วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

แพทย์แนะวิธีรักษา ‘โรคเบาหวาน’ นวัตกรรมยา ตรวจสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย

On September 29, 2020

สถานการณ์ผู้ป่วย “โรคเบาหวาน” กำลังเพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย และยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ป่วยโรคนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าคนปกติ

จากผลสำรวจสุขภาพประชาชนปี 2557 พบว่าคนไทย 4.8 ล้านคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ในกลุ่มคนไทยอายุ 60-79 ปี พบว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานถึง 19% ที่น่าตกใจคือเด็กและวัยรุ่นเป็นโรคนี้มากขึ้น โดยผู้ป่วยวัย 15 ปีขึ้นไป พบว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน 8.9% และส่วนมากไม่รู้ตัวมาก่อน

รศ.พญ.นันทกร ทองแตง แพทย์สาขาวิชาต่อมไร้ท่อ และเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคเบาหวานทำให้คนไทยอายุสั้นลงจากการเสียชีวิตก่อนวัย โดยพบผู้มีอายุ 60 ปีป่วยเป็นโรคเบาหวาน อายุจะสั้นลง 6 ปี หากเป็นโรคเบาหวานร่วมกับโรคหลอดเลือดหัวใจอายุจะสั้นลง 12 ปี และการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตาบอด ไตวาย เท้าเป็นแผลเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานสามารถป้องกันได้ ด้วยการปรับพฤติกรรมการกิน หมั่นออกกำลังกาย และลดน้ำหนักตัวลงอย่างน้อย 5-7% ของน้ำหนักตั้งต้น จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานลงได้ 30-50% และควรตรวจคัดกรองโรค โดยผู้อายุ 35 ปีขึ้นไปควรเจาะเลือดตรวจ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีน้ำหนักตัวเกิน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรตรวจให้เร็วกว่าปกติ

รศ.พญ.นันทกร ระบุด้วยว่า สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว มีวิธีการรักษาไม่แตกต่างจากการป้องกัน กล่าวคือ หัวใจสำคัญของการรักษา ได้แก่ การปรับพฤติกรรม ร่วมกับใช้ยารักษาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบันมียารักษาหลายกลุ่มทั้งยากินและยาฉีด เป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งยาฉีดมีทั้งที่เป็นยาฉีดอินซูลินและยาฉีดที่ไม่ใช่อินซูลิน หรือยาฉีดจีแอลพีวัน อะนาล็อก (GLP-1 Analogue) ยาชนิดใหม่ๆ ถูกพัฒนามาเพื่อลดผลข้างเคียงที่อันตราย ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) นอกจากนี้ ยาบางชนิด เช่น ยาฉีดจีแอลพีวัน อะนาล็อก และยากินบางกลุ่ม ยังมีผลช่วยลดน้ำหนักตัวของผู้ป่วยได้ เป็นต้น โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาตามความเหมาะสมและข้อบ่งใช้ของผู้ป่วยแต่ละราย

ยารักษาโรคเบาหวานในปัจจุบันยังมีการพัฒนาให้ผู้ป่วยบริหารยาได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเจ็บตัวน้อยลง เช่น การรวมเม็ดยา จากเดิมที่ต้องกิน 2-3 เม็ดก็รวมเหลือ 1 เม็ด การรวมยาฉีด 2 ชนิดในเข็มเดียว การพัฒนาเข็มและอุปกรณ์การฉีดยาให้เล็กลง เพื่อให้เจ็บน้อยลง และ การพัฒนายาฉีดจากเดิมต้องฉีดทุกวันเป็นฉีดเพียงสัปดาห์ละครั้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย เช่น เครื่องติดตามระดับน้ำตาลของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ (real time) ติดบริเวณท้องหรือต้นแขน โดยเครื่องจะทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลโดยอัตโนมัติ ทุกๆ 5 นาที และแสดงผลให้ทราบทันทีทางหน้าจอ ผู้ป่วยและญาติสามารถทราบระดับน้ำตาลของตนเองโดยไม่ต้องเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว ช่วยป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และช่วยให้แพทย์ปรับยาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชัน หรือเครื่องมือช่วยคำนวณปริมาณคาร์โบไฮเดรตหรือแคลอรี่ในอาหารแต่ละจาน เพื่อควบคุมการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับภาวะของผู้ป่วย รวมถึงอุปกรณ์ติดตามการออกกำลังกาย เช่น เครื่องนับก้าวในการเดิน การเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เป็นต้น

“แม้เทคโนโลยีจะก้าวไกล มียาดีแค่ไหน ก็ต้องควบคุมพฤติกรรมการกินอยู่ไปพร้อมกันด้วย ที่สำคัญ คือ ต้องหมั่นสำรวจตนเองและรีบมาตรวจคัดกรองโรคแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยไปจนโรคเบาหวานลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนไปแล้ว เพราะมันอาจสายเกินไป” รศ.พญ.นันทกรกล่าวทิ้งท้าย


You must be logged in to post a comment Login