วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“การเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายถึงจุดสิ้นสุด” โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

On November 11, 2020

การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นนิรันดร

สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงนี้ไม่ใช่ข้อถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง

แต่มันเป็นเรื่องของระดับและทิศทางในการเปลี่ยนแปลงมากกว่า

ถ้าเราเชื่อว่าทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องว่าใครต้องการจะควบคุมกระบวนการเปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน และจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงที่เชื่อว่าไปข้างหน้า ก็ยังต้องเพียงว่าจะไปทิศทางไหน แค่ไหน

คนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงจำนวนมากนั้นก็ต้องการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กลับไปสู่อดีต บางคนนั้นต้องการเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ 3-4 ปีก่อน และต้องการให้โลกหยุดหมุนแค่ตรงนั้น

ประเทศไทยไม่เคยเหมือนเดิม แม้การพยายามบอกว่าเหมือนเดิมก็เป็นความพยายามในการฝืนธรรมชาติของมันในระดับหนึ่งอยู่แล้ว

เรื่องที่น่าสนใจที่สุดในวันนี้ของการเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในการเปลี่ยนแปลงในรากฐานที่สุด และถ้าจะพูดให้ปลอดภัยที่สุด เรากำลังพูดถึงการทำความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญ (constitution) ในมิติที่กว้างขวางลึกซึ้งกว่าเดิม

จากเดิมที่เราพูดถึงรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดในการจัดการปกครองประเทศในแง่กฎกติกา เราพูดถึงลำดับศักดิ์ของกฎหมาย ทั้งที่ความจริงเราพบว่าบทบัญญัติกฎหมายหลายข้อนั้นก็อาจมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนั้นเราอาจจะพูดถึงรัฐธรรมนูญในฐานะเอกสารที่ยืนยันหลักการของการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการระบุไว้กับการทำจริงอาจไม่เหมือนกันเท่าไร

หรือเราพูดในแง่การออกแบบการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎกติกาใหม่ เราก็มักจะวนเวียนกับการออกแบบการเลือกตั้ง รัฐสภา องค์กรอิสระ แล้วก็อาจจะเลยไปถึงการประเมินรัฐธรรมนูญว่าเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย

อีกประการหนึ่งในช่วงหลังเรามักจะพบการพูดถึงรัฐธรรมนูญในการจำกัดอำนาจรัฐ หรือที่เรียกว่า constitutionalism โดยเราสนใจเรื่องการตรวจสอบนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐผ่านองค์กรอิสระ และเน้นให้ประชาชนริเริ่มกระบวนการทางกฎหมาย

ไม่เคยมีครั้งไหนที่ประชาชนบนถนนจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยถึงบทบาทของกษัตริย์กับการเมืองและประชาชนมากขนาดนี้ มากกว่าจดหมายคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ที่ขุนนางและเชื้อพระวงศ์ถวายต่อรัชกาลที่ 5 เพื่อขอให้มีคอนสติติวชั่น เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือในการปกครองประเทศท่ามกลางภัยจักรวรรดินิยม หรือแถลงการณ์คณะราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2475 ที่เสนอให้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

ครั้งนี้ไม่ว่าผลของการเปลี่ยนแปลงจะออกมาเป็นอย่างไร เราจะพบว่าเป็นเรื่องการมองรัฐธรรมนูญที่มากไปกว่าเรื่องกลไกเครื่องมือทางกฎหมายที่ออกแบบได้ในรายละเอียด แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติการที่จะถามว่าถ้าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแล้ว เขาจะจัดวางอำนาจสถาบันต่างๆอย่างไร และจะตรวจสอบสถาบันทางการเมืองและสถาบันอื่นๆทางสังคมอย่างไร

ในแง่นี้ผมคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไป แต่ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไปแบบที่ไม่คิดฝันมาก่อน เพราะเรื่องเหล่านี้เคยมีการพูดและผลักดันมาหลายรอบแล้ว แต่ไม่ได้กว้างขวางและลึกร้าวขนาดนี้ในสังคม

แต่ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจไม่ได้หมายถึงจุดสิ้นสุด แต่อาจหมายถึงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เคยทำกันมาในอดีต แต่กว้างขวางลุ่มลึกกว่า

ขณะเดียวกันการตอบโต้การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ดำเนินต่อไป แต่เรายังคาดเดาไม่ได้ว่าแรงสั่นสะเทือนของกระแสการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง และกระแสการกำหนดจังหวะของการเปลี่ยนแปลงนั้น จะส่งผลไปในทิศทางที่ผู้ต้องการการเปลี่ยนแปลงคาดหวังเอาไว้ครับ


You must be logged in to post a comment Login