- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
บทเรียนจากภัยพิบัติ
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 11-18 ธ.ค. 63)
อุทกภัยที่เกิดจากฝนตกหนักในภาคใต้ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อเร็วๆนี้เป็นเหตุการณ์ที่เราควรจะได้รับบทเรียนและแง่คิดสำหรับการใช้ชีวิต เพื่อเตรียมไว้รับสถานการณ์ภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้นและไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้น แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีกโดยที่มนุษย์ไม่สามารถห้ามปรามหรือยับยั้งมันได้ ทางที่ดีสำหรับมนุษย์คือการคิดหาบทเรียนจากมันเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ เพราะในสิ่งที่เลวร้ายนั้นมิใช่ว่าจะไม่มีสิ่งดีอยู่
หากจะว่าไป โลกนี้มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ก็เพราะการเรียนรู้จากเหตุการณ์ร้ายๆและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต
กว่ามนุษย์จะมีเครื่องบินเป็นพาหนะในอากาศ มีความหายนะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งทำให้มนุษย์นำไปแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์จนทันสมัยและปลอดภัย ถ้ามนุษย์ใช้ปัญญามองความผิดพลาดเป็นบทเรียน มนุษย์ก็ได้ประโยชน์จากมัน ถ้าสติแตกหรือสิ้นหวังท้อแท้กับความผิดพลาด ความเจริญก้าวหน้าก็คงไม่อาจเกิดขึ้น
แต่ภัยพิบัติมิใช่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ มนุษย์จึงไม่อาจแก้ไขหรือป้องกันมิให้ภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างน้อยที่สุดมนุษย์ต้องมองภัยพิบัติให้เป็นบทเรียนแก้ไขและปรับใจตัวเอง
ความเจริญมั่งคั่งและความก้าวหน้าทำให้มนุษย์บางคนโอหัง ภัยพิบัติจึงเกิดขึ้นเพื่อเตือนมนุษย์ให้รู้ถึงความอ่อนแอของตัวเองและยอมรับอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหลายที่สร้างความหายนะให้แก่มนุษย์
ในคัมภีร์กุรอานมีตอนหนึ่งบอกให้มนุษย์รู้ความจริงว่าโลกนี้คือห้องสอบที่พระเจ้าต้องการทดสอบมนุษย์ทุกคนโดยไม่มีการยกเว้น คัมภีร์กุรอานกล่าวว่า “เราจะทดสอบสูเจ้าด้วยบางสิ่งจากความกลัว ความหิว การสูญเสียทรัพย์สิน ชีวิตและพืชผล”
นี่คือเหตุผลที่เมื่อมนุษย์มาอยู่ในโลกนี้แล้วจะต้องถูกทดสอบด้วยการประสบภัยพิบัติและเคราะห์กรรม ไม่ต่างจากนักศึกษาที่กว่าจะได้รับความสำเร็จต้องผ่านการสอบอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อประเมินว่ามีความรู้ถึงมาตรฐานหรือไม่ นักศึกษาจึงต้องมีความรู้จึงจะสอบผ่าน
แต่ในโลกที่เป็นห้องทดสอบมนุษย์ พระเจ้าได้สั่งนบีมุฮัมมัดให้บอกมนุษย์ว่า “จงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนที่เมื่อเคราะห์กรรมเกิดขึ้นกับพวกเขาแล้ว พวกเขากล่าวว่า ‘แท้จริงแล้วเราเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้าและยังพระองค์ที่เราต้องกลับ’”
ข้อความดังกล่าวบอกให้เรารู้ว่าในโลกแห่งการทดสอบ มนุษย์ต้องมี “ความอดทน” และยอมรับความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งชีวิตของมนุษย์เป็นของพระเจ้า ซึ่งพระองค์จะทำอย่างไรก็ได้กับสิ่งที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ เช่นเดียวกับมนุษย์จะทำอย่างไรก็ได้กับสิ่งที่ตัวเองเป็นเจ้าของ
ทรัพย์สินอยู่กับเราชั่วคราว หมดไปก็มีใหม่ได้ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ตัวของเราเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า เมื่อเรากลับไปหาพระองค์แล้ว พระองค์จะไม่ปล่อยให้เรากลับคืนมายังโลกนี้อีก ถ้าใครอยากจะให้พระเจ้าวางตัวเองไว้ในสถานที่อันสวยงามและมีความสุข คนนั้นก็ต้องทำตัวดีมีราคาควรค่าแก่การทะนุถนอม ถ้าใครทำตัวไร้ราคาก็จะถูกพระเจ้าโยนทิ้งลงกองไฟ ไม่ต่างจากเราที่จะไม่เก็บของมีค่าไว้ในตู้โชว์
คัมภีร์กุรอานกล่าวต่อไปว่า คนที่มีท่าทีต่อเคราะห์กรรมและปฏิบัติตัวเช่นนี้คือผู้ได้รับพรอันประเสริฐจากพระเจ้า และคนประเภทนี้เป็นผู้ที่ได้รับการชี้ทางในการดำเนินชีวิต
You must be logged in to post a comment Login