- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ศีลไม่ได้อยู่ที่พระ ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัด (2)
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 25 ธ.ค. 63 – ม.ค. 64 )
ผมติดใจคำพูดว่า “ศีลไม่ได้อยู่ที่พระ ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัด” และได้เขียนเน้นถึงเรื่องศีลไปในบทความก่อนหน้านี้แล้ว คราวนี้จะขอเน้นไปถึงเรื่องของ “ธรรม” บ้าง
ธรรมหมายถึงความดีที่ใครทำแล้วเป็นผลดีต่อตัวเองและสังคม ดังนั้น จึงไม่มีศาสนาใดที่ไม่สอนให้มนุษย์ปฏิบัติธรรม คนที่ปฏิบัติธรรมจะแตกต่างไปจากคนที่ไม่ปฏิบัติธรรมอย่างเห็นได้ชัด
ธรรมบางอย่างเป็นสิ่งจำเป็นต้องปฏิบัติสำหรับบุคคลที่เป็นผู้ปกครอง อย่างเช่น ทศพิธราชธรรมเป็นธรรมประจำตัวของพระราชาที่ต้องปฏิบัติเพื่อผลดีในการปกครองและดีต่อพระราชาเอง
เมื่อธรรมใดเป็นผลดีต่อการปกครอง ธรรมนั้นสมควรที่จะต้องได้รับการปฏิบัติโดยผู้ปกครองทุกระดับด้วย
แม้ธรรมจะมาจากคำสอนของศาสนา แต่ธรรมมิใช่พิธีกรรมทางศาสนา ธรรมคือความดีงามที่ปุถุชนทุกเพศทุกวัยต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้ความสวยงามของศาสนาฉายออกมาจากผู้ปฏิบัติธรรม คนเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจหรือพิธีกรรมทางศาสนาเช่นการละหมาด แต่ไม่ปฏิบัติธรรม ในอิสลามถือว่าคนผู้นั้นจะได้รับความวิบัติ
คัมภีร์กุรอานกล่าวว่า “เจ้าเห็นคนที่ปฏิเสธเรื่องการตัดสินในวันฟื้นคืนชีพหลังความตายไหม? คนผู้นั้นคือผู้ขับไล่ไสส่งเด็กกำพร้าและไม่ส่งเสริมการเลี้ยงอาหารแก่คนขัดสน ดังนั้น ความวิบัติจงมีแด่บรรดาผู้ละหมาดที่ไม่ใส่ใจในการละหมาด คนที่โอ้อวด คนที่หวงแหนในการให้ยืมแม้แต่สิ่งเล็กๆน้อยๆ”
การละหมาดซึ่งเป็นการปฏิบัติศาสนกิจที่มีความสำคัญในอิสลามจึงไม่ได้เป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าเท่านั้น แต่การละหมาดจะต้องส่งผลถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์ที่เป็นบ่าวของพระเจ้าในรูปของการปฏิบัติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย
ธรรมจึงไม่ได้อยู่ที่วัดหรือมัสยิดเพื่อให้พระหรืออิหม่ามปฏิบัติเท่านั้น แต่ศาสนิกนอกวัดต้องปฏิบัติธรรมในการดำเนินชีวิตด้วย
อิสลามไม่มีสถาบันนักพรตหรือนักบวช มุสลิมทุกคนต้องไม่ละเมิดศีล (สิ่งต้องห้าม) และต้องปฏิบัติธรรมไปพร้อมกันด้วย การปฏิบัติธรรมในอิสลามคือการปฏิบัติตามคำสั่งที่พระเจ้ากำหนดในชีวิตประจำวัน เช่น การที่สตรีแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิดถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง การชั่งตวงอย่างถูกต้องในการซื้อขายก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง และการปฏิบัติธรรมทุกอย่างล้วนได้รับผลบุญเป็นการตอบแทน
ศีลและธรรมเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการย้ำเตือนเพื่อมิให้มนุษย์หลงลืม ในทางพุทธศาสนาพระสงฆ์จะทำหน้าที่ย้ำเตือนในเรื่องนี้ แต่ในอิสลามไม่มีสถาบันนักพรตหรือนักบวช ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ทางสังคมไว้ในคัมภีร์กุรอานว่า “จงให้มีคนกลุ่มหนึ่งในหมู่สูเจ้าทำการเรียกร้องเชิญชวนสู่ความดีและยับยั้งกันในเรื่องความชั่วช้าลามก คนเหล่านี้แหละคือผู้ประสบความสำเร็จ”
อันที่จริงแล้วการถือศีลและการปฏิบัติธรรมคือศิลปะการใช้ชีวิตที่จะทำให้มนุษย์มีความสุขมีความเจริญในโลกนี้และได้รับความรอดพ้นในโลกหน้าด้วย น่าเสียดายที่เด็กรุ่นใหม่ถูกสั่งสอนให้รู้จักวิธีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยแต่ไม่รู้จักวิธีการใช้ชีวิต สังคมจึงได้วิปริตอย่างที่เห็นกัน
You must be logged in to post a comment Login