- ตั้งสติให้ดี “โลกนี้ มีเกิด มีตาย”Posted 2 months ago
- อย่าหาเรื่องอยู่ร้อน นอนทุกข์Posted 2 months ago
- โลกธรรมPosted 2 months ago
- อนุโมทนา คนพิการสู้ชีวิตPosted 2 months ago
- สลายความเกลียดชังPosted 2 months ago
- สู้ดีกว่าลาโลกPosted 2 months ago
- ใช้คาถาพระพยอมบ้างPosted 2 months ago
- เสียงชื่นชมดีกว่าเขาด่าPosted 2 months ago
- ต้องใช้ยาแรงกับคนขายชาติPosted 2 months ago
- บทเรียนผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวPosted 2 months ago
ศาสนาคือธรรมนูญชีวิต

คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 11-18 ก.ย. 2563)
ก่อนโลกเราใบนี้จะมีรัฐบาลหรือรัฐสภามาทำหน้าที่ออกกฎหมาย ศาสนาที่มีมาตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ได้ทำหน้าที่ในการจัดระเบียบสังคมให้แก่มนุษย์ในทุกระดับ ศาสนาจึงมีบทบาทไม่ต่างอะไรไปจากกฎหมาย
คำสอนของศาสนามาจากพระเจ้า และพระเจ้าได้เลือกมนุษย์บางคนในชุมชนต่างๆทุกยุคทุกสมัยให้ทำหน้าที่นำศาสนาของพระองค์มายังมนุษย์ ภาษาอาหรับเรียกผู้นำคำสอนของพระเจ้ามายังมนุษย์ในโลกนี้ว่า “นบี” (แปลว่าผู้บอกข่าว)
เนื้อหาสำคัญของศาสนาที่สืบต่อเนื่องกันมาคือ พระเจ้าเป็นอธิปไตยหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในจักรวาล ไม่ใช่แค่ในโลกนี้เท่านั้น คำสอนของพระองค์คือกฎหมายที่มีคำสั่งห้ามและคำสั่งใช้ให้ปฏิบัติ นบีมีหน้าที่อธิบายและปฏิบัติตามคำสอนให้เห็นเป็นแบบอย่าง และเชิญชวนมนุษย์ให้ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาโดยไม่มีอำนาจบังคับ
เนื่องจากสังคมในอดีตไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษากฎหมายที่พระเจ้าประทานมา นบีเองก็ไม่มีอำนาจ พระเจ้าจึงต้องทำหน้าที่รักษากฎหมายของพระองค์เอง
ความผิดอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าถือว่าละเมิดอธิปไตยของพระองค์คือการที่มนุษย์นำสิ่งใดมาเป็นภาคีในการเคารพสักการะร่วมกับพระองค์ และพระเจ้าได้ลงโทษกลุ่มชนที่มีความผิดฉกรรจ์นี้ทั้งหมดด้วยพระองค์เอง เช่น การทำลายผู้คนในเมืองโซดอม กลุ่มชนชาวอ๊าด หรือฟาโรห์แห่งอียิปต์ เป็นต้น
ปัจจุบันการละเมิดกฎหมายในทุกประเทศถือเป็นความผิดที่มีโทษ ในอดีตการละเมิดคำสอนของศาสนาก็มีโทษเหมือนกัน มูลฐานของการลงโทษคือความผิดที่สามัญสำนึกของมนุษย์ไม่สามารถยอมรับได้ เช่น การฆาตกรรม การผิดประเวณี การลักขโมย เป็นต้น ซึ่งกฎหมายสมัยใหม่ก็ถือว่าเป็นความผิดที่ต้องได้รับการลงโทษเช่นกัน
บทลงโทษดังกล่าวเริ่มมีปรากฏให้เห็นในโตราห์ (กฎหมาย) ซึ่งถูกรวมไว้ในคัมภีร์ไบเบิล
หลังสมัยพระเยซู คัมภีร์ไบเบิลได้ถูกนำมาใช้เป็นกฎหมายปกครองคริสตจักรที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม พระสันตะปาปาหรือโป๊ปทำหน้าที่ในการใช้กฎหมายโดยมีบาทหลวงทำหน้าที่ไม่เพียงแต่สั่งสอนหรือให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เหมือนผู้รักษากฎหมายด้วย
คัมภีร์ไบเบิลทำหน้าที่เป็นคำสอนทางศาสนาจรรโลงจิตใจประชาชนและเป็นกฎหมายในคริสตจักรเป็นเวลาหลายร้อยปี
ขณะที่อาณาจักรโรมันแผ่ขยายอาณาเขตมาชนอาณาจักรเปอร์เซียเหนือคาบสมุทรอาหรับนั้น ใน ค.ศ. 610 พระเจ้าได้ประทานคัมภีร์กุรอานให้แก่นบีมุฮัมมัดผู้เป็นชาวอาหรับอีกครั้งเพื่อนำมาใช้เป็นวิถีชีวิตของมนุษย์จนถึงวันสิ้นโลก นบีมุฮัมมัดได้ทำหน้าที่สถาปนาคัมภีร์กุรอานเป็นธรรมนูญในการดำเนินชีวิตของมุสลิมผู้ศรัทธาในพระเจ้าภายในเวลา 23 ปี
ในสมัยที่นบีมุฮัมมัดมีชีวิต เมืองมะดีนะฮฺเป็นนครรัฐตามความหมายของวิชารัฐศาสตร์ที่กล่าวว่ารัฐต้องมีอธิปไตย ธรรมนูญ ดินแดน และประชาชน
ในเวลานั้นแม้นบีมุฮัมมัดมีตำแหน่งเป็นผู้นำของนครรัฐมะดีนะฮฺ แต่ท่านมิใช่อธิปไตย อธิปไตยของรัฐอิสลามคือพระเจ้า นบีมุฮัมมัดเป็นเพียงตัวแทน (เคาะลีฟะฮฺ) ผู้ใช้อำนาจของพระเจ้าบนหน้าแผ่นดิน คัมภีร์กุรอานเป็นรัฐธรรมนูญ ประชาชนผู้ศรัทธาในพระเจ้าและดำเนินชีวิตตามคำสอนของคัมภีร์กุรอานถูกเรียกรวมกันว่า “อุมมะฮฺ” (ประชาคมที่มีวิถีชีวิตเดียวกัน)
หลังสมัยนบีมุฮัมมัดดินแดนของอิสลามได้แผ่ขยายออกไปยังส่วนต่างๆของโลก และมีคนหลายชนชาติสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาปกครองอาณาจักรอิสลาม แต่คัมภีร์กุรอานยังคงเป็นธรรมนูญที่ผู้ปกครองและประชาชนมุสลิมถือเป็นกฎหมายสูงสุดนานกว่าพันปี
ถึงแม้จะมีการผลัดเปลี่ยนผู้นำหรือรัฐบาลของอาณาจักรอิสลามไม่ว่าจะโดยวิธีการสืบทอดอำนาจหรือโดยการโค่นอำนาจ คัมภีร์กุรอานที่นบีมุฮัมมัดนำมาและมุสลิมทั่วโลกถือว่าเป็นธรรมนูญในการดำเนินชีวิตไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขเลยแม้แต่ตัวอักษรเดียวจนกระทั่งทุกวันนี้
You must be logged in to post a comment Login