- ปีดับคนดังPosted 3 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
“ธุรกิจสุขภาพในไทย” โดย เกรียงศักดิ์ โยธาประเสริฐ
โรคระบาดโควิดได้เผยทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของระบบเศรษฐกิจไทย ในด้านจุดอ่อน ที่ผ่านมาเราพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยว ครั้งหนึ่งเรามีวลีว่า export led growth คือให้การส่งออกนำมาซึ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจ และเราก็ทำได้ค่อนข้างดี รายได้ส่งออกของเราปัจจุบันอยู่ที่ 60-70% ของรายได้ประชาชาติ จากปี 2503 ที่มีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 16 สำหรับการท่องเที่ยว เราได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวมาเป็นเวลานาน รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตลอด ในปี 2562 เรามีรายได้จากการส่งออกราว 9,700 พันล้านบาท มีรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 1 ใน 5 ของรายได้ส่งออก ความสำเร็จดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่พร้อมของเพื่อนบ้านอันเนื่องมาจากการเมืองและสงคราม ทั้งเวียดนาม พม่า และจีน ปัจจุบันเราดีใจเมื่อผลการส่งออกข้าวกลับมาเป็นที่หนึ่ง โดยชนะเวียดนามและอินเดีย ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่จำเป็นต้องดีใจเลย เพราะผูกขาดอันดับหนึ่งมาตลอด
เมื่อเกิดโควิดระบาด นอกจากเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ การส่งออกก็ถดถอย ปี 2562 เรามีนักท่องเที่ยวเกือบ 39.79 ล้านคน เมื่อเกิดโควิดปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงน่าใจหาย ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ปี 2563 นักท่องเที่ยวเข้ามาเพียงเดือนละ 1,000-3,000 คน จากยอดเดือนละ 3 ล้านกว่าคนในปี 2562 เมื่อมองไปในอนาคตเพื่อนบ้านก็ดีวันดีคืน เวียดนาม พม่า ลาว เขมร ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่ดึงดูดการท่องเที่ยวเช่นกัน ประเทศที่ร่ำรวย เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็หันมาส่งเสริมการท่องเที่ยวแข่ง และในอนาคตอันใกล้ก็คงเป็นจีน เพราะแรงขับเคลื่อนอื่นเบาลง แต่อีกด้านหนึ่งโควิดทำให้เห็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมและธุรกิจสุขภาพของไทย ซึ่งจะเป็นที่มาของรายได้ทดแทนการส่งออกและท่องเที่ยว โดยเราอาจแบ่งธุรกิจสุขภาพไทยตามจุดเด่นได้ดังนี้
1.ธุรกิจด้านผ่าตัดแปลงเพศ ในด้านนี้อาจกล่าวได้ว่าเราอยู่อันดับหนึ่งของประเทศที่ชาวต่างชาติเดินทางมาผ่าตัดเป็นเวลานับสิบปี หมอไทยที่มีชื่อเสียงก็มีนิตยสารต่างประเทศมาขอสัมภาษณ์มากมาย ยิ่งกระแสการยอมรับในความหลากหลายทางเพศมากขึ้นธุรกิจนี้ก็จะยิ่งสูงขึ้น
2.ธุรกิจศัลยกรรมความงาม เราอยู่ในระดับชั้นนำของโลกเช่นกัน ประเทศที่ทำศัลยกรรมความงามมากที่สุดคือสหรัฐ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะมีพลเมืองกว่า 300 ล้านคน ซ้ำยังมีฐานะดี ธุรกิจนี้จึงรุ่งเรืองในสหรัฐ ถ้าชาวอเมริกันต้องไปทำศัลยกรรมที่ต่างประเทศ จากการสำรวจของเว็บ bookimed ในปี 2562 พบว่าประเทศที่ชาวอเมริกันเลือก 5 อันดับแรก ได้แก่ เม็กซิโก ตุรกี ไทย เกาหลีใต้ และอินเดีย ในกรณีของเม็กซิโกแน่นอนว่าเพราะใกล้ ส่วนไทยเหตุผลที่นอกเหนือจากราคาและผลงานที่ประเทศอื่นไม่ได้รับการกล่าวถึงเป็นจุดที่จะมาท่องเที่ยวต่อไป ในส่วนนี้กล่าวเฉพาะชาวอเมริกัน แต่ถ้าเป็นคนที่จะเดินทางไปทำศัลยกรรมความงามทั่วโลก ไทยเป็นจุดหมายอันดับหนึ่ง ไม่ใช่เม็กซิโกหรือเกาหลีใต้ (ที่มา International Society of Aesthetic Plastic Surgery /เว็บ RYT9) กระแสเห่อหรือคิดจะไปทำศัลยกรรมความงามที่เกาหลีใต้ของคนไทยจึงเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะของดีราคาถูกมีอยู่ที่บ้านเราเอง
3.ธุรกิจรักษาพยาบาลและดูแลผู้สูงอายุ ลำพังธุรกิจรักษาพยาบาลของไทยถือว่าดีอยู่แล้ว โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลในไทยจำนวนมาก ส่วนการดูแลผู้สูงอายุเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต เพราะประเทศต่างๆทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่ค่อนข้างเจริญต่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ชีวิตหลังเกษียณจึงต้องบริหารให้ดีทั้งสุขภาพร่างกายและฐานะการเงิน บางประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทย เช่น สิงคโปร์ มีค่าครองชีพสูงกว่าไทย 3 เท่า
4.ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เมื่อดูจากรายชื่อประเทศที่ศึกษาพัฒนายาและวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ องค์การอนามัยโลก ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน นักลงทุนและรัฐบาลต้องหันไปส่งเสริมด้านนี้ ที่ผ่านมาไทยทุ่มเทอุตสาหกรรมด้านนี้น้อย มุ่งไปเรื่องส่งออกผลผลิตและโรงแรมเป็นส่วนใหญ่ นายทุนใหญ่ที่มีชื่อติดเศรษฐีระดับโลกจะต้องต่อยอดมาที่อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ อย่างไรก็ดี การส่งเสริมนั้นจะต้องไม่กีดกันการแข่งขันและเปิดโอกาสให้รายย่อยทำมาหากินอย่างเท่าเทียม
แนวโน้มในอนาคตและปัญหา โรคระบาดโควิดทำให้เกิดวิธีป้องกันที่เรียกว่ารักษาระยะห่าง (social distancing) ทำให้การไปมาหาสู่กันน้อยลงมาก ผู้ป่วยโรคทั่วไปก็ไม่อยากไปโรงพยาบาล จึงเชื่อกันว่าโลกเข้าสู่ยุค digital medicine การวิเคราะห์ การรักษาโรค การจ่ายยา มาทำกันผ่านช่องทางออนไลน์ ในลักษณะนี้อาจเป็นจุดอ่อนของไทย โดยเฉพาะภาครัฐที่การบริหารจัดการเต็มไปด้วยการขัดแย้ง เลือกพวก และแย่งผลประโยชน์ และบรรดาทุนใหญ่ไทยก็มักหาความร่ำรวยผ่านช่องทางเข้าหารัฐให้ออกกฎหมายกีดกัน ซึ่งช่วยได้เฉพาะในประเทศ โดยไม่คิดพัฒนาวิทยาการซึ่งต้องแข่งกับประเทศอื่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เจ้าของธุรกิจโรงแรมไทยเป็นเศรษฐีระดับโลกมากว่า 10 ปี มีเงินมหาศาล แต่ไม่เข้าหาเทคโนโลยี บริษัทแพลตฟอร์มธุรกิจจองที่พักที่มีมาร่วม 20 ปี ล้วนเป็นบริษัทต่างชาติ
สำหรับความเห็นของผู้ประกอบการหรือแพทย์ที่เกี่ยวข้อง นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ ผู้บริหารสถาบันธีรพรการแพทย์และอดีตนายกศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ธุรกิจสุขภาพจะเป็นแหล่งรายได้ให้ประเทศ เพราะวิทยาการที่ก้าวหน้าทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น นอกจากจะดูแลสุขภาพรักษาร่างกายแล้วก็จำเป็นต้องดูแลหน้าตาบุคลิกให้ดีด้วย ซึ่งต่างชาติจะมาใช้บริการในเมืองไทยมากขึ้น เนื่องจากมีหมอเก่ง นิสัยต้อนรับคนต่างชาติดี ราคาไม่แพง อยากให้รัฐมองเรื่องนี้เป็นแหล่งรายได้เข้าประเทศด้วย ระเบียบปฏิบัติต่างๆขอให้เป็นไปในทางส่งเสริมธุรกิจด้วย
อีกท่านหนึ่งคือ นพ.พงษสันติ์ ลี้สัมพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพ โรงพยาบาลหัวเฉียว ให้ความเห็นว่า ธุรกิจที่จะเติบโตไปด้วยคือ การประกันสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันทำได้จนถึงอายุ 70 ปี ทำให้เกิดความมั่นใจทางการเงินเมื่อต้องรักษาพยาบาล อีกด้านหนึ่งคือธุรกิจการชะลอวัย (anti aging) และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุทั้งที่ช่วยตัวเองได้และไม่ได้ ซึ่งพัฒนาเป็นรีสอร์ตก็มี
You must be logged in to post a comment Login