วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“ไล่คนเห็นต่างทางการเมือง” ผิดหลัก UNGC

On October 27, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 30 ต.ค. – 6 พ.ย. 63)

เมื่อเร็วๆนี้มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งไล่แพทย์ที่แสดงออกทางการเมืองแตกต่างไปจากความคิดของเจ้าของโรงพยาบาล การกระทำแบบนี้ผิดกฎหมายแรงงาน และที่สำคัญขาด CSR ผิดหลัก UNGC สถานประกอบการอื่นไม่พึงเอาเยี่ยงอย่าง เพราะเท่ากับขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

UNGC หรือยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ค หรือข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ก่อตั้งในปี 2543 เป็นข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันของสหประชาชาติในการสนับสนุนธุรกิจทั่วโลกให้นำนโยบายที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมมาใช้และรายงานการดำเนินงานของวิสาหกิจเหล่านี้ UN Global Compact เป็นกรอบการทำงานแบบอิงหลักการสำหรับธุรกิจ โดยระบุหลัก 10 ประการในด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต วิสาหกิจทั้งใหญ่และเล็กจึงควรเป็นสมาชิกเพื่อแสดงถึงความโปร่งใสน่าเชื่อถือ

องค์กรที่ไม่มีการยึดถือโกลบอลคอมแพ็คแสดงว่าเป็นองค์กรที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน แรงงานสัมพันธ์ การรักษาสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต และไม่อาจสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ย่อมไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์กรคงไม่อยู่ยั้งยืนยงได้

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เคยเป็น Focal Point หรือผู้ประสานงานของ UNGC ในประเทศไทย ชี้ว่าการมี UNGC เป็นการสร้างแบรนด์ของธุรกิจที่มีความสำคัญยิ่ง ทำให้เกิดมูลค่าเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) ที่เกื้อหนุนต่อธุรกิจของเราโดยเฉพาะ สำหรับหลัก 10 ประการของ UNGC ได้แก่ :

ด้านที่ 1 : สิทธิมนุษยชน

หลักข้อที่ 1 : ธุรกิจควรสนับสนุนและเคารพการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดย AREA ได้ปฏิบัติตามปฏิญญาสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด เพื่อนร่วมงาน (ตามมาตรา 1 ของปฏิญญา) “ตระหนักถึงการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยภราดรภาพ” เราต้องส่งเสริมแนวคิดนี้ผ่านกิจกรรม เช่น กิจกรรมการแสดงความเคารพผู้มีวัยวุฒิสูงกว่าโดยไม่คำนึงถึงคุณวุฒิหรือสถานะการทำงาน

ตามมาตรา 2 ของปฏิญญา เราต้องไม่มีการปฏิบัติใดต่อเพื่อนร่วมงานและลูกค้าที่แสดงถึงการแบ่งแยกทางสีผิว เชื้อชาติ เพศ ภาษา ศาสนา การเมือง ความคิดเห็นที่แตกต่าง ชาติหรือวรรณะ และอื่นๆ ทุกคนได้รับการปฏิบัติด้วยสิทธิที่เท่าเทียมกัน และตามมาตรา 18 “ทุกคนมีสิทธิต่อเสรีภาพทางความคิด จิตสำนึก และศาสนา”

หลักข้อที่ 2 : ธุรกิจไม่พึงข้องแวะกับการกระทำที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

ด้านที่ 2 : แรงงาน

หลักข้อที่ 3 : ธุรกิจควรส่งเสริมและตระหนักถึงเสรีภาพในการก่อตั้งสหภาพแรงงานของพนักงาน

หลักข้อที่ 4 : ธุรกิจต้องร่วมขจัดการบังคับใช้แรงงาน

หลักข้อที่ 5 : ธุรกิจต้องร่วมขจัดการใช้แรงงานเด็ก

หลักข้อที่ 6 : ธุรกิจต้องไม่กีดกันการจ้างงานและอาชีพ

ด้านที่ 3 : สิ่งแวดล้อม

หลักข้อที่ 7 : ธุรกิจควรสนับสนุนการดำเนินการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม

หลักข้อที่ 8 : ธุรกิจควรแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆต่อความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม

หลักข้อที่ 9 : ธุรกิจควรส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้านที่ 4 : การไม่ยอมรับการทุจริต

หลักข้อที่ 10 : ธุรกิจควรดำเนินไปโดยปราศจากการฉ้อโกง ทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ รวมทั้งการบังคับ ขูดรีด และการติดสินบน ทั้งนี้ อาจพิจารณาในกรณีภายในวิสาหกิจ และการให้สินบนอันเป็นการทุจริตในวงราชการก็เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง

การปฏิบัติให้ครบถ้วนหรือไม่ละเมิดตามหลักการข้างต้นถือว่าวิสาหกิจนั้นๆมี CSR ดังนั้น CSR จึงไม่ใช่การไปทำบุญเอาหน้า หรือสักแต่ทำทีดูแลสิ่งแวดล้อม หรือเลี่ยงไปทำดีทางอื่นในหน้าฉาก แต่หลังฉากกลับขูดรีด ฉ้อฉล เอาเปรียบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยไม่ละอายและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

โดยที่ความคิดเรื่อง CSR ได้ถูก “จุดพลุ” โดยประเทศตะวันตก จึงทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า CSR อาจเป็นเพียง “ลูกเล่น” หรือเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า เช่นที่ประเทศมหาอำนาจบางประเทศอ้างคำว่า “สิทธิมนุษยชน” ในการรุกรานประเทศอื่น แต่ความจริง CSR เป็น “ของจริง” ที่ยอมรับกันในสากลว่าทำแล้วได้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะวิสาหกิจที่ดำเนินการ และโดยมาตรฐานข้างต้น CSR ก็ไม่ใช่ “ของเล่น” ใหม่สำหรับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบคุณหญิงคุณนายที่ไม่ก่อให้เกิดโภคผลที่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรมากนัก แต่ให้น้ำหนักด้านการ “สร้างภาพ” ให้คนที่ออกหน้าและ “เอาหน้า” ได้ดีเท่านั้น

ที่สำคัญที่สุดไม่ควรเบี่ยงเบน CSR เพราะตามมาตรฐานสากล CSR ขั้นพื้นฐานที่ขาดเสียมิได้ก็คือ ระดับที่กำหนดตามกฎหมาย (Hard Laws) หาไม่ย่อมถือเป็นการละเมิดและเป็นอาชญากรรม นอกจากนี้วิสาหกิจที่มี CSR ยังต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณหรือจริยธรรม ซึ่งถือเป็น “ข้อกฎหมายอย่างอ่อน (Soft Laws) เป็นลำดับที่สอง ส่วนระดับที่ 3 คือระดับอาสาสมัคร เป็นสิ่งมีคุณค่าที่ควรดำเนินการ แต่ต้องดำเนินการตาม Hard Laws and Soft Laws อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อาจสรุปได้ว่า การมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลกนั้นก็คือ การให้วิสาหกิจทั้งหลายมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยไม่ได้เป็นต้นทุนหรือเป็นภาระเพิ่มขึ้น แต่กลับเป็นการลงทุนเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจนั้นๆในการมีหลักประกันที่ดีทั้งต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน คู่ค้า ลูกค้า ผู้บริโภค ชุมชนโดยรอบ สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศโดยรวม ในฐานะสมาชิกที่ดีของประชาคมนั่นเอง

การมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่กีดกันความคิดทางการเมือง ศาสนา จึงเป็นพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของธุรกิจที่มีอารยะ


You must be logged in to post a comment Login