- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
“สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน บางลำพู/วัดเอี่ยมฯ” โดย เกรียงศักดิ์ โยธาประเสริฐ
เพิ่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับเกาะรัตนโกสินทร์ไปไม่นานก็มีข่าวชาวบ้านรอบวัดเอี่ยมวรนุชและบางลำพูประท้วงคัดค้านการทุบวัดและเวนคืนที่เพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง นัยว่าเพื่อเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์เป็นเชิงพาณิชย์ การคมนาคมรถไฟฟ้าใต้ดินเข้าถึง อาคารทันสมัยสร้างได้ ปริมาณความเจริญทางพาณิชย์จะได้มากขึ้นตาม คำถามคือ สำหรับพื้นที่ในเกาะรัตนโกสินทร์จริงหรือ
ก็รู้ๆกันอยู่ว่า พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว โบราณสถาน ไม่ใช่พื้นที่เพื่อการพาณิชย์ โดยนิยามก็ไม่น่าจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดโควิดมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเกือบ 40 ล้านคน ทำรายได้ให้ประเทศร่วม 99,000 ล้านบาท ผู้เขียนไม่ได้เจาะลึกไปว่ามีคนมาพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วประมาณเท่าไร แต่ก็ทราบกันดีว่าทุกวันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก ขยายพื้นที่ห่างจากวัดพระแก้วและวังหลวงมาทางสนามหลวง ราชดำเนินกลาง ถนนตะนาว ถนนข้าวสาร บางลำพู วัดเอี่ยมวรนุช พื้นที่เหล่านี้แม้ไม่ใช่วัง แต่จะเรียกว่าเป็นส่วนควบของวังก็ย่อมได้ เพราะเป็นสถานที่ในอดีต พระเจ้าแผ่นดินผู้สร้างเมืองได้จัดสรรให้ข้าราชบริพารและชาวเมืองหลากหลายถิ่นมาอยู่เช่นกัน แม้ไม่ใช่พื้นที่พาณิชย์ตามความเข้าใจยุคใหม่ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยนำเงินเข้าประเทศจากการท่องเที่ยวมหาศาล คนที่เดินทางมาท่องเที่ยวบริเวณนี้โดยเฉพาะต่างชาติไม่ได้มีปัญหาในการเดินทาง และสถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถานประวัติศาสตร์ก็อยู่ติดๆกัน ใครที่เห็นที่หนึ่งก็อยากชมอีกที่หนึ่ง ยอมเหนื่อยเดินหน่อย วัดโพธ์ วัดบวรฯ โลหะปราสาท ท่าพระอาทิตย์ บางลำพู สถานที่เหล่านี้แตะลงไปก็ล้วนมีประวัติ มีตำนานทั้งระดับชาติและระดับชุมชน
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่ผ่านมาถือว่าโชคดี เริ่มต้นด้วยประเทศรอบข้างด้านบนมีปัญหาการเมือง แต่ว่าด้วยความสวยงามตามธรรมชาติ ภูเขา ป่า ทะเล ไม่ได้ด้อยกว่าเรา หลายประเทศพยายามขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกและก็สำเร็จแล้ว เช่น ปีนัง มะละกา เว้ พุกาม แต่ที่เห็นชัดเจนคือความสวยงามทางโบราณสถาน วัฒนธรรมใจกลางเมืองหลวง ที่เรียกว่า วัง วัด บรรยากาศเมืองเก่า หากใครเดินทางไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่ามีเฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น พนมเปญมีอยู่บ้าง ด้านความสวยงามและวิจิตรพิสดารเช่นพระบรมมหาราชวังไม่มีให้เห็นในวังที่หงสาวดี มัณฑะเลย์ หรือเว้ กรณีหงสาวดี (วังบุเรงนอง) มัณฑะเลย์ เพิ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อ 50-60 ปีนี้เอง และงานก็หยาบมาก ในทางการเมืองก็เป็นประจักษ์พยานอย่างหนึ่งว่าเผด็จการไม่ได้ให้ความสำคัญต่อระบบกษัตริย์แต่อย่างใด สำหรับประเทศที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่ไม่มีวัง วัด ก็พยายามสร้างสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นมาทดแทน เช่น สิงคโปร์สร้างมารีน่าเบย์ มาเลเซียสร้างตึกแฝด ไต้หวันสร้างตึกอี้หลิ่งอี้ (ไทเป 101) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสูงที่สุดในโลก
ในกรณีของไทยจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งหากความสวยงามของวัง วัด และบรรยากาศเมืองเก่าจะเสียไป คำถามคือจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมีรถไฟฟ้าใต้ดินเข้ามาในพื้นที่บริเวณนี้ และจำเป็นต้องทำลายของเก่าหรือไม่ ปัจจุบันเรามีสถานีสนามไชย และแผนสายสีส้มก็จะมีสถานีสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลานหลวง (ตามรูป)
แนวคิดที่ว่าบางส่วนปรับเป็นผังเมืองพื้นที่สีแดง (พ.1-5) พาณิชยกรรม อาทิ ย่านเวิ้งนครเขษม สามารถพัฒนาอาคารขนาดใหญ่ได้มากขึ้น บางพื้นที่ยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ถนนข้าวสาร บางลำพู เทเวศร์ เป็นพื้นที่สีแดงมากขึ้นจากเดิมเป็นเขตผังเมืองศิลปวัฒนธรรม กวาดมาถึงรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลาว่าการ กทม. ต่อเนื่องมาถึงย่านเยาวราช วังบูรพา
ขอสรุปว่าแนวความคิดที่จะเปลี่ยนพื้นที่โบราณสถานบนเกาะรัตนโกสินทร์เพื่อการพาณิชย์มีความเสี่ยงสูงมาก พื้นที่เหล่านี้มีคุณค่าทางพาณิชย์อยู่แล้ว จำนวนสถานีที่สนามไชยและจากสายสีส้มก็พอเพียงอยู่แล้ว ควรจะปรับเปลี่ยนเส้นทางสายสีม่วง
You must be logged in to post a comment Login