- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
“เมื่อคนรุ่นใหม่ลุกขึ้น ยอมแม้สิ้นอิสรภาพ เพื่อแลกกับเสรีภาพ” โดย วิญญัติ ชาติมนตรี
หลายทศวรรษที่ผ่านมาการทำรัฐประหารของผู้นำกองทัพในแต่ละครั้งมีทั้งได้รับการยอมรับและสร้างความเกลียดชัง เกิดความแตกแยกของคนในชาติ ประเทศไทยเผชิญเหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองมาหลากหลายรูปแบบ โดยกลไกการโฆษณาชวนเชื่อ และโยนความผิดให้กับนักการเมือง อันเป็นส่วนผสมหลักที่แยกไม่ออกจากการทำรัฐประหารในทุกครั้ง ห้วงวิกฤตของประเทศมีคนบางกลุ่มยังเชื่อว่าการทำรัฐประหารเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะยุติความขัดแย้งได้ ในขณะที่บางกลุ่มมีความเห็นต่างในประเด็นนี้ไม่แพ้กัน แต่นับวันยิ่งหนักขึ้นๆ เหยียดกันรุนแรงถึงขั้นลงไม้ลงมือใช้กำลังทำร้ายถึงขั้นไล่ล่ากัน
ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดทางการเมืองที่สำคัญของประชาชนในประเทศ รูปธรรมของความแตกต่างทางการเมืองแยกชัดเจนขึ้นอีกระดับ ไม่ต้องสาธยายกันมาก ความขัดแย้งครั้งนั้นคนไทยในประเทศถูกแบ่งกลุ่มคนที่เป็นฐานเสียงหรือความเชื่อทางการเมืองแสดงออกมาเป็นฝักเป็นฝ่ายคือ กลุ่มคนเสื้อเหลือง (กลุ่มพันธมิตรฯ) ที่มีภาพลักษณ์ของการคลั่งชาติ กลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) ที่มีอัตลักษณ์ของคนชนบท บางคนนิยามว่า “ไพร่” ที่พวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตยความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นหลักที่เรียกว่า “สองมาตรฐาน”
ผลลัพธ์ของการรัฐประหารมีทั้งความตาย บาดเจ็บ พลัดพรากและไร้มนุษยธรรม สร้างรอยแผลและความทรงจำอันเจ็บปวดที่ดำรงอยู่ในใจของประชาชนส่วนใหญ่ จวบจนมีการทำรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งแม้ผู้นำการทำรัฐประหารจะได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้อำนาจจากเดิมให้ดูแนบเนียนขึ้น แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการโน้มน้าวความคิดของประชาชนส่วนใหญ่ได้ ความพยายามที่ตอกย้ำความหวาดกลัวและเปิดเผยตัวตนชัดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้พลังของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอ่อนล้าหวาดกลัว สังคมปัจจุบันได้สร้างการรับรู้ใหม่เป็นพลังบวก ผนวกกับความกล้าที่จะทะลุทะลวงกลายเป็นความท้าทายใหม่ (new challenge)
ความท้าทายใหม่ที่กล่าวถึงไม่ใช่สิ่งใหม่ หากแต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เช่นเดิมมานานจากการกระทำของผู้มีอำนาจแต่ละฝ่ายเพื่อให้ได้เสวยอำนาจต่อไป โดยที่ไม่ต้องมีความผิดใดๆ ความจงใจที่ไม่ละอายสร้างความไม่เป็นธรรม ไม่มีมาตรฐาน ขาดจิตสำนึกความถูกต้อง ไม่มีการพรรณนาแต่งเรื่องขึ้น เหล่านี้เป็นบทเรียนที่คนในสังคมเรียนรู้ร่วมกัน ส่งสารใหม่ให้เข้าถึงง่ายขึ้น รวดเร็วกว่าเดิม
คนรุ่นเก่าอายุมากมักอ้างว่ามีประสบการณ์ชีวิตสูง พวกเขามองเยาวชน นิสิต นักศึกษา เป็นเด็กที่ถูกล้างสมองหรือชักจูงได้ง่าย แต่นั่นคือโลกทัศน์ที่แคบ ไม่สอดคล้องกับโลกดิจิทัล เทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบสื่อออนไลน์ ที่สามารถทำให้คนรุ่นใหม่และคนที่เปิดใจรับสิ่งใหม่ได้ย้อนกลับไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆในช่วงที่เขายังเด็กหรือถูกบิดเบือนมาตลอด บทบาทของสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงเป็นจดหมายเหตุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นอกตำราเรียน การสื่อสารทางออนไลน์และออฟไลน์นำเสนอเรื่องราวความจริงของผู้คนที่ถูกกดทับด้วยอำนาจลิดรอนความเป็นมนุษย์ ทำให้การรับรู้ประวัติศาสตร์ด้วยจิตสำนึกร่วมที่คนรุ่นใหม่กังวลต่ออนาคตของพวกเขาต่างสะท้อนออกมาเป็นข้อเรียกร้องให้เห็นโดยไม่จำเป็นต้องจัดตั้งใดๆ
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ ความชาญฉลาดของคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จด้วยการใช้เทคโนโลยีโลกดิจิทัลในการเพิ่มช่องทางการสื่อสารอันทรงพลังรวดเร็วและภาษาใหม่ ทำให้ผู้ชุมนุมกล้าพูดในสิ่งที่ไม่เคยมีใครกล้าพูด กล้าคิดใหม่ในสิ่งที่ถูกกำหนดมาแต่ดั้งเดิม สร้างความเข้าใจโครงสร้างทางการเมืองที่เคยเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นมาเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ในเวลาอีกไม่นาน จะใช้เวลากี่ปีไม่อาจกะเกณฑ์ได้ พลังมวลชนของประชาชนที่สะสมความต้องการเปลี่ยนประเทศ และวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ พัฒนาการทางความคิดทางการเมืองจึงไม่เหมือนเดิม กำลังผลัดใบแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และมีพลังชนิดที่คนรุ่นเก่าหรือคนที่มักพร่ำว่าเคยต่อสู้ทางการเมืองไม่อาจคาดเดาได้
การชุมนุมของประชาชนภายใต้การรับรู้ใหม่จึงมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนตรงประเด็น เช่น ไม่เอาเผด็จการ ไม่เอารัฐประหาร หยุดคุกคามประชาชน และต้องการปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งรวมถึงเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม ข้อเรียกร้องเหล่านั้นสะท้อนถึงการรวมตัวของผู้ชุมนุมกันมากขึ้นและแผ่ขยายไปภูมิภาคต่างๆของประเทศ เป็นไปได้ว่าอาจกลายเป็นโมเดลใหม่ให้กับพลเมืองประเทศต่างๆที่ต้องการกำหนดอนาคตของตนเองด้วย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะความขัดแย้งเดิมมาจากการช่วงชิงทางการเมือง เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้และความชัดเจนของการเรียกร้อง ได้กลายมาเป็นการต่อสู้เพื่อการเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์
ความสำเร็จในการสร้างตัวตนทางการเมืองของแกนนำผู้ชุมนุมที่ออกมานำการชุมนุม พวกเขามีความกล้าหาญที่จะเอาอิสรภาพของตนเข้าแลกกับการถูกจับกุมคุมขัง พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ยอมรับชะตากรรมการถูกจำกัดสิทธิทั้งๆที่ไม่ควรถูกกระทำ กลายเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่สร้างความเห็นอกเห็นใจ มีอารมณ์ร่วมจากการถูกกระทำที่ไม่เป็นธรรม พัฒนาเป็นแนวร่วมเครือข่ายประชาชนแพร่กระจายการรับรู้ถึงความยากลำบากของการต่อสู้ของแกนนำ ทำให้เกิดจิตสำนึกต่อยอดสร้างแรงผลักดันในการต่อสู้อย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำก็เกิดการรวมตัวของประชาชนผู้ชุมนุมได้ เป็นรูปแบบการรวมตัวให้ความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันและกัน ไม่จำกัดอยู่เพียงกลุ่มเยาวชน นักศึกษาในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังขยายไปถึงกลุ่มคนในหลายวงการและเยาวชนในต่างประเทศด้วย
วันนี้พลังของเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ภายใต้การรับรู้ใหม่ด้วยความท้าทายใหม่ได้สร้างทั้งความหวาดหวั่น ขนลุกขนพอง ต่อระบอบอำนาจนิยม และสะเทือนต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนที่มีใจเป็นธรรมอย่างชัดเจนแล้ว
หลายทศวรรษที่ชาติไม่อาจหลุดพ้นจากความอัปยศ มันคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ อยากให้จบที่รุ่นของเขา และเมื่อเขาลุกขึ้นสู้ ยอมสิ้นอิสรภาพเพื่อแลกกับเสรีภาพ เมื่อนั้นประเทศไทย…จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
You must be logged in to post a comment Login