วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

พม.จับมือ มูลนิธิเด็กเยาวชนฯ สสส.เปิดแคมเปญ “ผีเสื้อขยับปีก”

On August 28, 2020

1

วันนี้(28 สิงหาคม 2563) ที่โรงแรมแมนดาริน  สามย่าน กรุงเทพมหานคร  นางสราญภัทร อนุมัติราชกิจ  รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างพลัง EMPOWERMENT สำหรับนักวิชาชีพ” หรือโครงการ “ผีเสื้อขยับปีก” เพื่อให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ทำหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครองให้ความช่วยเหลือ การดำเนินการฟื้นฟูเยียวยา และเสริมพลังแก่เด็กผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ ให้สามารถเปลี่ยนสถานะของตนเองจาก “เหยื่อ” กลายเป็น “พยานคนสำคัญ” เพื่อให้คนทำผิดถูกลงโทษตามกฎหมาย พร้อมทั้ง เสริมสร้างพลัง EMPOWERMENT สำหรับนักวิชาชีพ เพื่อสร้างองค์ความรู้ ทักษะ และวิธีปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ทั้งนี้ นายจุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เดินทางมาร่วมงาน พร้อมกล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ถูกกระทำผู้ถูกล่วงละเมิด ที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อความถูกต้อง พร้อมเปลี่ยนจากเหยื่อกลายมาเป็นพยาน คืนความยุติธรรมและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งทางรัฐบาลได้ให้นโยบายและพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ และอยากให้โครงการนี้ขยายไปอย่างกว้างขวางทุกจังหวัด นอกจากนี้สิ่งที่เราต้องทำคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก การทำงานเชิงรุก สร้างองค์ความรู้  รวมถึงอาจต้องมีการปรับปรุงระเบียนต่างๆเพื่อให้เกิดความทันสมัยกระชับขึ้น เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเหยื่อและผู้ที่ถูกละเมิดทางเพศมากขึ้น

นางสราญภัทร  อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า สถิติผู้ใช้บริการ ในศูนย์พึ่งได้ทั่วประเทศ พบสถานการณ์ปัญหา เด็กและเยาวชนถูกกระทำความรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมาก โดยสถิติ ปี 2560  มี21,218 ราย ปี2561 มี14,237 ราย และในปี2562 มี15,797 ราย ในจำนวนนี้ พบประเภทการกระทำ ความรุนแรงทางเพศ มากถึง 5,191 ราย คิดเป็นร้อยละ 32.9 ของสถิติเด็กและเยาวชนที่ถูกกระทำความรุนแรง จากสถิติพบว่า ความรุนแรงทางเพศมีสถิติ การเกิดขึ้นที่สูงที่สุด ส่วนใหญ่เป็นบุคคลใกล้ชิดของผู้เสียหาย และมักพบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติดเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ   กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มอบหมายให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 แห่ง ร่วมติดตามและให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ถูกกระทำความรุนแรงและการถูกล่วงละเมิดทางเพศ อย่างทันท่วงที

2

นางสราญภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า  เราส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการทำงาน เพื่อการปกป้องคุ้มครองเด็กและส่งเสริมศักยภาพ EMPOWERMENT สำหรับนักวิชาชีพ  แก่เจ้าหน้าที่ของบ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นบุคลากรผู้ทำหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง ให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยา และเพื่อเสริมพลังให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ให้เปลี่ยนสถานะจากเหยื่อกลายเป็นพยานคนสำคัญ และสามารถเป็นผู้ปกป้องช่วยเหลือเด็กผู้เสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิกรณีอื่น ๆ ในอนาคตได้

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้แทนจากบ้านพักเด็กและครอบครัว สังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน รวม45 คน ซึ่งจัดอบรมระหว่างวันที่ 28 – 30 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน และสถาบันพระประชาบดี จังหวัดปทุมธานี ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ร่วมกันเรียนรู้แลกเปลี่ยน ทักษะ และวิธีปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่เข้ารับบริการในบ้านพักเด็กและครอบครัว ให้เกิดทักษะ และนำไปสู่การคุ้มครองสวัสดิภาพและเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่

ด้านนางทิชา นคร  หนึ่งในคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง และการละเมิด ทางเพศ ต่อเด็ก และเยาวชน และที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า สำหรับผู้หญิงการขึ้นโรงพัก การตก เป็นข่าว การถูกสัมภาษณ์โดยเฉพาะคดีข่มขืน ถือเป็นการกดดันอย่างมาก ถ้าเลี่ยงได้ผู้หญิงจะไม่ใช้วิธีเผชิญหน้า แต่จะยอมทุกข์ทรมานเก็บไว้ไม่กล้าบอกใคร การแก้ปัญหาเชิงระบบโดยเฉพาะกรณีโรงพักที่เป็นมิตรกับผู้เสียหายในคดีทางเพศ ต้องเรียกร้องจนกว่าจะได้คำตอบที่ตอบโจทย์ได้จริงในเชิงโครงสร้าง เช่น ทัศนคติทางเพศ ที่ผู้หญิง ต้องแบกรับ ส่วนผู้ชาย ลอยนวล หรือการยอมรับระบบชายเป็นใหญ่ ทั้งที่เพศชายมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเพศหญิง ขณะที่โครงสร้างทางสังคม ผู้ชายถูกวางบนรากฐานที่เหนือกว่าผู้หญิง ดังนั้นจึงมีความจำเป็น ที่จะต้องวาง โครงสร้าง ขึ้นมาใหม่หรือใช้โครงสร้าง ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดกรณีเด็กหรือเยาวชนถูกละเมิดทางเพศ บ้านพักเด็ก และครอบครัว พม. ต้องเป็นหมุดหมายแรกของการทวงคืนความยุติธรรม มีกระบวนการเยียวยาเหยื่อ รวมถึงกิจกรรม หรือกระบวนการที่ทำให้ ผู้เสียหาย เข้มแข็ง เห็นคุณค่าของตัวเองและลุกขึ้นยืนหยัดอย่างมั่นใจที่จะนำผู้ทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย    เมื่อเด็ก เยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศ บ้าน ชุมชน โรงเรียนอาจจะไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะการถูกแทรกแซง ถูกข่มขู่จากผู้ที่มีอิทธิพลมีอำนาจเหนือกว่า  บ้านพักเด็กและครอบครัว ของ พม. ต้องเป็นที่พึ่งแรกของผู้เสียหาย ไม่ใช่แค่ที่หลบซ่อนหรือหนีร้อนมาพึ่งเย็น เพราะเมื่อคนทำผิดถูกลงโทษตามกฎหมายไม่ว่าเขาคนนั้นจะมีอาชีพใด  ตำแหน่งใด มันคือการคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียหาย ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณทางสังคมอย่างชัดเจนว่า สิทธิในเนื้อตัว  ร่างกาย ชีวิตของเด็กของผู้หญิงนั้นถูกคุ้มครองอย่างเสมอภาค ใครจะละเมิดมิได้

3

นางเอ (นามสมมุติ) มารดาของเด็กผู้เสียหายคดีบ้านเกาะแรด จังหวัดพังงา  กล่าวว่า เมื่อเด็กคนหนึ่งถูกกระทำ  คุณมีทางเลือกแค่สองทางคือลุกขึ้นสู้ทำความจริงให้ปรากฏ ทวงความยุติธรรม หรือยอมแพ้ ปล่อยคนชั่วลอยนวล แล้วเราก็เป็นผู้แพ้ไปตลอดกาล การตัดสินใจในเบื้องแรกก่อนที่จะมีคนมาช่วยเหลือสำคัญมาก  มันต้องอาศัยความเด็ดขาด  หรือเรียกว่ายอมไปตายเอาดาบหน้า  ดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้ให้เขากระทำย่ำยี  เมื่อตัดสินใจชัดเจนแล้วการสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือจึงเกิดขึ้น  กรณีของตนการเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นด่านแรกที่คิดได้และลงมือทำ หลังจากนั้นบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงาก็เป็นจุดเริ่มในลำดับถัดมา  เราต้องอพยพทุกคนในครอบครัวออกมาจากพื้นที่ เอาสิ่งของเท่าที่จำเป็นออกมา  มาตั้งหลักกันที่บ้านพักเด็กและครอบครัว

“เราพยายามทำตัวเองให้ลูกเห็นว่าเรารับไหวนะ เราสู้ได้นะ ไม่เป็นไร สร้างความมั่นใจให้เขา เพื่อที่ลูกก้าวออกมาจากความทุกข์ เพื่อเขาจะได้เปิดเผยความจริง   สิ่งที่ลูกและครอบครัวเราได้เจอกันเยอะมาก ไม่ว่าการถูกเกลียดชังจากชาวบ้าน คนที่ไม่เข้าใจ แล้วก็โดนด่า โดนขู่ นานา แต่ตั้งใจจะต่อสู้เพื่อความยุติธรรม  สัญญากับลูกว่าจะสู้ไปด้วยกัน  แล้วองค์กรต่างๆก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ทั้งมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ และทีมของป้ามล ทิชา ณ นคร ที่เข้ามาทำงานความคิดกับลูกและครอบครัวเรา  ให้เราเข้าใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง  ไม่โทษตัวเอง เราไม่ได้ผิด พวกเขาต่างหากที่ผิดและต้องถูกลงโทษ  ด้วยความจริงที่ลูกจะต้องบอกเล่า  ป้ามลทำให้เราได้เข้าใจเส้นทางเดินในกระบวนการยุติธรรมว่าเราต้องเจออะไรบ้าง  และใครที่จะยืนเคียงข้างเรา จนกระทั่งเรามาอยู่ในความดูแลของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม  ลูกได้บอกความจริงในศาลจนต่อมามีคำพิพากษาทั้งศาลชั้นต้น  ศาลอุทรณ์ ลงโทษผู้กระทำผิดทั้ง 11  คน  และปัจจุบันก็อยู่ระหว่างรอศาลฎีกา ถึงตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า “จากเหยื่อเป็นพยานเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ”  ทำได้จริงๆ และเมื่อเราลุกขึ้นยืนได้ เป็นผู้รอดแล้ว เราก็คิดกันต่อว่า  ครอบครัวเราควรหาโอกาสไปช่วยเหลือเด็กคนอื่น  ครอบครัวอื่นที่เผชิญชะตากรรมแบบเราด้วย”

4


You must be logged in to post a comment Login