- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
รอมฎอนในสถานการณ์โควิด-19
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 23-30 เม.ย. 64 )
ในเดือนรอมฎอน นอกจากมุสลิมทั่วโลกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิงต้องถือศีลอดด้วยการยับยั้งตนเองจากการกินการดื่ม การมีความสัมพันธ์ทางเพศและการคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วตั้งแต่ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตกแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่มุสลิมปฏิบัติกันอีก เช่น การอ่านคัมภีร์กุรอาน การกล่าวคำระลึกถึงพระเจ้า การเลี้ยงอาหารคนยากจน การบริจาคทาน การละหมาดเพิ่มเติมในยามกลางคืน เป็นต้น
เนื่องจากเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีความสำคัญที่สุดในรอบปี มุสลิมทั่วโลกหรือแม้แต่นบีมุฮัมมัดขณะยังมีชีวิตอยู่จะทำกิจกรรมดังกล่าวด้วยความกระฉับกระเฉง เพราะการทำความดีในเดือนนี้จะได้รับผลบุญตอบแทนจากพระเจ้าเป็นสิบเท่า
มีเพื่อนต่างศาสนิกบางคนกล่าวว่าการทำความดีเพื่อหวังผลตอบแทนเป็นการกระทำที่ไม่มีบริสุทธิ์ใจ จึงขอทำความเข้าใจให้เพื่อนต่างศาสนิกได้รู้ว่า ความบริสุทธิ์ใจในอิสลามมิได้หมายถึงการกระทำความดีโดยไม่หวังอะไรตอบแทน แต่ความบริสุทธิ์ใจในอิสลามคือการกระทำที่ทำไปเพื่อหวังการตอบแทนจากพระเจ้าเท่านั้นโดยไม่หวังจากมนุษย์ ทั้งนี้เพราะคนมุสลิมมีพระเจ้าและจะเชื่อมโยงเจตนาและการกระทำของตนไว้กับพระเจ้าตลอดเวลา
ในยุโรปบางประเทศมีกิจกรรมทดสอบความเคร่งครัดของมุสลิมในเรื่องการถือศีลอด โดยหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งเสนอโทรศัพท์มือถือยี่ห้อดังรุ่นล่าสุดให้แก่มุสลิมที่เดินผ่านมาเพื่อแลกกับการกินน้ำในขวดที่ยื่นให้ ขณะที่หนุ่มมุสลิมกำลังอธิบายว่าเขาไม่สามารถดื่มน้ำได้เพราะกำลังถือศีลอดและสาวที่ยื่นข้อเสนอพยายามรบเร้าอยู่นั้น ตัวละครที่แต่งกายในชุดอาหรับได้เดินผ่านมา หญิงสาวผู้ทำการทดลองได้เรียกตัวละครในชุดอาหรับเข้ามาเพื่อยื่นข้อเสนอดังกล่าว ตัวละครอาหรับรับข้อเสนอของผู้หญิง และขณะที่กำลังจะดื่มน้ำเพื่อแลกกับโทรศัพท์ หนุ่มคนแรกได้เข้าไปผลักอกของตัวละครอาหรับและตำหนิที่ยอมละทิ้งการถือศีลอด
จนเมื่อหญิงสาวอธิบายให้หนุ่มมุสลิมผู้ถูกทดสอบรู้ความจริง เรื่องจึงจบลงด้วยรอยยิ้มของทุกฝ่าย
ไม่ว่าจะทดลองกับมุสลิมคนอื่นๆกี่ครั้ง ปฏิกิริยาตอบสนองการทดสอบหรือการท้าทายนี้ล้วนเหมือนเดิม นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ของเดือนรอมฎอน
ในประเทศไทย โครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม มูลนิธิสันติชนได้จัดกิจกรรม “หนึ่งคนทดลองอด เพื่อหนึ่งคนได้อิ่ม” โดยให้ผู้เข้ารับการอบรมและไม่ได้เป็นมุสลิมลองถือศีลอดตามแบบอิสลามดู ใครที่สมัครใจทดลองถือศีลอด โครงการฯจะหาคนบริจาคเงินเลี้ยงอาหารคนยากจนแทนผู้ทดลองถือศีลอดวันละ 150 บาทต่อคน จบการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเมื่อใด เงินที่รวบรวมได้จากจำนวนวันและจำนวนคนที่ทดลองถือศีลอดจะนำไปมอบให้คนยากจน
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สองปีที่ผ่านมา มัสยิดที่เคยสว่างไสวและคึกคักไปด้วยผู้มาละศีลอดและละหมาดร่วมกันต้องตกอยู่ในความเงียบเหงา แต่ตามบ้านมุสลิมกลับคึกคักแทนเพราะพ่อแม่และญาติพี่น้องได้มีโอกาสละศีลอดและละหมาดด้วยกัน อย่างไรก็ตาม มัสยิดแทบทุกแห่งยังคงเป็นแหล่งทำหรือรวมอาหารแจกจ่ายแก่คนยากจนตามปกติ
กิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องพลอยโดนพิษโรคโควิด-19ไปด้วยก็คือการประกวดการท่องจำคัมภีร์กุรอานในหมู่เยาวชนทั่วโลกที่จัดขึ้นในบางประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและอื่นๆก็ต้องเลื่อนออกไปด้วยเช่นกัน แต่เสียงอ่านและเสียงท่องจำกุรอานยังคงมีอยู่
เดือนรอมฎอนจึงเป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร การละหมาด การถือศีลอดและการจ่ายซะกาตจะยังคงมีอยู่ต่อไปจนถึงวันสิ้นโลก
You must be logged in to post a comment Login