วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

กสศ.เปิดรับสมัครนักเรียนสายอาชีวะ(ช้างเผือก) เสนอชื่อรับทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ รุ่นที่ 3

On April 3, 2021

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  จัดเวทีแลกเปลี่ยน “ปฏิรูประบบพัฒนากำลังคนสายอาชีพอย่างไร เพื่อประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง” และการแถลงข่าวเปิดตัว “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” ปี 2564 รุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นทุนการศึกษาที่เติมเต็ม โอกาสให้แก่เด็กช้างเผือกสายอาชีพ (นักศึกษาที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ที่จบ ปวช. หรือ ปวส. และกำลังเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขา S-Curve, New S-Curve, STEM และเทคโนโลยีดิจิทัล)

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากการเกษตรสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ต้องปรับกำลังคนสู่กำลังคนที่มีศักยภาพสูงขึ้นในแต่ละภาคส่วน ทั้ง การท่องเที่ยว แพทย์ ดิจิทัล โลจิสติกส์ ดังนั้นการฝึกอบรมจึงฝึกแบบเดิมไม่ได้ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มกับสิ่งเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมาโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงยังมีจำกัด รวมทั้งคุณภาพการศึกษาก็ยังเป็นที่สงสัย ดังนั้นการจะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางจะต้องสร้างกำลังคน ส่วนที่สำคัญคือระดับอาชีวศึกษาเพื่อให้ไปเชื่อมต่อระหว่างฝ่ายบริหารระดับสูงกับคนทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ

“จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า บุคลากรทางอาชีวศึกษายังมีน้อยคนที่จบ ปวช. 656,981 คน ปวส. 362,161 คน และจบปริญญาตรี 9,819 คน ดังนั้นภาครัฐจะต้องมีกลไกสนับสนุนส่งเสริม ยิ่งในวันที่มีนักศึกษาอาชีวะออกกลางคัน 80,000 คน ต่อปี รัฐจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจทำให้เขามีทางเลือก เพราะในวันที่เขาเลือกมาเรียนในวันที่จบมัธยมแทนที่จะออกไปทำงาน ย่อมทำให้ขาดรายได้ ทำให้ต้องพยายามทำให้เขามีรายได้ระหว่างเรียน เพื่อให้เข้าสู่ระบบตรงมากขึ้น อีกทั้ง สถานศึกษาสายอาชีวะมีอยู่ 429 แห่งถือว่าไม่น้อย และมีความหลากหลายพร้อมที่จะพัฒนาคนอยู่ที่เราจะดึงดูดคนเข้ามาได้อย่างไร” ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

ผศ.ดร.ศุภชัย  กล่าวว่า การที่เด็กมีการศึกษาสูงขึ้นย่อมทำให้เขาได้รับผลประโยชน์มากขึ้นในอนาคต จึงต้องส่งเสริมให้คนมีศักยภาพ เดินต่อไปเพื่อให้มีโอกาสในอนาคตสูงขึ้น เงื่อนไขอยู่ที่ประเทศจะตัดสินใจเลือกลงทุนสร้างคนแบบนี้อย่างไร รูปแบบจากต่างประเทศมีหลายแบบ ทั้งการให้แบบเหวี่ยงแหที่จะไม่ทำให้ไม่ได้เด็กที่มีคุณภาพ ผลประโยชน์ก็จะลดลง ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเลือกคนที่มีศักยภาพ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เป็นรูปแบบหนึ่งที่มีความผสมผสาน และทำให้ความเสมอภาคมากขึ้นตรงตามวัตถุประสงค์ของกสศ. ในต่างประเทศมีตัวอย่าง เช่น ทุน PROGRESA  ของเม็กซิโก และ บราซิล  ที่ให้แบบเหวี่ยงแห ทำให้เกิดการใช้เงินแบบไม่เหมาะสม สุรุ่ยสุร่าย ผลสัมฤทธิ์ทางสุขภาพไม่ดีจนต้องมีการปรับรูปแบบกองทุนมีระบบกำกับติดตามทำให้ผ่านไป 18 เดือน สถานการณ์ดีขึ้น รวมทั้งมีการสร้างแซนด์บอกซ์เตรียมความพร้อมก่อนเข้าโครงการ ขณะที่ The Roma Education Fund   ที่มีความหลากหลาย ทั้งทุนภาคประชาสังคม ทุนให้สถานศึกษา ขยายโอกาส ยกระดับผลการเรียน เพิ่มโอกาสจ้างงาน มอบทุน ปริญญาตรี โท  ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่ กสศ. ทำเราเริ่มเห็นผลคือการขยายโอกาส ยกระดับการศึกษา

“สิ่งที่ กสศ. ทำถือว่ามาถูกทางแล้ว ที่ต้องทำให้เกิดความตระหนักให้เห็นความสำคัญของอาชีวศึกษา  วันนี้ภาพอาชีวะคนยังหวาดกลัวอาจต้องสร้างภาพใหม่ให้สายอาชีพ เป็นกระบวนการสำคัญ ไปจนถึงการนำภาคเอกชนเข้ามาตลอดจนการทำความร่วมมือ  นำองค์ความรู้ไปต่อยอดเชิงธุรกิจ เพิ่มมูลค่า หรืออีกหน่อยอาจจะพัฒนารูปแบบทุนไปเป็นฮิวแมนคอนแทรคท์ ที่ให้ภาคธุรกิจมาร่วมกับกสศ. ให้ทุนฟูมฟักนักศึกษา เหมือนให้เขามาซื้อตัวเด็กตั้งแต่ยังอยู่ในสถาบันการศึกษา  เด็กก็จะมีความภักดีต่อองค์กร เกิดการต่อยอดทำงานร่วมกันกับองค์กรตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ซึ่งทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยให้เด็กมีความฝันตอบโจทย์ของตัวเอง”  ผศ.ดร.ศุภชัยกล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’  กล่าวว่า กสศ. ได้พยายามเชื่อมการศึกษาสายอาชีวะกับการแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง โดยนอกจากหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาในการให้ความช่วยเหลือเรื่องพื้นฐาน เช่น ผลักดันให้เด็ก ๆ ได้รับการศึกษา ในอีกทางหนึ่งยังส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนด้อยโอกาสให้ได้เรียนในสายอาชีพ เพื่อสร้างเยาวชนกลุ่มนี้ให้พัฒนาศักยภาพขึ้นเป็นบุคคลชั้นนำในสายอาชีวะ พร้อมด้วยทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21 และเชื่อมโยงไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และธุรกิจสำคัญของประเทศ เป้าหมายของโครงการ ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ คือเราต้องการพัฒนาคนเพื่อเป็นตัวอย่าง สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้สายอาชีวศึกษา และผลิตคนที่จะเข้าไปมีบทบาทพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติล่าสุดที่กำหนดไว้ว่า ปี 2580 ประเทศไทยต้องเป็นประเทศพัฒนา 
“การจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ประเทศจำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมมูลค่าสูง มีนวัตกรรมที่จะช่วยขยับค่าแรงในประเทศให้สูงขึ้น หมายถึงประเทศไทยต้องมีเทคโนโลยีของตัวเอง ต้องมีแรงงานที่มีทักษะ มีการพัฒนาการวิจัย ซึ่งนี่คือความหวังที่ทำให้ กสศ. สร้างทุนนี้ขึ้นมา ในอีกทางหนึ่ง ทุนนี้คือสิ่งที่เราทำเป็นตัวอย่าง เป็นแนวทางให้ดูว่าเราสามารถสร้างเยาวชนกลุ่มนี้ให้เขาก้าวขึ้นมาพัฒนาประเทศได้อย่างไร เพื่อเป็นต้นแบบให้กับโครงการอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากผลดำเนินงานสองปีที่ผ่านมาของทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ นับว่าเป็นที่น่าพอใจมาก”

ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์  กล่าวว่า การเปิดรับสมัครนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ในปี 2564 ได้ปรับเพิ่มคุณสมบัติผู้รับทุน ให้ผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. หรืออนุปริญญา ในปีการศึกษา 2563  หรือ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. หรือ อนุปริญญา มาแล้วไม่เกิน 3 ปี มีอายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังจะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี หรือหลักสูตรต่อเนื่องเทียบโอน 2-3 ปี ชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2564 สามารถสมัครเข้าเรียนได้ หากมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ผ่านเกณฑ์  หรือลูกจ้างพนักงานที่มีคุณสมบัติดังกล่าวสามารถสมัครขอรับทุนได้เช่นกัน 

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กล่าวว่า  สำหรับทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพมีจำนวนทุนประมาณ 40 ทุนต่อปี แต่สามารถสร้างผลตอบรับได้ ทำให้พัฒนานักศึกษาเหล่านี้เป็นต้นแบบ เป็นผู้นำ สร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นต่อไปประสบความสำเร็จ เป็นบุคคลากรชั้นนำของประเทศ  ซึ่งประเทศไทยมีทุนลักษณะนี้  เช่นกันคือ ทุนอานันทมหิดล 8 ทุนต่อปี ส่งนักศึกษาไทยที่มีความสามารถไปเรียน กลับมาพัฒนาประเทศ   หรือ  ทุนกาญจนาภิเษกประมาณ 200 กว่าทุน ส่งนักวิจัยไป เรียนป.โท. ป.เอก  ทำให้เกิดระบบการวิจัยเข้มแข็งมากขึ้น  เช่นเดียวกัน ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ  จะเห็นว่าจำนวนไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ทุนเหล่านี้ สามารถสร้างอิมแพ็ค สร้างภาพลักษณ์ยกระดับอาชีวะศึกษาได้และสร้างต้นแบบที่สำคัญ

น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของกสศ.ในการดำเนินการทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ไม่เพียงส่งเสริมเฉพาะการเรียนต่อวุฒิปริญญาตรี โท เอก อย่างเดียว แต่พยายามขบคิดว่าการเรียนปริญญาตรี โท เอก ภายใต้อาชีวะสามารถคิดค้นนวัตกรรมได้จะต้องส่งเสริมอย่างไร  จึงต้องหาความร่วมมือ จากมหาวิทยาลัย สร้างเส้นทางไปเรียนต่อ  มีระบบการจัดการเรียนการสอนที่ดี เหมือนประเทศไต้หวัน เยอรมัน  ดังนั้น  เราจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยส่งเสริมการเรียนต่อ เราไม่มองทักษะอย่างเดียว แต่เราเปิดโลกกว้างให้นักศึกษา เรียนรู้ มีความรู้กว้างขึ้น รู้จักประเทศไทย รู้จักท้องถิ่น นอกจากได้โอกาส ต้องเป็นผู้ให้โอกาสด้วย เป็นระบบที่เราอยากส่งเสริม ที่ทำให้เขาเป็นต้นแบบให้น้องๆว่ามีรุ่นพี่ที่มีศักยภาพ การเรียนอาชีวะไม่ใช่มองเป็นลูกจ้าง เช่นนักศึกษาที่เรียนอยู่  แต่เป็นนักปฏิบัติ ทำนวัตกรรมได้ มีการส่งเสริมที่ดีร่วมกับภาคเอกชน น่าจะทำให้นักศึกษาที่เรียนต่อสูงขึ้นสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆได้ ตรงนี้เป็นวิสัยทัศน์ที่กสศ.มองว่า  การส่งเสริมไม่ใช่ นักวิจัยอย่างเดียว แต่สามารถเป็นผู้ประกอบการได้  เป็นหลายอย่างตอบโจทย์ตัวเองด้วย  ถ้าเห็นผลสำเร็จ การขยายผลส่งเสริมทุนอื่นๆ ไปพัฒนา ทั้งนี้เด็กช้างเผือกมีจำนวนมาก และกลุ่มนี้มีความมุ่งหมายที่อยากเรียนไปถึงขั้นระดับสูงมากถึง  80 เปอร์เซนต์ แต่ไม่มีโอกาส ถ้าเราส่งเสริมเขาจะไม่สูญเสียเขาอย่างน่าเสียดาย

น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า ปีนี้ กสศ.เปิดรับสมัครนักศึกษาทุน เป็นรุ่นที่ 3 เพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษาจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เน้นส่งเสริมกลุ่มช้างเผือกที่มีความสามารถพิเศษได้เรียนต่อ และสร้างค่านิยมอาชีวศึกษามีเส้นทางที่ก้าวหน้า ส่วนเงื่อนไขทุนนี้เรียนจนจบไม่ต้องใช้ทุนคืน สามารถไปประกอบอาชีพตามความฝัน โดยกำหนดการเปิดสมัครรับทุนนี้ตั้งแต่เดือนเม.ย.64 (รอบที่ 1) ขอเชิญชวนนักศึกษาศิษย์เก่าและปัจจุบัน ครูอาจารย์ เสนอชื่อเข้ามารับทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ผ่านเว็บไซต์ www.eef.or.th/ หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 02-079-5475 กด 4 ตามวันเวลาราชการ


You must be logged in to post a comment Login