วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อาจารย์แพทย์ ม.มหิดล เดินหน้า “โครงการ 300 ดวงตาเทียม 300 ดวงใจ” ช่วยเหลือผู้สูญเสียดวงตาสู่ชีวิตใหม่

On December 2, 2020

วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็นวันคนพิการสากล ที่องค์การสหประชาชาติประกาศเพื่อให้ทั่วโลกเข้าใจปัญหาความพิการ และเกิดความตระหนักรู้ถึงสิทธิของคนพิการ

ข้อมูลจาก World report on vision 2019 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานว่า ในจำนวนตัวเลขผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นทั่วโลก 2.2 พันล้านคน มีอย่างน้อย 1 พันล้านคนยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือเข้าถึงการรักษา

ด้วยปณิธานอย่างแรงกล้าที่อยากมอบแสงสว่างให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาจารย์ แพทย์หญิงพิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ จึงได้ตามรอย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุขไทย ที่ทรงทำเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ และมวลมนุษยชาติ โดยได้เลือกศึกษาวิชาแพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา หลังจากศึกษาด้านชีวเคมี ที่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง จนจบการศึกษาแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้างที่ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับประเทศไทยมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ปัจจุบัน อาจารย์ แพทย์หญิงพิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ ได้รับความไว้วางใจจากภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ทำหน้าที่บริหารในฐานะหัวหน้าศูนย์บริการตาเทียม โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพื่อรองรับผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตา หรือตาฝ่อจากสาเหตุต่างๆ อาทิ จากอุบัติเหตุ มะเร็งลูกตา ตลอดจนจากการติดเชื้อต่างๆ เป็นต้น โดยทีมงานของศูนย์ฯ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประดิษฐ์ตาเทียมจาก หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความเชี่ยวชาญในการประดิษฐ์อวัยวะเทียมบนใบหน้า โดยเฉพาะการทำ “ดวงตาเทียม 3 มิติ” ซึ่งมีลักษณะเหมือนดวงตาจริง

อาจารย์ แพทย์หญิงพิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ อธิบายว่า ดวงตาเทียมมี 2 ชนิด คือ ดวงตาเทียมชนิดสำเร็จรูป ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกที่ขึ้นแบบมาจากโรงงาน หาซื้อได้ตามคลินิกโรคตาทั่วไป แต่มีข้อจำกัด คือ อาจไม่พอดีกับเบ้าตาของผู้ป่วย และมีลักษณะและสีที่ไม่ใกล้เคียงกับดวงตาจริงอีกข้างของผู้ป่วย และทำให้เกิดขี้ตาสะสมได้ ไม่เหมือนกับดวงตาเทียมอีกชนิดที่ทำขึ้นเฉพาะบุคคลที่พอดีกับเบ้าตาของผู้ป่วย และดูใกล้เคียงเป็นธรรมชาติกว่าเมื่อเทียบกับดวงตาอีกข้าง

ซึ่งดวงตาเทียมเฉพาะบุคคลที่ศูนย์บริการตาเทียม โรงพยาบาลศิริราช จะทำจากอะคริลิค โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจประเมินจากจักษุแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลศิริราชก่อนนัดพิมพ์ตา ซึ่งในบางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขเบ้าตาก่อน และจะต้องมาพบจักษุแพทย์เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถพิมพ์ตาเทียมได้ ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำดวงตาเทียมจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น ทางศูนย์ฯ จะนัดผู้ป่วยมารับตาเพื่อวัด และปรับขนาดตาเทียมให้พอดีกับเบ้าตา ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำจากพยาบาลของศูนย์ฯ ในการดูแลรักษาดวงตาเทียม ซึ่งควรนำตาเทียมมาถอดล้างเดือนละครั้ง และควรได้รับการขัดเงาโดยผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ฯ ทุก 6 – 12 เดือน

อาจารย์ แพทย์หญิงพิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ กล่าวว่า ในทางกฎหมายผู้ที่สูญเสียดวงตาไป หรือมีตาฝ่อเพียง 1 ข้าง ไม่นับว่าเป็นคนพิการ ถ้ายังมีดวงตาอีกข้างที่ยังมองเห็นได้ปกติอยู่ และยังคงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป ซึ่งการใส่ดวงตาเทียมจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อไป โดยในอนาคต ศูนย์บริการตาเทียม โรงพยาบาลศิริราช มีแผนจะขยายศักยภาพในการประดิษฐ์เบ้าตาเทียมเพื่อรองรับการบริการผู้ป่วยที่สูญเสียเบ้าตาจากมะเร็ง รวมถึงจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการทำตาเทียม และเบ้าตาเทียมของผู้ป่วยให้ได้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุดอีกด้วย

1606880944150

ในประเทศไทยมีศูนย์ทำตาเทียมเฉพาะบุคคลน้อยมาก ไม่ถึง 10 แห่งในสถานพยาบาลของรัฐ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันผู้ป่วยที่สามารถเบิกได้มีเฉพาะข้าราชการที่ใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง แต่สิทธิผู้พิการ หรือ สิทธิ 30 บาทนั้นยังไม่ครอบคลุม โดยจะมีค่าใช้จ่ายตกประมาณข้างละ 5,000 บาท

เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ศูนย์บริการตาเทียม โรงพยาบาลศิริราช ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิไลออนส์ ริเริ่ม “โครงการ 300 ดวงตาเทียม 300 ดวงใจ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการได้รับพิมพ์ตาแล้วกว่า 150 ดวง โดยทางศูนย์ฯ ยังคงรับผู้ป่วยอยู่อย่างต่อเนื่อง และได้เปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคช่วยเหลือ ซึ่งแม้ครบ 300 ดวงแล้ว หากได้รับการสนับสนุนที่มากพออย่างต่อเนื่อง อาจสามารถขยายโครงการต่อไปได้อีก ทั้งนี้ ผู้สนใจบริจาคสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook ของ ศูนย์บริการตาเทียม โรงพยาบาลศิริราช หรือเว็บไซต์ https://sirirajeyeprosthesis.com

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login