- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ปลีกวิเวกในอิสลาม
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 7-14 พ.ค. 64)
สังคมที่แข่งขันกันทำมาหากินจนสับสนวุ่นวายและใช้เล่ห์เหลี่ยมแย่งชิงผลประโยชน์กันมักไม่มีความสงบ ดังนั้น บางครั้ง บางคนจึงอยากปลีกตัวออกจากความสับสนวุ่นวายไปหาความเงียบสงบบ้าง เช่น ออกไปพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติที่พ้นจากเสียงตะโกนโหวกเหวกของผู้คนและฟังเสียงนกเคล้าเสียงน้ำตกเป็นการเติมพลังให้กลับมาเผชิญกับชีวิตจริงที่มีแต่ความวุ่นวายอีกต่อไป
เศรษฐีบางคนมีเงินล้นเหลือ มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง แต่หาความสุขทางใจไม่ได้ จึงตัดสินใจทิ้งความสุขทางวัตถุไปปลีกวิเวกใช้ชีวิตเป็นนักพรตหรือนักบวชที่ตัดความต้องการทางวัตถุทุกอย่าง
ความสงบเงียบจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ต้องการ อย่างน้อยก็ชั่วคราว เพราะมันทำให้เกิดความผ่อนคลาย เกิดสมาธิ มีเวลาทบทวนสิ่งต่างๆ แต่สำหรับบางคนต้องการความสงบอย่างถาวรเพื่อพบความสุขที่แท้จริงในชีวิตโดยการพึ่งพาอาศัยวัตถุให้น้อยที่สุด
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะพบพระ นักบวชหรือผู้นำทางจิตวิญญาณมักต้องการความสงบจากการปลีกตัวออกจากครอบครัวและสังคมที่ถูกถือว่าเป็นที่มาของกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ เพื่อค้นหาความจริงแห่งชีวิต
เจ้าชายสิทธัตถะปลีกวิเวกตามลำพังพร้อมกับทดลองอดอาหารเพื่อต้องการให้วิญญาณหลุดพ้นจากความต้องการของร่างกาย
นบีมุฮัมมัดก็เคยปลีกตัวไปหาความสงบอยู่เงียบๆตามลำพังในถ้ำแห่งหนึ่งบนภูเขาที่ชานเมืองมักก๊ะฮฺและอดอาหารด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้จะเป็นพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จ แต่นบีมุฮัมมัดก็เบื่อหน่ายสังคมเมืองมักก๊ะฮฺที่มีแต่ความสับสนวุ่นวายและอบายมุขหลากชนิด
จนกระทั่งเมื่อได้รับวิวรณ์จากพระเจ้าและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำคำสอนอิสลามมายังมนุษยชาติเมื่ออายุ 40 ปี นบีมุฮัมมัดไม่เคยขึ้นไปปลีกวิเวกตามลำพังในถ้ำอีกเลย เพราะท่านมีภารกิจเผยแผ่อิสลามและความรับผิดชอบทางครอบครัวและสังคม
แต่การหมดโอกาสขึ้นไปปลีกวิเวกบนภูเขาไม่ได้ทำให้การปลีกวิเวกเพื่อหาความสงบและความใกล้ชิดกับพระเจ้าของนบีมุฮัมมัดหมดไป เพราะพระเจ้าได้บอกวิธีปลีกวิเวกแบบใหม่ให้นบีมุฮัมมัดโดยการตื่นขึ้นมาตอนดึกหลังเที่ยงคืนและละหมาด ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตวิญญาณด้วยการเอาชนะความต้องการของร่างกายที่อยากนอนขึ้นมาแสดงความเคารพสักการะพระเจ้า
การตื่นขึ้นมาละหมาดยามดึกหลังเที่ยงคืนนี้ในศัพท์ทางวิชาการอิสลามเรียกว่า “ละหมาดตะฮัจญุด” ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่สำหรับนบี ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณไว้สำหรับรองรับวจนะของพระเจ้าที่จะประทานมาและจะต้องเผชิญกับการต่อต้านจากผู้คน แต่การละหมาดตะฮัจญุดไม่ได้เป็นข้อบังคับสำหรับมุสลิมทั่วไป หากใครทำได้ก็แนะนำให้ทำและทำที่บ้าน ไม่ต้องปลีกตัวออกไปทำนอกบ้าน เพราะในช่วงดึกสงัดของกลางคืน เป็นช่วงเวลาที่ผู้ศรัทธาจะได้ใกล้ชิดพระเจ้าตามลำพังมากที่สุด
แม้ในอิสลามไม่มีระบบนักพรตหรือนักบวชที่ต้องปลีกตัวออกจากครอบครัวและสังคม แต่การปลีกวิเวกก็ยังคงมีอยู่สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการความสงบเงียบเพื่อทบทวนหรือใคร่ครวญอะไรบางอย่างโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งครอบครัว
มุสลิมได้รับการสนับสนุนให้ปลีกวิเวกอีกครั้งหนึ่งในสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนซึ่งเรียกกันว่า “อิอ์ติก๊าฟ” ในการปลีกวิเวกนี้ ผู้ปฏิบัติจะปลีกตัวไปใช้ชีวิตเงียบๆอยู่ในมัสยิดโดยไม่ออกไปไหนนอกจากเข้าห้องน้ำห้องส้วมและกินอาหาร ระหว่างที่อิอ์ติก๊าฟในมัสยิด สิ่งที่ต้องทำก็คือการละหมาดประจำวันที่เป็นข้อบังคับ การละหมาดเพิ่มเติมในยามกลางคืน การกล่าวคำระลึกถึงพระเจ้า การสำนึกผิดและการขออภัยโทษต่อพระเจ้า การอ่านและทบทวนความหมายของคัมภีร์กุรอาน เป็นต้น
เดือนรอมฎอนปีนี้และปีก่อน มัสยิดอาจถูกปิดเพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันโรคระบาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการอิอ์ติก๊าฟไม่สามารถทำได้ เพราะบ้านยังคงเป็นฐานปฏิบัติศาสนกิจที่ดีที่สุดในยามที่ไม่มีมัสยิด
You must be logged in to post a comment Login