วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เศรษฐีเลี่ยงภาษีที่ดินฯแบบเท่ๆและถูกกฎหมาย

On November 3, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  6-13 พ.ย. 63)

ว่ากันว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น” ดูอย่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ออกมาเมื่อปี 2562 จะเห็นได้ชัดว่ามีช่องโหวในการให้เศรษฐีเลี่ยงภาษีได้โดยง่าย เพียงให้ภาครัฐใช้ประโยชน์ชั่วคราวก็ได้รับการยกเว้นภาษีแล้ว

มาดูในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 162 ง 26 มิถุนายน 2562 หน้า 15 มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ :

ประกาศกระทรวงการคลัง

เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาทรัพย์สินของเอกชน

เฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 (8) แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ทรัพย์สินที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องเป็นทรัพย์สินที่ประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ข้อ 2 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าของทรัพย์สินร่วมกันจัดทำข้อตกลงให้ใช้ทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์เป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย โดยต้องตกลงยินยอมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตลอดทั้งปีภาษี

ข้อ 3 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นติดประกาศความยินยอมให้ใช้ทรัพย์สินเพื่อสาธารณะ ณ ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และในที่ซึ่งทรัพย์สินที่ได้รับการอนุมัติตามประกาศฉบับนี้ตั้งอยู่

ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สมมติเรามีที่ดินเปล่าแปลงหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ดินขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหากอยู่ใจกลางเมืองต้องเสียภาษีมาก แต่เรายังไม่อยากขายออกไป อยากรอให้ลูกหลานโตแล้วค่อยขายหรือให้เช่าทำประโยชน์เพื่อการเก็บกินใดๆก็ตาม ในระหว่างนี้หากเราทำการเกษตรก็เสียภาษีน้อย โดยเฉพาะใน 3 ปีแรกได้รับการยกเว้นภาษี แต่มีลู่ทางหลบเลี่ยงภาษีขั้นเทพแบบเท่ๆด้วยการให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์

วิธีการ “ให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์” ก็เช่น ทำเป็นสนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล ให้เยาวชนในท้องถิ่นได้มาเล่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง เจ้าของที่ดินเพียงให้ใช้ที่ดินในรอบปีภาษีหนึ่งๆเท่านั้น หรืออาจให้สำนักงานเขตใช้เป็นที่จอดรถของทางราชการ เพราะส่วนมากที่จอดรถของทางราชการไม่ค่อยพอจอดอยู่แล้ว หรือทำเป็นสวนพักผ่อน ฯลฯ ก็สามารถทำได้เลย

สมมติว่าเรามีที่ดินแปลงขนาด 6 ไร่ใจกลางเมือง (นึกถึง “สวนชูวิทย์” เป็นตัวอย่าง เราอาจสร้างสวนพักผ่อนหย่อนใจให้คนมาใช้สอยในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนก็ปิดเพื่อแสดงสิทธิของเรา อันนี้ถือว่าได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว เราก็ไม่ต้องเสียภาษีใดๆเลย สมมติกรณีที่ดินของเสี่ยชูวิทย์ ขณะนี้อาจมีราคาตารางวาละ 3 ล้านบาท หรือไร่ละ 1,200 ล้านบาท ที่ดิน 6 ไร่ ก็รวมเป็นเงิน 7,200 ล้านบาท

ถ้าเสี่ยชูวิทย์ต้องเสียภาษีในฐานะที่ดินเปล่าสัก 1% ก็เป็นเงินสูงถึง 72 ล้านบาทเข้าไปแล้ว เสี่ยชูวิทย์จะ “หน้าโง่” เสียภาษีไปทำไม ออกเงินมาทำสวนเพื่อลดทอนกระแสลบของตนเองในช่วง “รื้อบาร์เบียร์” แล้วยังได้บำเพ็ญประโยชน์ ไม่ต้องเสียภาษีอีกต่างหาก ถ้าเสี่ยชูวิทย์ไม่ต้องเสียภาษีสัก 10 ปีๆละ 72 ล้านบาท ก็ประหยัดเงินไปตั้ง 720 ล้านบาทเข้าไปแล้ว

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ สำนักงานเขตคลองเตยอาจมอบโล่ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมได้อีกทางหนึ่ง เพราะตามมาตรฐานกฎหมายที่บิดเบือนเข้าข้างคนรวยๆนั้น การเลี่ยงกฎหมายนี้ถือเป็นการทำดีเพื่อสังคม มาตรฐานความดีในสังคมแห่งการบิดเบือนเป็นเช่นนี้เอง แต่ถ้ามองในแง่ว่าประเทศไทยเป็นเหมือนอารยประเทศ เสี่ยชูวิทย์คงต้องเสียภาษีอานไปเลย ประเทศชาติก็จะได้เงินภาษีมาพัฒนาประเทศอีกมากมาย คนไทยก็จะอยู่ดีกินดีกว่านี้อย่างแน่นอน

แต่ถ้าไม่อยากเสียภาษีก็ต้องนำที่ดินไปพัฒนาหรือขายทิ้งไปเลยเอาเงินเก็บไว้ ถ้าเจ้าของที่ดินว่างเปล่าใจกลางเมืองถูกบีบให้ขาย ราคาที่ดินใจกลางเมืองจะไม่ถีบตัวสูงขึ้นเช่นทุกวันนี้ ประชาชนก็จะสามารถมีบ้านได้ง่ายขึ้น เมืองไม่ต้องขยายออกไปรอบนอกเพราะเจ้าของที่ดินใจกลางเมือง “อม” ที่ดินไว้ไม่ขาย เพราะกฎหมายอนุญาตให้เลี่ยงภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ชอบธรรม และถือเป็นความดีอีกต่างหาก

มาตรฐานความดีในสังคม ตอแหลแลนด์ ก็เป็นเยี่ยงนี้เอง


You must be logged in to post a comment Login