วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ประชากรใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มต่อเนื่อง มลพิษไม่มีจริง

On December 22, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 25 ธ.ค. 63 – ม.ค. 64 )

พวก NGOs มักจะอ้างว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะมีมลพิษสารพัด ทั้งที่หลายต่อหลายคนก็ไปพิสูจน์มาแล้วว่าไม่จริง แต่ก็ยังมีการใช้วาทกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง บางคนกลัวว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในความเป็นจริงประชากรตามบริเวณใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินกลับไม่ได้ลดลงตามอ้าง

ผมในฐานะกรรมการในคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ (Strategic Environmental Assessment) ได้ฟังพวก NGOs และเหล่าผู้ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้วาทกรรมเดิมๆเรื่องมลพิษจากโรงไฟฟ้า ในพื้นที่เหล่านี้มีผู้ไปพิสูจน์กันมามากมายแล้วว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 พื้นที่ไม่ได้ก่อมลพิษดังที่กล่าวอ้าง แต่พวก NGOs ก็ยังพูดในลักษณะ “แผ่นเสียงตกร่อง” อยู่ร่ำไป กลายเป็นวาทกรรมใส่ร้ายไม่รู้จบ

ผมจึงขออนุญาตพิสูจน์ โดยสิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีมลพิษหรือไม่ก็ดูได้จากจำนวนประชากรในพื้นที่ในฐานะที่เป็นประจักษ์หลักฐาน หรือเป็น Hard Facts ที่ชัดเจนที่สุด ถ้าประชากรเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง ก็แสดงว่าไม่มีมลพิษ แต่ถ้าประชากรลดลงก็อาจแสดงว่ามีปัญหาในพื้นที่ เพราะประชาชนคงอยู่ไม่ได้เนื่องจากมลพิษนั่นเอง เรามาดูการเปลี่ยนแปลงประชากรในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง คือที่จังหวัดระยอง และที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ดูว่าข้อมูลประชากรเป็นอย่างไรบ้าง

1
2
3

พื้นที่ที่จะมาพิสูจน์กันมีดังนี้ :

1.ที่จังหวัดระยองมีโรงไฟฟ้าอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ บจก.เก็คโค-วัน โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี ตั้งอยู่ในเขตมาบตาพุดและอำเภอเมืองระยอง มีเขตการปกครองที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ตั้งอยู่ 2 แห่งคือ เทศบาลนครระยอง และเทศบาลเมืองมาบตาพุด

2.ที่จังหวัดลำปางที่มีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ มีเทศบาลตำบลแม่เมาะตั้งอยู่ และยังมีพื้นที่ในตำบลอื่นในอำเภอแม่เมาะตั้งอยู่ด้วยเช่นกัน

แผนที่ตำบลในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง https://bit.ly/3gJYNd8

4
5
Untitled

จากข้อมูลประชากรชี้ให้เห็นว่า ในกรณีจังหวัดระยองพบว่าในเขตเทศบาลเมืองระยองมีประชากร ณ สิ้นปี 2552 อยู่ที่ 59,262 คน แต่ ณ สิ้นปี 2562 มี 63,565 คน หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 0.7% โดยเฉลี่ย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของประชากรทั่วประเทศที่ 0.47% ยิ่งในกรณีเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดที่มีทั้งนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ ก็ปรากฏว่าอัตราเพิ่มของประชากรสูงถึง 3.49% ต่อปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

หากรวมเทศบาลทั้ง 2 แห่งนี้ คือเทศบาลนครระยองและเทศบาลเมืองมาบตาพุดเข้าด้วยกันเพราะอยู่ติดกัน จะพบว่าจำนวนประชากรของทั้ง 2 เทศบาล เพิ่มจาก 109,447 คน ณ สิ้นปี 2552 เป็น 134,279 คน ณ สิ้นปี 2562 หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 2.07% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งจังหวัดระยองที่มีอัตราเพิ่มที่ 1.84% ต่อปี ประชากรไหลบ่าเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่นี้ทั้งที่คนภายนอกเข้าใจผิดว่ามีมลพิษมากมาย

ส่วนที่อำเภอแม่เมาะที่เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้น ปรากฏว่าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจาก 23,303 คน ณ สิ้นปี 2552 เป็น 24,328 คน ณ สิ้นปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.43% ต่อปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แสดงว่าโรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างปัญหาให้กับชุมชนดังที่เข้าใจ ในรายละเอียดของอำเภอแม่เมาะนั้นพบว่ามีเพียงตำบลจางเหนือที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากโรงไฟฟ้าที่สุดที่มีประชากรลดลงปีละ -0.03% หรือแทบจะไม่ลดเลย ทั้งนี้ คงเป็นเพราะเป็นตำบลในถิ่นที่ทุรกันดารกว่าที่อื่น

ส่วนที่ตัวเทศบาลตำบลแม่เมาะนั้น ประชากรลดลงปีละ -0.42% แต่การนี้คงเป็นเพราะเป็นพื้นที่จัดสรรที่ดินขึ้นมาใหม่ โอกาสขยายตัวจึงจำกัด ประชากรจึงไปขยายตัวในตำบลอื่นแทน และในพื้นที่โดยรอบประชากรลดลง โดยในจังหวัดลำปางโดยรวมลดลงปีละ -0.35% ซึ่งก็พอๆกับที่เทศบาลตำบลแม่เมาะ ยิ่งกว่านั้นในจังหวัดโดยรอบคือ อุตรดิตถ์ แพร่ พะเยา ประชากรก็ลดลงปีละ -0.21%, -0.45% และ -0.31% ตามลำดับ มีเพียงเชียงใหม่ที่มีประชากรเพิ่มขึ้นปีละ 0.86% และจังหวัดน่านและเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ประชากรเพิ่มขึ้น การสูญเสียจำนวนประชากรในจังหวัดเล็กๆให้กับจังหวัดหรือเมืองขนาดใหญ่ในภูมิภาคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ จึงไม่อาจสรุปได้ว่ามลพิษจากโรงไฟฟ้าทำให้ประชากรลดลง

การที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นหรือไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันเช่นนี้จึงเป็นประจักษ์หลักฐานที่ชัดเจนว่าโรงไฟฟ้าไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษจนทำให้ประชาชนไม่สามารถอยู่ได้ หรือไม่ประสงค์ที่จะอยู่อย่างปกติสุขในพื้นที่ได้ เราจึงควรสร้างความมั่นให้กับประชาชนในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า ยิ่งในกรณีโรงไฟฟ้ายุคใหม่ที่เน้นถ่านหินบิทูมินัสและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดักจับมลพิษ ประชาชนจึงยิ่งมีความมั่นใจได้มากขึ้น

สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยด่วนเถอะ ประชาชนจะได้ใช้ไฟราคาถูก ประเทศชาติจะได้เจริญ มีโอกาสสร้างจรวดไปดวงจันทร์เสียที!!!


You must be logged in to post a comment Login