วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จำเป็นต้องกู้

On May 21, 2021

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 21 พ.ค. 64)

คำว่า “อินาทานัง ทุกขังโลเก” การกู้หนี้ยืมสินเป็นทุกข์ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง ในบรรดาทุกข์ โดยเฉพาะการเป็นหนี้นอกระบบอะไรต่างๆยิ่งหนักเข้าไปอีก ทราบข่าวมาว่า ตอนนี้รัฐบาลภายใต้การนำของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผลักดันพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้ยืม ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 พ.ศ…. วงเงินไม่เกิน 7 แสนล้านบาท 

เรียกว่า จะกู้จากต่างประเทศหรือเงินที่ไหนก็แล้วที่ให้กู้ ให้ยืม โดยจะกู้ เพื่อมาเยียวยา ป้องกันโรคโควิด-19 รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย มีคนถามว่า ขณะนี้เลยเพดานกู้หรือยัง แต่เขาบอกจะออกพ.ร.ก.อะไรต่างๆ รองรับการกู้เงิน 7 แสนล้านบาท และเมื่อพูดถึงความจำเป็น ต้องบอกว่า จำเป็นแน่นอน ถ้าไม่มีเงินไปป้องกันรักษาเยียวยา มันก็ต้องเรียกว่า มีอัตราเสี่ยงที่เราจะฟุบ จะฟื้นไม่ขึ้นทีหลัง ถ้ากู้แล้ว เราใช้เขาคืนได้ มันก็ไม่น่าจะมีปัญหา ถ้าตัวเลขรายได้เราแข็ง จีดีพีเราสูง 7 แสนล้านบาท จะใช้อีกกี่ปีก็แล้วแต่ คงจะใช้ได้ ถ้าคนไทยร่วมแรง ร่วมใจ ใช้คืนเขา 

สมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เคยร่วมกันใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ ซึ่งไอเอ็มเอฟสมัยนั้นก็เป็นเงินหลายแสนล้านเหมือนกัน ก็ใช้หนี้หมด ตอนนั้นได้ชื่อเสียงเรียกว่า ใช้หนี้ก่อนกำหนด มีสัญญากู้ยืม ถ้าเรายืมได้ แล้วเราหาเก่ง รายได้เราสูง รายได้เราเข้มแข็ง มันก็ไม่ต้องเกรงว่า จะทำไม่ได้ หรือกู้ไม่ได้เลย ปิดประตูตาย ไม่ต้องฟื้นฟู ไม่ต้องเยียวยา เรียกว่า รัฐบาลจะถูกทางหรือผิดทาง ก็พูดกันตอนนี้ยาก 

เพราะว่า ความจำเป็นจ่อคอหอยอยู่ ถ้าไม่มี ปล่อยให้เงินคงคลังจะเหลือน้อย แล้วจะอยู่กันอย่างไร ทางกระทรวงการคลัง ก็ต้องช่วยกันคิด ต้องทำ แต่ถ้าคิดแล้วทำสำเร็จ แก้ปัญหาได้ ก็คงจะไม่มีการลงโทษอะไรรัฐบาลมาก แต่ถ้าทำให้จมปลัก เป็นหนี้ เป็นสินแล้ว พอมาฟื้นฟูก็ฟูไม่ขึ้น มีแต่ฟุบลงไปอีก อันนี้ก็น่าเป็นห่วง คงจะต้องบอกตัวใคร ตัวมันอะไรทำนองนั้น จะมาผลักดันให้ร่วมใช้ ร่วมจ่าย จะได้มากน้อยแค่ไหน คงจะต้องดูฝีมือและผลงานของรัฐบาลไทยกันต่อไป 

เจริญพร 


You must be logged in to post a comment Login