วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ชาวภูกระดึง 97% ต้องการกระเช้า เสนอนายกฯ 4 ปียังไม่คืบ

On December 1, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 4 – 11 ธ.ค. 63)จ

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 ผมได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯเรื่องสนับสนุนการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง แต่ปรากฏว่าเงียบเป็นเป่าสากทั้งที่รัฐบาลก็เคยสนับสนุน นี่ครบรอบ 4 ปีกว่าแล้ว ผมจึงขอกระทุ้งเพื่อชาติ

การสำรว

การสำรวจนี้ดำเนินการในวันอังคารที่ 1 มีนาคม 2559 ในเขต อ.ภูกระดึง ประกอบด้วยบริเวณเขต ต.ภูกระดึง (แถวตลาด หน้า ธ.ก.ส. บ้านห้วยเดื่อ บ้านนาโก นายาง) ต.ผานกเค้า (หมู่ 2, 3, 7, 8, 9) ต.ศรีฐาน (บ้านทานตะวัน บ้านแสนสุข บ้านนาน้อย บ้านสงป่าเปลือย หมู่ 1, 8, 12) ต.ห้วยส้ม (หมู่ 3, 5, 6, 7) พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ ลูกหาบ แม่ค้า และข้าราชการใน อบต.ภูกระดึง อบต.ผานกเค้า สำนักงานที่ดิน และที่ว่าการอำเภอภูกระดึง รวมทั้งสิ้นประมาณ 500 คน

ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนถึงประมาณ 97% ต้องการให้มีการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับตัวเลข 99% ที่ทางราชการสำรวจ ในจำนวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยซึ่งเป็นคนส่วนน้อยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการบางส่วนที่เข้าใจว่าโครงการนี้จะเป็นการทำลายป่า โดยเฉพาะข้าราชการในส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่ขอออกความเห็น และบางส่วนก็ไม่เห็นด้วย โดยรวมแล้วข้าราชการมีสัดส่วนที่เห็นด้วยถึง 80% อย่างไรก็ตาม จำนวนข้าราชการมีเพียงส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ดังนั้น สัดส่วนโดยรวมของผู้เห็นด้วยกับกระเช้าไฟฟ้าจึงยังสูงมากเกือบ 100% เช่นเดิม

การที่ประชาชนในพื้นที่แทบทั้งหมดต้องการให้มีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้านี้ แสดงถึงมติมหาชนที่พึงเคารพ และเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาของประชาชนที่ผ่านการเรียนรู้มาด้วยตนเองว่ากระเช้าไฟฟ้านี้มีประโยชน์จริง ไม่เฉพาะแก่ประชาชนในพื้นที่ แต่มีประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศที่มาใช้บริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้ให้กับทางราชการในการนำเงินมาอนุรักษ์ธรรมชาติและป่าไม้จนก่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ความต้องการของประชาชนชาวภูกระดึงนี้จึงไม่ใช่การครอบครองทรัพยากรของชาติไปใช้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนถ่ายเดียว

ส่วนประเด็นปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการมีกระเช้านั้นไม่เป็นความจริง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการก่อสร้างกระเช้าที่เป็นเพียงเสาห่างๆและสถานีไม่เป็นปัญหาต่อการทำลายป่า ส่วนการมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่วนมากก็เพียงขึ้นมาชมทัศนียภาพภายในครึ่งวันหรือหนึ่งวัน ไม่ได้ลงไปทำร้ายธรรมชาติ คงมีเพียงส่วนน้อยนิดที่จะลงไปเดินเท้าอีกนับสิบกิโลเมตร ซึ่งต้องมีการควบคุมให้เคร่งครัด หากมีรายได้จากกระเช้าย่อมมีงบประมาณในการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ดูแลได้เพียงพอ และมีเงินพัฒนาป่าไม้ได้อีกด้วย การท่องเที่ยวด้วยกระเช้านี้ถือเป็นการท่องเที่ยวที่แทบไม่ก่อให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อม (Low carbon tourism หรือ carbon neutral tourism)

2.ลูกหาบ ซึ่งมีเพียง 330 คน และส่วนมากก็มีวัยวุฒิแล้ว บางคนเสียชีวิตจากการประกอบอาชีพลูกหาบ ในอนาคตคงไม่มีลูกหาบเหลือเพราะลูกหลานต่างมีการศึกษาสูงขึ้น นี่เป็นเพียงอาชีพเสริม ทำงานเดือนละไม่กี่วัน มีเพียงปีละ 2 เดือนที่มีนักท่องเที่ยวมาก ในเดือนอื่นๆมีนักท่องเที่ยวไม่กี่สิบคนต่อวัน น้อยกว่าจำนวนลูกหาบ ในแต่ละปีภูกระดึงปิด 4 เดือน ลูกหาบต่างก็เคยร่วมทำข้อตกลงสนับสนุนการสร้างกระเช้า ทางราชการก็ยินดีจัดหางานอื่น หากมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นย่อมมีงานทดแทนที่ดีกว่า

3.การผูกขาดในธุรกิจด้านการบริการ กรณีนี้อยู่ที่การจัดการที่ดีและโปร่งใส ตั้งแต่การประมูลผู้ให้บริการในด้านต่างๆ อย่างในกรณีร้านค้าก็ควรมีการแข่งขันประมูลและจัดระเบียบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อร้านค้าที่เสนอบริการที่คุ้มค่าที่สุด และที่สำคัญให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการคือนักท่องเที่ยว

4.เอกลักษณ์ในการท่องเที่ยวภูกระดึงไม่ได้ถูกทำลาย นักท่องเที่ยวที่สนใจเดินขึ้นดังเดิมก็ยังทำได้ ไม่มีใครห้าม แต่การสร้างกระเช้าจะทำให้ผู้สูงวัยหรือผู้ที่ไม่แข็งแรงมีโอกาสที่จะขึ้นไปชมทัศนียภาพบ้าง ลำพังสถานีและเส้นทางกระเช้าที่เปรียบขนาดได้ดังเส้นผมเส้นหนึ่งคงไม่อาจทำลายทัศนียภาพของภูกระดึงได้

5.งบประมาณไม่ได้สูง เพราะใช้เงินเพียง 633 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ในปัจจุบันหากจ้างลูกหาบแบกของขึ้นเที่ยวเดียวจะเสียค่าบริการประมาณ 4,000 บาท ซึ่งสูงมากหากเทียบกับค่ากระเช้าที่ราว 500 บาท ค่ารถทัวร์ กทม.-ภูกระดึง 500 บาท หรือค่าเครื่องบิน กทม.-เลย  800 บาท

6.ขยะ-น้ำเสียจะไม่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันค่าจ้างหาบของขึ้นภูกระดึงคิดเป็นเงินกิโลกรัมละ 30 บาท โอกาสที่ขยะตกค้างเพราะต้นทุนการขนลงมาสูงมาก หากมีกระเช้าย่อมสามารถขนถ่ายขยะได้ง่ายขึ้น ไม่ตกค้างตามรายทางเช่นเดิม และยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดจ้างเจ้าหน้าที่ในการวางแผน ดูแลขยะ-น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อมอื่น ให้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบันได้อีกด้วย

ความวิตกกังวลข้างต้นสามารถจัดการได้ อย่าให้ผู้ใดมาอาศัยข้ออ้างเหล่านี้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ จากการสำรวจยังพบว่าคณะต่อต้านกระเช้าเป็นคนนอกพื้นที่ บ้างก็มาจากภาคอื่น มาปลุกระดมให้ประชาชนสับสน แต่ประชาชนแทบทั้งหมดก็ยังเห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ทั้งนี้ มีข้อพึงพิจารณาดังนี้

1.ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตหรือป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ทันท่วงที หากมีกระเช้าไฟฟ้าก็คงไม่สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเช่นนี้

2.ทุกวันนี้การท่องเที่ยวภูกระดึงมีแต่ถดถอยลง เพราะยังคงลักษณะเดิมๆมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น เช่น ภูทับเบิก ภูป่าเปาะ ฟูจิเมืองเลย คุนหมิงเมืองไทย ต่างมีรถยนต์เข้าถึง ยิ่งกว่านั้นภูกระดึงเป็นเมืองปิด โอกาสเติบโตจึงจำกัด

3.ประชาชนภูกระดึงต่างเฝ้าคอยที่จะได้โครงการกระเช้านี้มานับสิบปีแล้ว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้นด้วย ประชาชนจะได้ลืมตาอ้าปาก ไม่เป็นภาระแก่สังคม เมื่อมีรายได้สูงขึ้นก็จะสามารถจ่ายภาษีจุนเจือสังคม ชาวบ้านบางคนให้สัมภาษณ์ว่าหากเศรษฐกิจยังฝืดเคืองเช่นนี้อาจต้องย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น

ประสบการณ์จากต่างประเทศแสดงชัดว่าโครงการกระเช้าสร้างสรรค์ประโยชน์อย่างแท้จริงดังนี้

1.กระเช้า “Kotor-Cetinju Cable Car” ประเทศมอนเตเนโกร ที่ต่อไปจะเป็นกระเช้าท่องเที่ยวที่ยาวสุดในโลกถึง 14.8 กิโลเมตร (bit.ly/1TlWTjF) จากการศึกษาล่าสุดโดยองค์การสหประชาชาติ มีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR : internal rate of return) อยู่ระหว่าง 8.8-11.7% ซึ่งคุ้มค่ากับการลงทุน

2.กระเช้าลังกาวี ทำให้เกาะนี้มีคนมาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2545 ทั้งนี้ ช่วงห่างของกระเช้าที่ยาวที่สุดยาวถึง 920 เมตร มีค่าโดยสารเพียง 300 บาท ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที กระเช้าและการท่องเที่ยวลังกาวียังถือเป็นการท่องเที่ยวที่สร้างมลภาวะต่ำ (Low carbon tourism)

3.กระเช้าดานัง ที่บริเวณภูเขา Bana Hills ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ไม่ได้สวยงามเยี่ยงภูกระดึง แต่ก็มีกระเช้าให้คนได้ขึ้นเขามองลงมาดูนครดานัง ฮอยอัน และบริเวณใกล้เคียงอื่นๆ ใช้เวลาถึงยอด 15 นาที และเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2556 (แต่ภูกระดึงยังย่ำอยู่กับที่มา 20 ปีแล้ว) เงินลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนี้ก็พอๆกับไทยคือ 650 ล้านบาท (bit.ly/1TQ4JAu) สามารถให้บริการผู้โดยสารได้ชั่วโมงละ 1,500 คน

4.กระเช้าขึ้นเกนติ้ง (Genting Skyway) ระยะทาง 3.38 กิโลเมตร ที่สร้างเสร็จในปี 2540 ในมาเลเซีย คิดค่าโดยสาร 100 บาท

5.กระเช้าสิงคโปร์ ซึ่งเชื่อมระหว่างเนินเขาเตี้ยๆชื่อ Faber กับเกาะเซ็นโตซา เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สมบูรณ์เหมาะที่จะก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่มีอายุยืนยาวเช่นกระเช้าไฟฟ้านี้เพื่อศึกษาเรียนรู้ชื่นชมธรรมชาติโดยไม่แตะต้อง (คงไม่มีใครสร้างกระเช้าขึ้นภูหัวโล้น) การพัฒนาที่ดีจะสร้างรายได้เพื่อนำมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืนและมีคุณภาพยิ่งขึ้น แม้แต่ลูกหาบก็ได้ประโยชน์จากการที่กิจการท่องเที่ยวดีขึ้น ยิ่งกว่านั้นในอนาคตยังสามารถพัฒนาจัดระเบียบการค้าและบริการเพิ่มมูลค่าเช่นเดียวกับในต่างประเทศ ทำให้ทางราชการมีทรัพยากรเพียงพอต่อการส่งเสริมการปลูกป่า และปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า

อนึ่ง หากให้หน่วยราชการเพียงบางหน่วยพิจารณาความเหมาะสมของการก่อสร้างกระเช้าอาจมีอคติและความเบี่ยงเบนจากแนวคิดอนุรักษ์แบบเดิมๆที่ไม่สร้างสรรค์และไม่ยึดโยงประโยชน์ของประชาชน รัฐบาลจึงสมควรรับฟังและเคารพมติของประชาชนแทบทั้งหมดในพื้นที่เป็นสำคัญ รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในมิติอื่นๆประกอบด้วย และที่สำคัญดำเนินโครงการนี้โดยทันทีเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม


You must be logged in to post a comment Login