เริ่มขยายอิทธิพลมาในลาวและเขมร ขอเมืองบันทายมาศ แจ้งสยามว่าเมืองชายเขตลาว เขมร ติดญวน ขอเข้าอยู่ในอำนาจญวน หนุนเจ้าอนุวงศ์ จนเป็นเหตุให้สยามต้องไปปราบ แต่ยุคสมัยของพระองค์ก็มีปัญหาภายในเช่นกัน โดยเจ้าเมืองในไซง่อนซึ่งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่สมัยพระเจ้ายาลองเป็นขบถ สมเด็จพระนั่งเกล้าฯถือเป็นโอกาสให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกกองทัพไปขับไล่อิทธิพลญวน

อย่างไรก็ดี กองทัพจากเว้ของพระเจ้ามินญ์หมางสามารถปราบขบถได้ และเข้ามาขยายอิทธิพลในเขมรอีก ครั้งนี้หวังจะให้เขมรกลายเป็นญวน โดยบังคับให้ราชสำนักและชาวบ้านมาใช้ประเพณีและแต่งตัวแบบญวน พระและพุทธศาสนาก็จะให้เป็นแบบญวน นโยบายของพระองค์ถือว่าทำสำเร็จกับแขกจามซึ่งอยู่ในดินแดนเวียดนามตอนกลางมาช้านาน พระองค์ทรงเชื่อมั่นและเข้มงวดในลัทธิขงจื๊อ (ขณะที่ ร.3 ทรงเชื่อมั่นในพุทธศาสนานิกายเถรวาทเช่นเดียวกับเขมร) ลงโทษพวกเข้ารีตและบาทหลวงคริสต์ ทรงปรับปรุงการบริหารจัดการต่างๆ การสร้างขยายคลองในเว้ก็มี (แต่สั้นกว่าคลองแสนแสบมาก) ถือว่าบ้านเมืองรุ่งเรืองพอสมควร ปัจจุบันในการแย่งสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลีและพาราเซลกับจีน เวียดนามก็ใช้แผนที่ในสมัย พระเจ้ามินญ์หมาง เมื่อสิ้นพระเจ้ามินญ์หมาง ลูกอายุ 16 ปี ขึ้นครองราชย์ได้ 7 ปีก็สิ้นพระชนม์ ลูกอายุ 7 ปี ขึ้นครองราชย์แทน

สมเด็จพระนั่งเกล้าฯประสูติปี พ.ศ. 2331 ครองราชย์ปี พ.ศ. 2367 สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2394 เมื่ออายุได้ 63 ปี เนื่องจากครองราชย์หลังพระเจ้ามินญ์หมาง 4 ปี เราจึงทราบว่าทางญวนมาขอเมืองบันทายมาศจากไทยในรัชกาลที่ 2 ซึ่งญวนก็ได้ขอเมืองเล็กชายเขตแดนลักษณะนี้ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 และนับเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดอานามสยามยุทธ ช่วงเวลาที่ทำสงครามยาวนานก็ตรงกับสมัยของกษัตริย์ 2 พระองค์นี้เป็นส่วนใหญ่

sss

แผนที มินญหมางบอกเกาสแปรตลีพาราเชลเป็นของญวน

หากเป็นมวยก็ถือว่าถูกคู่ สมเด็จพระนั่งเกล้าฯขึ้นครองราชย์ไม่ได้อยู่ในลำดับสืบสันตติวงศ์เช่นเดียวกับพระเจ้ามินญ์หมาง ในขณะที่พระเจ้ามินญ์หมางเคร่งครัดส่งเสริมประเพณีขงจื๊อ พระนั่งเกล้าฯเชื่อมั่นในพุทธศาสนา ต่างมีการปรับปรุง บริหารจัดการ การก่อสร้างเหมือนๆกัน ของเรามีการขุดคลองแสนแสบ ป้อมและหอรบตามจังหวัดชายทะเลตะวันออก การค้าขายสำเภากับจีนนั้นทำให้มีเงินเก็บที่เรียกว่าถุงแดงตามที่ทราบกัน ในการทำสงครามพระองค์มีขุนพลคู่พระทัยคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา มีต้นตระกูลเป็นพราหมณ์ สามารถสยบขุนพลที่เก่งของญวนถึง 2 คน คนหนึ่งคือองเตียนกุน ซึ่งประกาศว่าถ้าเอาแผ่นดินเป็นของญวนไม่ได้จะขอลาตาย ปรากฏว่ากินยาตายจริงๆ คนต่อมาคือองต๋าเตียนกุน ท้ายสงครามมีสติฟั่นเฟือน สงครามจบลงด้วยการที่ญวนขอยุติ ถอนทัพ และข้าราชการญวนออกจากเขมร มีเพียงทุก 3 ปี ขอให้เขมรส่งบรรณาการไป

บุคคลในประวัติศาสตร์ยุคของพระองค์ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ สุนทรภู่ ซึ่งมีทัศนคติเชิงลบต่อพระองค์ทั้งที่พระองค์ไม่เคยกล่าวร้ายสุนทรภู่ เป็นไปได้ว่าเพราะสุนทรภู่ไม่รู้ ไม่เข้าใจความรับผิดชอบของนักบริหารคือสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งต้องรับผิดชอบในความเจริญของประเทศ ทำสงครามปกป้องเขตแดน ซึ่งคู่สงครามมีศักยภาพสูงเช่นกัน จึงไม่มีเวลามาสนใจงานของสุนทรภู่

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าบรรพบุรุษไทย รวมถึงสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้ปกป้องเขตแดน สร้างวัง วัดให้ลูกหลาน แต่ต้องเข้าใจว่าเพื่อลูกหลานทั้งมวล ไม่ใช่เพื่อนายทุนอำมาตย์กลุ่มน้อย เพราะเราเห็นความไม่เท่าเทียมในการบังคับใช้กฏหมายเมื่อมีการบุกที่หลวง หรืออย่างกรณีธุรกิจท่องเที่ยว ชายทะเล ภูเขา วัง วัด ทุนใหญ่โรงแรมได้ประโยชน์โดยตรงทั้งที่ไม่ได้สร้าง แต่กลับมี พ.ร.บ.โรงแรมที่ระบุว่านักท่องเที่ยวที่ต้องการเที่ยวชมต้องพักรายวันในโรงแรมเท่านั้น จุดเด่นของรัชกาลที่ 3 อีกประการหนึ่งคือ ท่านเข้าใจความสำคัญของการสืบทอดอำนาจ (เช่นเดียวกับพระนเรศวร) เราจึงได้สมเด็จพระจอมเกล้าฯซึ่งวัยและความรู้เหมาะสมที่จะต่อกรกับตะวันตก


You must be logged in to post a comment Login