- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 7 hours ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 1 day ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 2 days ago
- อย่าไปอินPosted 6 days ago
- ปีดับคนดังPosted 6 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 week ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 1 week ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 1 week ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 2 weeks ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
พาณิชย์ปลื้ม คนแห่ฟังสัมมนาพัฒนาสินค้าท้องถิ่นคึกคักหวังเพิ่มมูลค่าสินค้าไทยสู่เวทีโลก
DITP สุดปลื้ม คนแห่ฟังสัมมนาพัฒนาสินค้าท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม คึกคักกว่า 80 ราย หวังช่วย ผู้ประกอบการไทยเรียนรู้เทคนิคสร้างภาพลักษณ์สินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการจัดแสดงสินค้าโดนใจผู้บริโภค ยกระดับสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อขยายโอกาสโกอินเตอร์สู่ตลาดต่างประเทศตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต”
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) จับมือกับพันธมิตรภายนอก ได้แก่ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (เจโทร กรุงเทพฯ) หอการค้าไทย และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จัดโครงการ “การพัฒนาสินค้าท้องถิ่น สู่ตลาดสากล” (Local Products & Shop Development to GLOBAL) ครั้งที่ 1 เมื่อวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรม Coco View จังหวัดสมุทรสงคราม ประกอบด้วยกิจกรรมสัมมนาโดยวิทยากรชาวญี่ปุ่นและไทยที่มีประสบการณ์คลุกคลีอยู่ในวงการมาอย่างยาวนาน มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังคึกคักกว่า 90 ราย และกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกสำหรับบริษัทที่ได้รับคัดเลือกรวม 30 บริษัท โดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้เกียรติขึ้นกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาในพิธีเปิดโครงการฯ โดยชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการในครั้งนี้มุ่งเน้น “เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย ในการสร้างภาพลักษณ์สินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการจัดแสดงสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความประทับใจในตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งในปีนี้ เรามุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในต่างจังหวัดที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถพัฒนานำเอาอัตลักษณ์สินค้าในท้องถิ่น ให้เป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการผลักดันสินค้าและบริการของผู้ประกอบการท้องถิ่นไทย ให้สามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น”
พร้อมกันนี้ นายสมเด็จยังได้แสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “กระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าไทย ซึ่งให้ความสำคัญในการศึกษาตลาด พฤติกรรม และรสนิยมของผู้บริโภคในต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้และพัฒนาสินค้าไทยให้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์หรือความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงนำมาสู่การสัมมนาในครั้งนี้ที่มุ่งเน้นตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย โดยในปี 2562 การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่น มีมูลค่ากว่า 760,000 ล้านบาท และการส่งออกในเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ปี 2563 มีมูลค่า 517,000 ล้านบาท”
นายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า “จังหวัดสมุทรสงคราม มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดของประเทศอยู่ที่ประมาณ 416.7 ตารางกิโลเมตร และเป็นเมืองเกษตรกรรมและการประมง สำหรับด้านอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ได้แก่ การผลิตน้ำปลา อาหาร การแปรรูปสัตว์น้ำ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อาชีพการประมงในกลุ่มเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชาวสมุทรสงครามได้สูงสุดในจังหวัด ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและมีชายฝั่งทะเลติดอ่าวไทยยาวประมาณ 23 กิโลเมตร ประกอบกับเป็นดินดอนปากแม่น้ำ รองลงมาก็คือ กสิกรรม และการแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างง่าย อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีความหลากหลาย กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดสมุทรสงครามของเรา ที่จะได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์การสร้างแบรนด์ และการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ”
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “หอการค้าไทยฯ มุ่งมั่นที่จะแบ่งปันสิ่งดีดีผลักดันสินค้าไทย ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อน Happy Model (กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี แบ่งปันสิ่งดีดี) ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยการเพิ่มมูลค่าสร้างความเป็น Unique ไม่เหมือนใคร ควบคู่กับคุณภาพที่ดีอยู่แล้ว พร้อมขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต”
“กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง อาทิ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างจังหวัดนครปฐม เป็นจังหวัดเป้าหมายในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะใกล้กรุงเทพ ที่สำคัญเป็นจังหวัดที่โดดเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยวที่มีภูมิทัศน์สวยงาม ติดทะเล มีพื้นที่สวนเกษตรท้องถิ่น ส่งผลให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปด้วย ได้แก่ ผลิตภัณ์จากทะเล ผลไม้ อาหารการกิน ทั้งสดและแปรรูป เป็นจังหวัดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเรื่อยมา ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมานั้น จึงเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ควรได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง นอกจากการจัดกิจกรรมในจังหวัดสมุทรสงครามแล้วยังจะต่อยอดไปในจังหวัดเชียงราย เมืองแห่งศิลปะและเป็นเมืองชายแดนที่มีความคึกคักด้านการค้าขายข้ามพรมแดนช่วงในเดือนมกราคม 2564 อีกด้วย” นายกลินท์กล่าวทิ้งท้าย
นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) กล่าวว่า “การบรรยายพิเศษในวันนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากร บริษัท เจทีบี ประเทศไทย จำกัด (JTB Thailand) ซึ่งจะมาบรรยายเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกรณีศึกษาของเมืองชิเรโทโกะ (Shiretoko) ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดฮอกไกโด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2548 และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำในจังหวัดฮอกไกโด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ชิเรโทโกะได้เผยแพร่ข้อมูลด้วยภาพลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวในท้องถิ่น การริเริ่มนี้ได้รับความสนใจและจับตามองจากทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น ผมคิดว่ากรณีศึกษานี้จะเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ดีสำหรับประเทศไทยซึ่งมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค”
“ในช่วงบ่าย ด้วยความร่วมมือของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ได้เชิญสามบริษัทสมาชิก (บริษัท Siam Toppan Packaging Co., Ltd. ห้างสรรพสินค้า AEON และห้างสรรพสินค้า Siam Takashimaya) มาเป็นวิทยากรในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop) เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการจัดโชว์สินค้าในร้านค้าปลีก”
พร้อมกันนี้ นายอัทสึชิยังได้แสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “ในปีนี้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก โรคระบาดโควิด-19 ทั้งญี่ปุ่นและไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่ “ความปกติรูปแบบใหม่” (New Normal) ในญี่ปุ่นจำนวนคนที่ทำงานจากบ้าน (Work from Home) เพิ่มมากขึ้นและมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าเทรนด์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยเช่นกัน ปัจจุบันการไปมาหาสู่ระหว่างไทยและญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก แต่ผมคิดว่าคนไทยนั้นอยากไปญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นก็อยากมาเมืองไทยเช่นกัน ผมคาดหวังว่างานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในวันนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่าน เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจในอนาคต รวมถึง ติดอาวุธใหม่ๆ เช่น ดิจิทัล เพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าสนใจ สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย อีกครั้งในอนาคต”
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าระหว่างประเทศสอบถามได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สายด่วน 1169 หรือติดตามข้อมูลจาก www.ditp.go.th
You must be logged in to post a comment Login