วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ภัยร้ายที่มากับโรคอ้วน

On March 19, 2021

คอลัมน์ : เปิดโลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นพ. จีรวัส ศิลาสุวรรณ แพทย์อายุรกรรมโรคระบบทางเดินอาหารและตับ

รพ. พญาไท2

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 19-26 มี.ค. 64 )

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะคนเมือง นิยมกินอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง อีกทั้งยังใช้เวลาทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หลายชั่วโมงต่อวัน ขยับตัวน้อย ทำงานหนัก นอนดึก และไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย หลายคนจึงมีปัญหาสุขภาพรุมเร้าตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งรวมถึงการมีน้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ปัญหาเหล่านี้อาจสะสมจนก่อให้เกิดโรคเรื้อรังในระยะยาวได้ ตัวอย่างโรคที่สัมพันธ์กับความอ้วน เช่น

ข้อต่อและกล้ามเนื้อบาดเจ็บ

ข้อต่อและกล้ามเนื้อของผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติจะต้องรับน้ำหนักมากอยู่ตลอดเวลาจึงเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่าย

ไตทำงานหนัก

คนอ้วนมักกินอาหารเยอะเป็นพิเศษ ไตจึงต้องทำงานหนักเพื่อกำจัดของเสียต่างๆ นอกจากนี้คนอ้วนยังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้ต้องกินยาเป็นประจำ ซึ่งยาเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบต่อไตได้

โรคเบาหวาน

การออกกำลังกายน้อยประกอบกับกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันมากเกินไป อาจก่อให้เกิดโรคอ้วนและเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานได้ เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตและไขมันจะถูกเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาล ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

โรคความดันโลหิตสูง

อันที่จริงไม่ว่าจะอ้วนหรือผอมก็สามารถเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ แต่ถ้ายิ่งชอบกินอาหารหวาน มัน เค็มเป็นประจำ และมีภาวะอ้วนร่วมด้วยก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น

โรคไขมันในเลือดสูง

หากร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ อาจส่งผลให้หลอดเลือดแข็ง ตีบ อุดตัน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากการกินอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและคอเรสเตอรอล

โรคนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากการสะสมของไขมันและคอเรสเตอรอล ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีความเสี่ยง เนื่องจากอัตราการเผาผลาญลดลงตามวัย เราจึงควรเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์และดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยลดการเกิดตะกอนที่ทำให้เกิดนิ่ว

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ภาวะนี้พบมากในคนอ้วนและผู้ที่มีโรคประจำตัวแทรกซ้อน เป็นการนอนหลับแบบไม่ปกติซึ่งมีผลทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนเรื้อรัง รวมถึงเกิดการหลั่งสารที่มีผลต่อการบีบตัวของหลอดเลือด ส่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

โรคมะเร็ง

ความอ้วนเป็นปัจจัยเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่

ลดโอกาสเสี่ยงด้วยการหลีกเลี่ยงความอ้วน

คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถประเมินภาวะอ้วนลงพุงได้ง่ายๆ ด้วยการวัดเส้นรอบเอวบริเวณจุดที่ผ่านสะดือ (หน่วยเป็นเซนติเมตร) แล้วนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับส่วนสูง (หน่วยเป็นเซนติเมตร) หาร 2 หากตัวเลขของเส้นรอบเอวมากกว่าส่วนสูงหาร 2 นั่นแสดงว่าคุณอาจกำลังมีภาวะอ้วนลงพุง หรือใช้วิธีคำนวณดัชนีมวลกาย (BMI) ด้วยการนำน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง สำหรับคนเอเชียค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 18.5-22.9 หากอยู่ระหว่าง 23.00-24.9 จัดว่าเป็นคนท้วมหรือเริ่มอ้วนในระดับหนึ่ง และหากเกิน 25 ขึ้นไปถือว่าเป็นคนอ้วน

สาเหตุของโรคอ้วนโดยมากเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม แต่ก็มีบางกรณีที่เกิดจากพันธุกรรมหรือความผิดปกติบางประการ เช่น การเป็นโรคไทรอยด์ ซึ่งทำให้ระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติ

แนวทางในการลดความอ้วนที่ปลอดภัยและส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยที่สุด คือการกินอาหารให้ครบห้าหมู่ในปริมาณพอดี หลีกเลี่ยงของมัน ของทอด ของหวาน และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ในกรณีที่ควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้ว แต่ยังคงอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจมีความผิดปกติบางอย่างแฝงอยู่ในร่างกาย

Gastric Balloon ทางเลือกในการลดน้ำหนักอย่างปลอดภัยและได้ผล

Gastric Balloon คือการใส่บอลลูนที่บรรจุสารน้ำเข้าไปในกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก โดยบอลลูนจะเข้าไปลดความจุของกระเพาะอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลงและอิ่มนานกว่าเดิม ร่างกายจึงนำไขมันส่วนเกินออกมาใช้เป็นพลังงานแทน ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงในที่สุด การทำ Gastric Balloon เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 27 ประกอบกับลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล และมีน้ำหนักเกินจนเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

นอกจากเหตุผลเรื่องความมั่นใจในรูปร่างและบุคลิกภาพที่ดีแล้ว การลดน้ำหนักอย่างถูกวิธียังช่วยชะลอความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่มีผลมาจากความอ้วน เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน หัวใจ และสมองตีบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ

ขั้นตอนการทำ Gastric Balloon

บอลลูนจะถูกใส่เข้าไปในกระเพาะอาหารทางช่องปากด้วยเทคนิคการส่องกล้อง จึงไม่ทำให้เกิดรอยแผลผ่าตัดตามร่างกาย ตัวบอลลูนทำจากซิลิโคนซึ่งเป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหาร ภายในบอลลูนจะบรรจุสารน้ำเอาไว้ประมาณ 400-500 ซีซี เมื่อลดน้ำหนักได้ถึงจุดที่พึงพอใจแล้ว สามารถเอาน้ำที่อยู่ในบอลลูนออกได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะใส่บอลลูนไว้ประมาณ 6-12 เดือน

หลังจากใส่บอลลูนเรียบร้อยแล้ว คนไข้อาจต้องนอนโรงพยาบาลหนึ่งคืนเพื่อติดตามอาการ จากนั้นแพทย์จะนัดคนไข้มาตรวจร่างกายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัว การออกกำลังกาย และการเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้การลดน้ำหนักได้ผลดียิ่งขึ้น

ในช่วง 2-5 วันแรกหลังการใส่บอลลูน ผู้ป่วยอาจมีอาการพะอืดพะอมคลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายตัว ปวดท้องแบบหดเกร็ง หรือเจ็บช่องท้อง เนื่องจากร่างกายกำลังปรับสภาพ ซึ่งจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลียได้ จึงควรวางแผนหยุดงานล่วงหน้าและเตรียมใจรับมือกับอาการเหล่านี้เอาไว้ด้วย หากผ่านไป 1-2 สัปดาห์แต่ยังรู้สึกไม่สบายตัว สามารถกลับมาปรึกษาแพทย์เพื่อลดปริมาณของเหลวในบอลลูนได้

หลังการใส่บอลลูน 3-4 สัปดาห์ คนไข้จะสามารถค่อยๆ กลับมารับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ต้องเคี้ยวให้ละเอียดและรับประทานอย่างช้าๆ ในปริมาณแต่ละครั้งที่ไม่มากนัก สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มออกกำลังกายและทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้เป็นปกติ ขอแนะนำให้ออกกำลัง 150-200 นาทีต่อสัปดาห์ โดยแบ่งเป็น 3-4 ครั้ง ครั้งละ 45-50 นาที

นอกจากนี้ บอลลูนยังอาจก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีเลือดออก ทางเดินอาหารอุดตันหรือทะลุ แต่อาการเหล่านี้มีโอกาสพบน้อยมากไม่ถึง 1%

ข้อดีของการทำ Gastric Balloon

  • เป็นวิธีลดน้ำหนักที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลข้างเคียงน้อย เมื่อเทียบกับการผ่าตัดลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นๆ
  • ไม่ต้องผ่าตัดจึงไม่มีแผลเป็นตามร่างกาย
  • สามารถเพิ่มหรือลดขนาดบอลลูนได้ตามต้องการ
  • อาจทำซ้ำได้หากน้ำหนักกลับมาเพิ่มขึ้นหลังนำบอลลูนออก
  • เฉลี่ยแล้วทำให้น้ำหนักลดลงประมาณ 24 กิโลกรัมต่อปี

ข้อควรปฏิบัติหลังการใส่บอลลูน

  • ช่วงแรกไม่ควรดื่มของเหลวมากจนเกินไป สามารถดื่มน้ำครึ่งแก้วได้ทุกๆ 1-2 ชั่วโมงหลังใส่บอลลูน
  • ให้ความร่วมมือในการมาตรวจติดตามอาการอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์นัดหมาย
  • รับประทานยากันแผลในกระเพาะ (PPI) ทุกวันเป็นเวลาหนึ่งปีแม้จะไม่มีอาการก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะและยืดอายุของบอลลูน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดแบบไม่ใช่เสตียรอยด์และการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นแผลในกระเพาะ
  • การเรอสามารถพบได้เป็นปกติ มักเกิดจากการกลืนเอาอากาศเข้าไป เนื่องจากผู้ป่วยกลืนน้ำลายเพื่อแก้อาการไม่สบายท้อง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการรับประทานอาหารมากเกินไป และ/หรือการทนต่อบอลลูนไม่ได้
  • ผู้ป่วยบางรายอาจนอนหลับได้ดีกว่าหากตะแคงเอาด้านซ้ายลง
  • หากรู้สึกถึงความผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ทันที
  • เมื่อครบกำหนดนำบอลลูนออกแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและพยายามรักษาน้ำหนักให้คงที่ไม่เพิ่มขึ้นอีก

หลักการรับประทานอาหารหลังใส่บอลลูน

  • ภายในสองอาทิตย์แรกไม่ควรรับประทานทานอาหารหนัก ควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
  • เลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมตามแนวทางที่นักกำหนดอาหารหรือนักโภชนาการแนะนำ
  • ค่อยๆ เพิ่มอาหารใหม่ทุกวัน แต่ถ้ารับประทานแล้วรู้สึกไม่สบาย (มีอาการเจ็บ อึดอัด ฯลฯ) ควรหยุดและลองใหม่ ในอีกหลายวันข้างหน้า
  • แนะนำให้เริ่มลองอาหารใหม่ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ แต่บ่อยๆ ในช่วงรอบวัน และเพิ่มปริมาณได้ตามความรู้สึกส่วนตัวของผู้ป่วย
  • รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ ทุกๆ 2-4 ชั่วโมง ห้ามหิวก่อนจะรับประทานแต่ละมื้อเพื่อป้องกันการรับประทานเร็วหรือมากเกินไป
  • เคี้ยวอาหารช้าๆ แต่ละมื้อควรใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีเป็นอย่างต่ำ
  • ควรนั่งรับประทานที่โต๊ะโดยไม่ทำกิจกรรมอื่น (เช่น ดูโทรทัศน์) อย่ากินเพื่อแก้เครียดหรือแก้เบื่อ หากมีอาการคลื่นไส้ ขย้อนขึ้นมาใหม่ ให้ลองเปลี่ยนอาหาร
  • หลีกเลี่ยงน้ำหวาน น้ำผลไม้ อาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง พลังงานสูง เพราะจะทำให้การลดน้ำหนักยากขึ้น
  • เตรียมเมนูที่สมดุลหลากหลายและมีสารอาหารครบถ้วน
  • ดื่มน้ำหรือของเหลวในช่วงระหว่างวัน 8-10 แก้ว เพื่อป้องกันท้องผูก
  • ควรมีโปรตีนเสริมอยู่ในทุกมื้ออาหาร
  • รับประทานวิตามินรวมหนึ่งครั้งต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทุกชนิด 3-4 ชั่วโมงก่อนการนอน
  • การรู้สึกถึงแรงดันหรือการขย้อนบริเวณหน้าอก มักเป็นอาการบ่งบอกถึงการรับประทานในปริมาณมากหรือเร็วเกินไป ในกรณีนี้ให้หยุดรับประทานและออกไปเดินบ้าง อาการจะดีขึ้นใน 10-15 นาที และครั้งต่อไปขอให้รับประทานให้น้อยลงและช้าลง

You must be logged in to post a comment Login