วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ม.มหิดล วิจัยนวัตกรรมรากฟันเทียมเซรามิกเพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย

On September 10, 2020

การทำรากฟันเทียม เป็นวิธีการทดแทนฟันที่สูญเสียไป ซึ่งเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี โดยทันตแพทย์จะพิจารณาทำรากฟันเทียมให้เฉพาะผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป หรือหยุดการเจริญเติบโตแล้วเท่านั้น

ในปัจจุบัน “ไทเทเนียม” เป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตรากฟันเทียม  ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดในผู้ที่แพ้โลหะ แต่ปัจจุบันได้พบว่า “เซรามิก” ได้กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนไทเทเนียม โดยให้ความแข็งแรงที่ใกล้เคียงกัน และอาจจะทำให้สวยงามได้ดีกว่า เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีสีคล้ายฟันธรรมชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต ภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำรากฟันเทียมเปิดเผยว่า รากฟันเทียมมีบทบาทมากในการให้การรักษาผู้ป่วยทางทันตกรรม เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยสูญเสียฟันไปแล้ว ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว การพูดคุย การยิ้ม ตลอดจนการใช้งานต่างๆ ก็จะลดลงตามไปด้วยอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งรากฟันเทียมจะช่วยทดแทนฟันที่สูญเสียไป จากเดิมที่ฟันเหลือน้อยซี่ ให้มีฟันเพิ่มขึ้น แน่นขึ้น ใช้เคี้ยวอาหารได้มากขึ้น ทำให้ผู้ที่ไม่มั่นใจในบุคลิกภาพเนื่องจากการสูญเสียฟัน เมื่อได้มาทำรากฟันเทียม จะพบว่ามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อุปสรรคที่พบในผู้ป่วยที่เข้ารับการทำรากฟันเทียมส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความกลัว เพราะว่าในการทำรากฟันเทียม ทันตแพทย์ต้องฝังรากฟันเทียมลงไปในกระดูกที่อยู่ในช่องปากของผู้ป่วย ทำให้บางรายกลัวว่าจะเจ็บ หรือปวดระบมหลังทำ แต่กระบวนการ หรือวิธีการทำรากฟันเทียมปัจจุบันพัฒนาขึ้นจนทำให้แผลที่เกิดขึ้นเล็กมาก และในระหว่างทำก็มีการฉีดยาชา ผู้ป่วยจึงไม่ได้รับความเจ็บปวด นอกจากความกลัวแล้ว อีกอุปสรรคที่สำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ซึ่งขึ้นอยู่กับวัสดุที่ทำ และสถานที่ให้บริการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าวต่อไปว่า ตนทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยลดความผิดพลาดในการฝังรากเทียม โดยเริ่มต้นจากการเอกซเรย์สามมิติ และการพิมพ์ปาก แล้วนำภาพถ่ายรังสีที่ได้ กับแบบจำลองที่ได้จากการพิมพ์ปาก มากำหนดตำแหน่งของรากฟันเทียมที่ถูกต้อง โดยใช้ซอฟต์แวร์เข้าช่วย โดยวิธีการนี้จะทำให้ทันตแพทย์มองเห็นอวัยวะที่สำคัญๆ  เช่น หลอดเลือด หรือเส้นประสาทได้ชัดเจน พร้อมทั้งเลือกขนาดของรากฟันเทียมได้อย่างถูกต้อง และกำหนดตำแหน่งรากฟันเทียมได้มีความแม่นยำเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จากงานวิจัยเราได้ใช้รากฟันเทียมเซรามิกตัวเล็ก ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมกับคนที่มีปริมาณกระดูกน้อย หรือไม่ต้องการเสริมกระดูกในปริมาณมาก โดยผลการวิจัยในเบื้องต้นพบว่า อัตราความสำเร็จของรากฟันเทียมเซรามิก ใกล้เคียงกับรากฟันเทียมที่ทำจากไทเทเนียม และมีความสวยงามเป็นที่พึงพอใจแก่ผู้ป่วย แต่ผลการศึกษาดังกล่าว ยังเป็นการติดตามผลในระยะสั้น คือ ประมาณ 1 ปี จึงยังต้องมีการติดตามผลในระยะยาวต่อไป

คำถามที่พบบ่อยในการรับการรักษาโดยรากฟันเทียมคำถามหนึ่ง คือ รากฟันเทียมไทเทเนียม หรือเซรามิก แบบไหนจะอยู่ในช่องปากได้นานกว่ากัน ซึ่งในที่จริงแล้วรากฟันเทียมจะอยู่ได้นานหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัสดุ แต่ขึ้นอยู่กับการดูแลของผู้ป่วยเป็นสำคัญ จากการศึกษาติดตามผล 30 ปี หลังการรักษาด้วยรากฟันเทียมไทเทเนียมของผู้ป่วย พบว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยดูแลและรักษาความสะอาดได้ดี ผู้ป่วยยังสามารถใช้รากฟันเทียมได้อย่างเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่ถ้าผู้ป่วยทำความสะอาดได้ไม่ดี แม้รากฟันเทียมจะไม่ผุเหมือนฟันธรรมชาติ แต่อาจเกิดโรคเหงือก ทำให้กระดูกรอบๆ รากเทียมถูกทำลาย จนทำให้รากเทียมโยก แล้วหลุดออกได้ ในส่วนของรากฟันเทียมเซรามิกยังคงต้องมีการติดตามผลในระยะยาวต่อไป

ในฐานะของทันตแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยโดยการใช้รากฟันเทียมมากว่า 20 ปี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต มักบอกกับผู้ป่วยอยู่เสมอว่า “ฟันจริง” อย่างไรก็ดีกว่า “รากฟันเทียม” อยากให้ทุกคนมาใส่ใจดูแลรักษาความสะอาดให้ฟันของเราอยู่ในช่องปากได้นานที่สุด ให้รากฟันเทียมเป็น “ฟันชุดสุดท้าย” ในกรณีที่จำเป็นต้องสูญเสียฟันจริงไปแล้วดีกว่า

 

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย  ฐิติรัตน์ เดชพรหม

นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โทร. 0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login