- ปีดับคนดังPosted 5 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
“เมื่อคนหนุ่มสาวเปลี่ยนประเทศ! เมื่อฤดูใบไม้ผลิก่อตัวที่กรุงเทพฯ!” โดย สุรชาติ บำรุงสุข
“การปฏิวัติ [อียิปต์] วางแผนบนเฟซบุ๊ค จัดตั้งในทวิตเตอร์ และกระจายเสียงสู่โลกผ่านยูทูบ สำนักข่าวของโลกกลายเป็นลำโพงขนาดใหญ่สำหรับนักข่าวสมัครเล่น และขยายผลของการปฏิวัติออกไปทั่วโลก”
Paul Mason (2012)
หลังจากเกิด “แฟลชม็อบ” ที่ดำเนินการโดยนักเรียน นิสิต และนักศึกษาในการเมืองไทยแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบย้อนอดีตในทศวรรษที่แล้วกับ “กระแสการเมืองใหม่” อันเป็นกระแสการเมืองโลกในขณะนั้นที่ขับเคลื่อนโดย “คนรุ่นใหม่” ด้วยการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 จนนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญของโลกและของตะวันออกกลางคือ ปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” (The Arab Spring) หรือนักวิชาการบางคนอาจจะเรียกว่า “การลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ” (The Arab Uprising) ในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในตูนิเซียซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในปลายปี 2010 และในประเทศอียิปต์ในปี 2011
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสําเร็จที่เกิดขึ้นครั้งนั้นมีนัยสำคัญกับการเมืองโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองในโลกอาหรับ ที่แม้ในบางประเทศอาจจะไม่ประสบความสําเร็จและกลายเป็นสถานการณ์สงครามกลางเมืองสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเช่นในกรณีของลิเบียและซีเรีย แต่ฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับได้กลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในศตวรรษใหม่ และกลายเป็นแรงบันดาลใจในหลายประเทศทั้งในและนอกภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการเป็นแรงบันดาลใจให้แก่การต่อสู้ทางการเมืองในไทยด้วย
แม้การต่อสู้ที่กรุงเทพฯในวันนี้จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่าจะนำไปสู่ “บางกอกสปริง” (The Bangkok Spring) ตามที่นักประชาธิปไตยไทยฝันถึงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เห็นถึงปัจจัยร่วมบางประการ อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าอียิปต์และไทยมีความเหมือนกันทุกอย่าง แต่อยากจะทดลองนำเสนอภาพเชื่อมโยงในมุมมองเปรียบเทียบเพื่อเป็นข้อคิดบางประการ
(1) ภาพสะท้อนจากการประท้วงของนักเรียน นิสิต และนักศึกษาในประเทศไทย ได้บ่งชี้อย่างมีนัยสำคัญว่าการเมืองไทยกำลังก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนสภาวะเช่นนี้อาจนำไปสู่การกำเนิดของ “ภูมิทัศน์การเมืองใหม่” (new political landscape) ซึ่งภูมิทัศน์นี้ทำให้เห็นถึงบทบาทของคนรุ่นใหม่ เครื่องมือทางการเมืองใหม่ ที่มาพร้อมกับพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ในภาพรวมมีความหมายถึงการมาของการเมืองชุดใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “กระแสการเมืองใหม่” ที่แตกต่างจากในอดีตอย่างมาก ผู้ที่เข้าใจและสามารถขับเคลื่อนกระแสเช่นนี้ได้ก่อนย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะจะเป็นผู้กุมทิศทางการเมืองในอนาคต … กระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งในโลกและในไทยกำลังสะท้อนให้เห็นถึงภูมิทัศน์ใหม่ที่กำลังเป็นสัญญาณว่า “ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว!”
(2) ภูมิทัศน์ใหม่นี้เป็นผลมาจากการกำเนิดของปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ เช่น ขีดความสามารถในการรวบรวมและประเมินผลข้อมูลจนนำไปสู่การเกิดของ “big data” ในโลกยุคปัจจุบัน เป็นต้น ประเด็นสำคัญจากการมาของระบบสารสนเทศใหม่ยังมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากรและการเกิดของคนรุ่นใหม่ เช่น Generation X, Y, Z ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรุ่นใหม่จะสามารถใช้สื่อใหม่อย่างเป็นฝ่ายได้เปรียบในการต่อสู้ทางการเมือง จนทำให้การชิงพื้นที่ทางการเมืองของผู้แข่งขันในแบบ “คนรุ่นเก่า” กลายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามสมัยกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
(3) คนรุ่นใหม่เติบโตกับสื่อใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter YouTube และ Lines (อาจรวมถึง Telegram ด้วย) สิ่งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารในชีวิตประจำวันเท่านั้น หากแต่เมื่อคนรุ่นนี้ตัดสินใจที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้ว เทคโนโลยีเช่นนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือของการขับเคลื่อนในการต่อสู้ทางการเมืองที่ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้กับระบอบเผด็จการในโลกอาหรับหรือ “อาหรับสปริง” ซึ่งการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นในตูนิเซียหรือในอียิปต์ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่ดีถึงการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยที่มี “สื่อใหม่” เป็นเครื่องมือ กับ “รัฐเผด็จการ” ในโลกอาหรับ จนมีคำกล่าวเปรียบเทียบว่า การปฏิวัติอียิปต์ในปี 2554 (ค.ศ. 2011) “เริ่มต้นบนหน้า Facebook” ข้อสังเกตเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสื่อใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
(4) หลักการสำคัญของการต่อสู้ในบริบทเช่นนี้ก็คือ สื่อใหม่ทำหน้าที่เป็น “ผู้จุดกระแส” การเมือง และดังที่นักเคลื่อนไหวทุกคนทราบดี ขอเพียงให้กระแสจุดติด ที่เหลือทุกอย่างของการเคลื่อนไหวจะเดินไปสู่จุดสุดท้ายด้วยแรงดันของกระแสดังกล่าว ดังนั้น ในการเปิดการเคลื่อนไหว สิ่งที่ต้องการในเบื้องต้นก็คือต้องทำให้ “กระแสจุดติด” เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนของการต่อต้านรัฐบาล กระแสที่จุดติดเช่นนี้จะทำให้การต่อต้านรัฐบาลขยายตัวและพร้อมที่จะพาคนเป็นจำนวนมากออกมาบนถนน เงื่อนไขเช่นนี้จะเป็นสัญญาณของการหมดความชอบธรรมของรัฐบาลอีกด้วย วันนี้จึงไม่แปลกที่จะเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้ในฮ่องกงและตามมาด้วยกรุงเทพฯ … คนรุ่นใหม่มาพร้อมเครื่องมือใหม่ในการเรียกร้องประชาธิปไตยในบริบททั่วโลก
(5) การนัดชุมนุมในวันที่ 25 มกราคม 2554 ที่จัตุรัสกลางกรุงไคโร ได้อาศัย Facebook เป็นเครื่องมือของการกระจายข่าวการชุมนุม การโพสต์ข้อความชวนคนมาชุมนุมในวันดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างชัดเจนและมีการส่งต่อกันอย่างไม่หยุดยั้ง มีผู้ติดตามข้อความเชิญชวนเข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนหลายพันเข้ามาในแต่ละวินาทีจนกลายเป็น “กระแสโซเชียล” พวกเขายังได้โพสต์เพื่อแชร์ความรู้สึกร่วมกันว่า “พวกเราคือคาเลด ซาอิด” (We are all Khaled Said) เพื่อร่วมอุทิศให้แก่เด็กหนุ่มที่ชื่อซาอิดที่เปิดการประท้วงและถูกตำรวจตีจนเสียชีวิตที่เมืองอเล็กซานเดรีย การเปิดการเคลื่อนไหวผ่านสื่อใหม่เช่นนี้ทำให้เห็นสัญญาณจากหน้าจอ Facebook ว่าผู้ที่จะเข้าร่วมประท้วงรัฐบาลในวันนัดน่าจะมีเป็นจำนวนมาก แต่ใครเล่าจะกล้ามั่นใจว่าเสียงตอบรับในพื้นที่ที่เป็นไซเบอร์นั้นจะเป็นเสียงตอบรับจริงเพียงใด … คำสัญญาในโลกเสมือนจริงจะเป็นจริงเพียงใด
(6) แม้ว่าเสียงตอบรับในโลกโซเชียลอาจจะไม่ใช่คำตอบจริงว่าคนเหล่านั้นจะออกมาร่วมการประท้วงบนถนน แต่หลักประกันที่สำคัญก็คืออารมณ์และความรู้สึกร่วมของผู้คนเป็นจำนวนมากที่ก่อตัวขึ้นในโซเชียลนั้นแสดงออกถึงการตอบรับต่อประเด็นการเรียกร้องที่เกิดขึ้น ดังนั้น การส่งภาพและข้อความจากเหตุการณ์การประท้วงที่เกิดในเวลาจริง (real time) กลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนที่มีความรู้สึกร่วมพร้อมที่จะออกมาร่วมการประท้วง ขณะเดียวกันก็ต้องมีประเด็นร่วมที่ชัดเจน เช่น สำหรับคนจนในระดับล่างในสังคมอียิปต์นั้น พวกเขามีประเด็น 2 เรื่องที่สำคัญคือ ราคาอาหารและพฤติกรรมของตำรวจ ในขณะที่ชนชั้นกลางจะเป็นเรื่องการตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจ และเรื่องสิทธิเสรีภาพ การนำเสนอข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเสรีภาพกับชนชั้นล่างอาจจะไม่มีนัยมากเท่ากับการเปิดประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อประเด็นราคาขนมปัง ราคาน้ำตาลถูกจุดขึ้นมาแล้ว ชนชั้นล่างเป็นจำนวนมากได้ตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลมากขึ้น การปฏิวัติอียิปต์สะท้อนให้เห็นถึงการมีประเด็นร่วมที่ชัดเจนในระหว่างคนต่างชนชั้นที่เข้าร่วมการต่อสู้ และสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดในสังคมอีกด้วย
(7) เนื่องจากการประท้วงในอียิปต์ถูกจับตามองจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างมาก เพราะได้เกิดความสำเร็จของการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในตูนิเซียแล้ว ทุกคนกำลังจับตามองว่าอียิปต์จะเป็นจุดที่สองของ “การลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ” (The Arab Uprisings) ที่จะนำไปสู่การล้มรัฐบาลเผด็จการได้หรือไม่ ในสภาพเช่นนี้ผู้ที่โพสต์ภาพและข้อความในโลกโซเชียลอีกส่วนหนึ่งจึงทำหน้าที่สื่อสารกับโลกภายนอก พวกเขาเปิดการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ เพราะตระหนักดีว่าโลกกำลังเฝ้ามองเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นที่ไคโร ภาพและข้อความเหล่านี้ถูกติดตามอย่างมากจากทั้งสื่อและผู้ติดตามการประท้วงที่อยู่นอกประเทศ ดังนั้น จะเห็นชัดว่าการสื่อสารกับโลกภายนอกเป็นประเด็นสำคัญ เพราะในความเป็นโลกาภิวัตน์ทั่วโลกเองก็ติดตามและเฝ้ามองการเคลื่อนไหวดังกล่าวที่ไกลออกไปเสมือนเป็นเรื่องที่เกิดใกล้ตัว แม้ในความเป็นจริงเรื่องดังกล่าวจะเกิดในอีกภูมิภาคหนึ่งก็ตาม แต่การเชื่อมต่อของโลกาภิวัตน์ทำให้ทุกเหตุการณ์ในเวทีโลกถูกนำเสนอและกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกไปด้วย
(8) การเคลื่อนไหวในครั้งนี้อาศัยสื่อโซเชียลเป็นเครื่องมืออย่างมาก เช่น เหตุการณ์ต่างๆถูกบันทึกโดยโทรศัพท์มือถือ และถูกโพสต์ลงในยูทูบ ไม่ว่าจะเป็นภาพการผลักดันแนวกีดขวางของฝ่ายตำรวจจนแนวของตำรวจปราบจลาจลแตกออก ภาพของผู้ประท้วงท่ามกลางแก๊สน้ำตาและการเผชิญกับเครื่องฉีดน้ำ เป็นต้น ภาพเหล่านี้ถูกส่งเข้ามาในยูทูบอย่างรวดเร็ว แต่ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่มีมาตรการตอบโต้ รัฐบาลอียิปต์พยายามที่จะบล็อกทวิตเตอร์ของผู้ประท้วง แต่พวกเขาก็สามารถแก้การบล็อกเช่นนี้ได้ โดยเฉพาะภาพ “วันแห่งความเดือดดาล” (The Day of Rage) ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2554 นั้น ถูกส่งกระจายลงในยูทูบอย่างกว้างขวาง จนในที่สุดรัฐบาลเผด็จการก็สูญเสียอำนาจการควบคุมทางการเมือง การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นชัยชนะของคนรุ่นใหม่และสื่อใหม่ เช่นเดียวกับการต่อสู้ที่ฮ่องกงและกรุงเทพฯ
(9) การมาของสื่อใหม่เช่นนี้สอดรับกับโครงสร้างประชากรของโลกอาหรับด้วย ประมาณว่าร้อยละ 60 ของประชากรอาหรับมีอายุต่ำกว่า 30 ปี ดังนั้น ภูมิภาคนี้จึงเป็นดัง “โลกของคนหนุ่มสาว” คือเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะการขยายจำนวนเยาวชนและคนรุ่นใหม่อย่างมากจนเป็นเหมือน “การโป่งพอง” (youth bulge) ดังนั้น หนึ่งในปัญหาที่รัฐบาลเผด็จการจะเผชิญก็คือ การว่างงานของคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจ แต่ยังถูกตีความว่าเป็นปัญหาความล้มเหลวทางการเมืองของรัฐบาลอำนาจนิยมอีกด้วย ในอียิปต์พบว่าคนจบปริญญาตรีมีสัดส่วนการตกงานสูงที่สุด หรือในซีเรียบัณฑิตปริญญาตรีใช้เวลาประมาณ 4 ปีเพื่อที่จะได้งาน เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนหนุ่มสาวในโลกอาหรับจะมีอาการทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “political frustration” และพร้อมที่จะเล่นบทเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเผด็จการหรือเป็นพวก “ต่อต้านอำนาจรัฐ” (anti-establishment) และ “ต่อต้านสภาวะเดิม” หรืออีกนัยหนึ่ง คนหนุ่มสาวหรือถ้าจะเรียกว่าเป็นคนรุ่นใหม่เหล่านี้พร้อมที่จะเป็นฐานการเมืองของฝ่ายค้าน (oppositional politics) หรือเป็นฐานหลักของมวลชนในการเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะพวกเขารู้สึกว่าตนเองเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากความล้มเหลวของรัฐบาล และมองว่ารัฐบาลเผด็จการคือความล้มเหลว เท่ากับที่มองว่ารัฐบาลประชาธิปไตยเป็นความหวังในการแก้ปัญหา ส่วนจะแก้ได้มากน้อยเพียงใดก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าในทางจิตวิทยาการเมืองคือ พวกเขาต้องการเปลี่ยนรัฐบาล … พวกเขาต้องการเปลี่ยนผู้นำและรู้สึกอย่างมากว่าพอกันทีกับรัฐบาลเก่า
(10) ดังได้กล่าวแล้วว่าการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในโลกอาหรับมีโซเชียลเป็นเครื่องมือสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากเกิดการลุกขึ้นสู้ในตูนิเซียแล้ว สื่อตะวันตกเรียกการต่อสู้ในครั้งนั้นว่า “การปฏิวัติด้วยทวิตเตอร์” (Twitter Revolution) หรือบางสื่อเรียกว่า “การปฏิวัติด้วยเฟซบุ๊ค” (Facebook Revolution) การเรียกเช่นนี้บ่งบอกถึงบทบาทสำคัญของสื่อใหม่ ซึ่งในการต่อสู้ครั้งนี้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีพื้นที่ใหม่คือ “พื้นที่ไซเบอร์” (cyberspace) และเกิดการสร้าง “ชุมชนการเมือง” ในพื้นที่ดังกล่าว หรือเกิด “ชุมชนต่อต้านรัฐบาล” ขึ้นในพื้นที่สื่อใหม่ เพราะการต่อต้านรัฐบาลทำไม่ได้ในพื้นที่แบบเดิม ซึ่งในกรณีของอาหรับสปริงเห็นได้ชัดว่าโลกโซเชียลมีบทบาทอย่างสำคัญในการระดมคนเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง และการปฏิวัติทางการเมืองในโลกสมัยใหม่ไม่อาจประสบความสำเร็จได้โดยปราศจากเครื่องมือของสื่อใหม่ จนอาจกล่าวได้ว่าสื่อสมัยใหม่กลายเป็นปัจจัยสำคัญของการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในยุคปัจจุบัน เช่นที่เห็นในฮ่องกง และกำลังตอกย้ำอีกครั้งในไทยถ้าชัยชนะทางการเมืองเกิดขึ้นจริงในไทยเรา จนอาจเปรียบของเราว่า “การปฏิวัติด้วยไลน์” (Line Revolution)
(11) การเกิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ต้องการสื่อสารทางการเมืองใหม่ เพราะปัจจัยของประชากรในส่วนนี้มีความแตกต่างจากเดิม ตัวแบบจากการต่อสู้ในอาหรับสปริงชี้ให้เห็นถึงการกำเนิดของ “พื้นที่ใหม่” ที่ต้องคิดถึงการต่อสู้ด้วยแนวทางชุดใหม่ และแน่นอนว่าแนวทางการเมืองแบบเก่าอาจจะไม่ตอบสนองต่อเงื่อนไขของพื้นที่การเมืองใหม่และการสูญเสียพื้นที่ใหม่ ไม่ว่าจะเกิดจากสภาวะ “ตกยุค” หรือขาดความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของโลก ย่อมทำให้เสียฐานคนรุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่งเสียการสนับสนุนจากคนรุ่นเก่าที่อยู่ในพื้นที่ใหม่ หรือกลายเป็นการสื่อสารการเมืองที่ไม่มีผู้รับสารในพื้นที่ใหม่ ซึ่งก็คือการขาดความสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่นั่นเอง
(12) ในเวทีการเมืองปัจจุบันอาจจะต้องยอมรับถึงช่องว่างที่ไม่ใช่ในเรื่องของวัย (generation gap) เท่านั้น แม้ช่องว่างระหว่างวัยจะเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการแข่งขันทางการเมือง แต่ช่องว่างสำคัญในปัจจุบันเป็นปัญหาของผลกระทบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะปัจจัยเช่นนี้ทำให้เกิดทัศนคติ วิถีการใช้ชีวิต ตลอดรวมถึงการให้คุณค่าที่แตกต่างจากเดิม และคงต้องตระหนักว่าคนในพื้นที่ใหม่ต้องการแนวทางในการเข้าถึงที่แตกต่างไปจากเดิม แนวทางเก่าอาจจะไม่ช่วยในการทำงาน ตลอดรวมถึงความเข้าใจในพื้นที่การเมืองใหม่
(13) การทำงานการเมืองในพื้นที่การเมืองเก่าอาจใช้แนวทางเก่าก็ชนะได้ แต่ในพื้นที่ใหม่จำเป็นต้องคิดถึงวิธีใหม่และสาระใหม่เพื่อที่จะสามารถเอาชนะคู่แข่งขันได้ ชุดวิธีคิดและแนวทางการทำงานการเมืองแบบเดิมๆที่เป็น “conventional thinking” ของคนรุ่นก่อนที่เติบโตมากับยุคสงครามเย็นอาจจะไม่ช่วยให้เข้าใจหรือเอาชนะการต่อสู้ในพื้นที่ใหม่ได้เท่าที่ควร การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ผ่านมากำลังชี้ให้เห็นถึงสภาวะเช่นนี้ ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของคนรุ่นใหม่และอิทธิพลของสื่อใหม่ในการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ด้วย จนอาจเรียกสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันได้ว่าเป็นการปะทะระหว่าง “โลกสงครามเย็น vs โลกศตวรรษที่ 21” ในการเมืองไทย
(14) ในอีกส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและสังคมก็คือ คนรุ่นใหม่มีวิถีชีวิตและชุดความคิดที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่าอย่างมาก หากมองพื้นที่ทางการเมืองในเชิงการตลาดเราจะเห็น 2 แบบคือ ตลาดเก่าอาจต้องการการสื่อสารการเมืองแบบเก่า ตลาดใหม่ต้องการการสื่อสารการเมืองใหม่ แต่คนในตลาดใหม่อาจจะเป็นทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าบางส่วน พวกเขามีชีวิตในโลกโซเชียล การดำเนินงานการเมืองในตลาดที่เป็นโลกของสื่อใหม่จึงเป็นเรื่องใหม่ที่สังคมไทยได้เริ่มเห็นมาบ้างแล้ว แต่กระนั้นก็อาจต้องยอมรับว่า “การเมืองในโลกโซเชียล” เป็นปรากฏการณ์ใหม่ และคนรุ่นใหม่สามารถเปิดการเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ได้อย่างเด่นชัด ฉะนั้นการกำเนิดของตลาดใหม่ในปัจจุบัน (หรือใช้ในความหมายของพื้นที่ทางการเมืองใหม่ก็ตาม) จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย การแข่งขันทางการเมืองในอนาคตและตลาด (พื้นที่) นี้มีความสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่และการเติบโตของโลกโซเชียลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะมีนัยกับการต่อสู้ทางการเมืองในอนาคตอย่างมากเช่นกันด้วย ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของแฟลชม็อบในวันนี้ที่เคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนกลายเป็นความได้เปรียบเหนือฝ่ายรัฐ
(15) แม้คนรุ่นใหม่ของไทยที่มาพร้อมกับสื่อใหม่จะยังไม่สามารถสร้างปรากฏการณ์ “ไทยสปริง” จนเกิด “ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง” เช่นที่เกิดเป็น“อาหรับสปริง” ในโลกการเมืองของตะวันออกกลาง แต่พวกเขาก็ทำให้เกิดการเมืองไทยชุดใหม่ที่ “ผู้นำทหารหัวเก่าและผู้นำพลเรือนหัวโบราณ” กำลังถูกท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนอาจต้องสรุปปรากฏการณ์ใหม่นี้ว่าภูมิทัศน์การเมืองใหม่ของไทยกำลังก่อตัวขึ้นอีกครั้งแล้ว และรอเวลาของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทางหนึ่งทางใด แต่จะมองเพียงว่าไม่เกิดผลกระทบที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในทางการเมืองนั้นคงเป็นไปไม่ได้
ฉะนั้นไม่ว่าการต่อสู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนในปี 2020 จะประสบความสําเร็จจนเป็น “ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงเทพฯ” หรือไม่ก็ตาม …
ไม่ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯจะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ก็ตาม แต่ประเทศไทยจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว!
You must be logged in to post a comment Login