วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

การตรวจวิเคราะห์โรคหัวใจทารกขณะตั้งครรภ์…สำคัญแค่ไหนนะ?

On May 28, 2021

คอลัมน์ : เปิดโลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นายแพทย์วัชระ จามจุรีรักษ์

กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 28 พ.ค.-4 มิ.ย. 64)

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีได้หลายชนิด มีตั้งแต่ชนิดเป็นน้อยๆ เช่น ผนังหัวใจด้านบนรั่ว จนถึงผิดปกติมาก เช่น เส้นเลือดออกจากหัวใจผิดที่  หัวใจห้องล่างซ้ายหรือขวาเล็กมากร่วมกับเส้นเลือดออกจากหัวใจตีบมากหรือเล็กมาก จนไม่สามารถทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในขณะอยู่ในครรภ์ เป็นต้น    

ทำไม? ถึงควรตรวจโรคหัวใจทารกในครรภ์ด้วยการอัลตราซาวด์

ทารกในครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจะไม่แสดงอาการออกมาภายนอกให้คุณแม่หรือแพทย์ผู้ดูแลทราบ เพราะลูกจะได้รับสารอาหาร ออกซิเจน จากรกของคุณแม่ แต่จะทราบได้ก็โดยการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ หรือ Echocardiogram เท่านั้น โดยอายุครรภ์ที่เหมาะสมในการตรวจวิเคราะห์โรคหัวใจทารกในครรภ์ด้วย Echocardiogram คือช่วงอายุครรภ์ 18 -23 สัปดาห์

นายแพทย์วัชระ จามจุรีรักษ์

การตรวจวิเคราะห์หัวใจทารกในครรภ์ มีประโยชน์อย่างไร?

  1. เพื่อจะได้ทราบว่าทารกในครรภ์เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือไม่ และเป็นรุนแรงแค่ไหน
  2. คุณแม่และคุณพ่อเข้าใจถึงโรคของลูกและมีเวลา ได้เตรียมความพร้อมในการดูแลทารกหลังคลอดไม่ว่าต้องได้รับการผ่าตัดหรือไม่
  3. ทำให้รู้ว่าจะต้องวางแผนการรักษาอย่างไร ทั้งในขณะตั้งครรภ์และภายหลังคลอด
  4. การดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ และวิธีการคลอด
  5. ถ้าต้องผ่าตัดรักษา  ต้องผ่าตัดกี่ครั้ง ความเสี่ยงจากการผ่าตัดและคุณภาพชีวิตหลังการผ่าตัด
  6. นอกจากนี้ ยังเป็นข้อมูลเสริมที่สำคัญให้สูติแพทย์ที่ดูแลได้ทราบเพื่อดูถึงความผิดปกติอื่นที่อาจร่วมด้วย รวมทั้ง โครโมโซม

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

  1. ไม่ทราบสาเหตุมากที่สุด ประมาณ 90 %
  2. มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ หรือโครโมโซม เช่น โครโมโซม คู่ที่ 21 ทำให้เกิดเป็นโรคดาวน์ซินโดรมร่วมกับเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น
  3. คุณแม่มีโรคประจำตัว หรือการควบคุมโรคยังไม่ดีพอ เช่น เป็น โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ตัวเอง (connective tissue disease หรือ autoimmune disease) โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • คุณแม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะภายใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่น คุณแม่ติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน เป็นต้น
  • คุณแม่ถูกรังสี X-Ray ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
  • คุณแม่ทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาสิว ยากันชัก เช่น carbamazepine, diphenylhydantoin, หรือ valproate ยาในกลุ่มแอมเฟตามีน ยาเสพติด ยารักษาโรคซึมเศร้า (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) และกลุ่ม NSAID เป็นต้น
  • ทารกที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย (Assisted Reproduction Technology) หรือ มีประวัติการแท้งลูกมาก่อน
  • คุณแม่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือมีลูกคนหนึ่งเป็น หรือคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลูกที่ตั้งครรภ์ก็จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสูงกว่าคนทั่วไป
  • คุณแม่ที่มีอายุมากขณะตั้งครรภ์ เช่น อายุเกิน 35 ปีขึ้นไป

ข้อควรปฏิบัติเมื่อตรวจพบว่าลูกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในขณะตั้งครรภ์

  1. ควรปรึกษากับแพทย์ให้ทราบแน่ชัดว่าความผิดปกติของหัวใจลูกเป็นชนิดใด รุนแรงแค่ไหน จะมีปัญหาตอนขณะตั้งครรภ์และหลังคลอดมากน้อยเพียงใด ทำให้สามารถวางแผนการรักษาทั้งก่อนคลอด..ว่าควรคลอดด้วยวิธีใด และหลังคลอดว่า..ต้องการการรักษาอย่างไร เพื่อให้ได้ผลดี ทันท่วงที และปลอดภัย
  2. หากพบว่าเป็นโรคหัวใจชนิดรุนแรง อาจเกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ทั้งในขณะตั้งครรภ์และภายหลังคลอด แพทย์จะให้คำแนะนำการดูแลระหว่างตั้งครรภ์  วางแผนการคลอด การดูแลหลังคลอดอย่างเหมาะสม ร่วมกับทีมแพทย์ เช่น กุมารแพทย์โรคหัวใจ แพทย์เชี่ยวชาญทารกแรกคลอด และศัลยแพทย์ฯ เพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปด้วยดีจนคลอด และการรักษาหลังคลอดอย่างถูกต้อง ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ
  3. คุณแม่ควรดูแลตัวเองให้มีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีเพื่อเตรียมพร้อมร่างกายสำหรับการคลอดที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนเตรียมความพร้อมของครอบครัวด้วย
  4. ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ จะเป็นข้อมูลเสริมให้กับสูติแพทย์ระมัดระวังว่าอาจมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยทั้งโครโมโซมผิดปกติ และความผิดปกติของอวัยวะอื่น เป็นต้น

You must be logged in to post a comment Login