- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
สังคมนกปีกหัก
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 16-23 ต.ค. 2563)
นกบินอยู่กลางอากาศได้ด้วยปีกทั้งสองที่ต้องแข็งแรงอย่างสมดุล ถ้านกปีกหักหรือปีกข้างใดเจ็บมันจะไม่สามารถบินได้ และมีแต่จะต้องรอคอยว่าสัตว์ชนิดใดจะเอามันไปเป็นเหยื่อ
ชีวิตมนุษย์ก็ไม่ต่างไปจากนกที่มีสองปีก ปีกหนึ่งคือปีกแห่งสังขาร และอีกปีกหนึ่งคือปีกแห่งวิญญาณ ปีกทั้งสองจะต้องแข็งแรงอย่างสมดุลชีวิตจึงจะสมบูรณ์
นกบินอยู่แค่ในโลกนี้ ตายเมื่อใดชีวิตก็จบ มันไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลกรรมแห่งความดีและความชั่วที่มันไม่รู้จัก ผิดกับมนุษย์ที่มีสติปัญญารู้ดีรู้ชั่ว หลังตายจากโลกนี้ไปวิญญาณที่เป็นชีวิตจริงต้องบินไปรับผิดชอบต่อผลกรรมที่ทำไว้ การฟื้นคืนชีพหลังความตาย การพิพากษา นรกและสวรรค์ เป็นความยุติธรรมที่พระเจ้าจัดเตรียมไว้สำหรับผลงานของแต่ละคนในฐานะที่พระองค์เป็นผู้ทรงยุติธรรม
ศาสนาบอกความจริงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ เหมือนกับเด็กประถมที่ไม่เข้าใจวิชาพีชคณิต
ก่อนโลกมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สังคมมนุษย์เป็นสังคมแห่งการผลิตเพื่อกินเพื่อใช้และแบ่งปัน มนุษย์จึงมีเวลาในการเรียนรู้และปฏิบัติศาสนา คำสอนทางศีลธรรมจึงช่วยจรรโลงสังคมให้สงบสุข ผู้คนพึงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ความกลัวบาปและกลัวการลงโทษในนรกช่วยทำให้มนุษย์ต้องยับยั้งชั่งใจ คิดแล้วคิดอีกก่อนลงมือทำชั่ว อาชญากรรมในสังคมจึงมีน้อย
แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคทุนนิยมที่เครื่องจักรในโรงงานผลิตสินค้าได้จำนวนมาก ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคโดยเร่งให้มนุษย์บริโภคมากขึ้นเพื่อรองรับการผลิต ระบบเศรษฐกิจจึงเป็นการต่อสู้ระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต ซึ่งมักจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของผู้บริโภคที่อดใจไม่ได้ต่อการเย้ายวนของสินค้าและบริการใหม่ๆ
ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2501 แผนพัฒนาฯทุกฉบับเน้นการเจริญเติบโตเพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ หลังจากพัฒนาเศรษฐกิจได้ 4 ทศวรรษ เศรษฐกิจเจริญมั่งคั่งดังแผนที่วางไว้ แต่ต้องแลกด้วยความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและศีลธรรม จนรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯต้องหันมาเน้นการพัฒนาคน แต่ยังไม่ทันไรรัฐธรรมนูญที่ถือว่าดีที่สุดของไทยก็ถูกฉีก
ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ทุกรัฐบาลพูดแต่เรื่องความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงอื่นๆสารพัด โดยไม่มีใครพูดถึงความมั่นคงทางศีลธรรมที่เป็นพื้นฐานของสังคม ถ้าศีลธรรมเสื่อมสลายเมื่อใด สังคมมีอันต้องพังทลายเมื่อนั้น
วิชาหน้าที่พลเมืองและวิชาศีลธรรมที่คนรุ่นก่อนเคยเรียนในโรงเรียนได้ถูกถอดออกไปจากหลักสูตร กระทรวงศึกษาธิการตอบสนองนโยบายพัฒนาประเทศตามแบบตะวันตกด้วยการเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีเข้าไปแทน จนเด็กนักเรียนและเยาวชนใช้เทคโนโลยีเก่งแต่ใช้ชีวิตไม่เป็น และเห็นชีวิตมีค่าน้อยกว่าอุปกรณ์เทคโนโลยีเสียด้วยซ้ำ
วิทยาศาสตร์ไม่สามารถกล่อมเกลาจิตใจคนได้ แต่ศาสนาไม่ได้ปฏิเสธการเรียนวิทยาศาสตร์ ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าผู้บริหารการศึกษาของไทยรู้หรือไม่ว่าศาสนามิได้มีแค่เพียงพิธีกรรมสวดมนต์หรือเป็นเรื่องกิจของสงฆ์เท่านั้น แต่ศาสนาคือคู่มือการใช้ชีวิตเพื่อความสุขความเจริญในโลกนี้และเพื่อความรอดพ้นในโลกหน้า
ถ้าวิทยาศาสตร์ทำให้เด็กเก่ง และศาสนาทำให้เด็กดีมีศีลธรรม หากผู้รับผิดชอบการศึกษาไม่สามารถทำให้เยาวชนมีคุณภาพและคุณธรรมไปพร้อมกัน อนาคตของไทยก็ไม่ต่างไปจากนกปีกหัก
You must be logged in to post a comment Login