วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ดูแลผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19

On June 4, 2021

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ศ. นพ.วีรศักดิ์  เมืองไพศาล

ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 4-11 มิ.ย. 64 )

 ช่วงนี้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยบ่นว่าอยู่แต่บ้าน ลูกหลานไม่ให้ไปไหนกลัวติดโรคโควิด-19 ควรดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้ปลอดภัย เพราะผู้สูงอายุคือกลุ่มเสี่ยงหากต้องออกนอกบ้าน  

ทำไมถึงต้องดูแลใส่ใจผู้สูงอายุเป็นพิเศษ

ผู้สูงอายุอาจได้รับผลกระทบในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ใน 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ

1. จากการติดเชื้อโดยตรง  เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย และ     จะเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเสียชีวิตสูงกว่าคนวัยอื่น และยังอาจเกิดผลต่อสุขภาพในระยะยาวแม้พ้นระยะการติดเชื้อแล้ว เนื่องจากสุขภาพที่อ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันน้อย อาจมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคปอด หัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง

2. จากผลกระทบโดยอ้อม จากมาตรการการป้องกันการติดโควิด-19 การที่ต้องจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน ในที่ชุมชน หรือการเยี่ยมเยียนของลูกหลาน อาจทำให้เกิดเครียด ความเหงา ซึมเศร้า บางครั้งไม่ได้รับประทานอาหารที่ชอบดังเดิม และการไม่ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้านเหมือนเดิม รวมถึงการทำกิจกรรมกลุ่ม  จึงทำให้ความแข็งแรงของร่างกายลดลง สมองได้รับการกระตุ้นลดลง เกิดการถดถอย และต้องพึ่งพิงมากขึ้น

นอกจากนั้นในช่วงที่มีการควบคุมการมาตรวจรักษาที่โรงพยาบาล หรือการเยี่ยมบ้านของบุคลากรทางการแพทย์ แม้ทุกโรงพยาบาลได้มีมาตรการการรองรับปัญหานี้ แต่ก็อาจมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถมาตรวจ ไม่ได้ตรวจเลือดตามปกติ และขาดยา

นอกจากนั้นการจำกัดการที่ญาติจะเข้าเยี่ยมได้หากนอนในโรงพยาบาล หรือในสถานพักฟื้นคนชรา  ก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยสูงอายุเช่นกัน 

การดูแลผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ควรให้ความสำคัญเรื่องใดบ้าง

1. การป้องกันการติดเชื้อ โดยการรักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงไม่ไปที่แออัด หลีกเลี่ยงการเยี่ยมจากคนนอกบ้าน   หรือหากต้องออกนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยที่ปิดทั้งปากและจมูก และจะต้องล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ  ยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เมื่อกลับเข้าบ้านควรเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำสระผมให้เรียบร้อย

2. การดูแลสุขภาพทั่วไป ทั้งร่างกายและจิตใจ ได้แก่

   • การออกกำลังกายภายในบริเวณบ้าน การออกกำลังกายแบบผู้สูงอายุ ตามสุขภาพ เช่น เดิน รำมวยจีน โดยอาจทำพร้อมรายการทางช่องโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์

   • การรับประทานครบหมู่ โดยเฉพาะประเภทโปรตีน 

   • การพักผ่อนให้เพียงพอ

   • ถูกแสงแดดบ้างช่วงเช้าและเย็น

   • การพูดคุยสื่อสารกับญาติ หรือเพื่อน ผ่านทางโทรศัพท์หรือสื่ออิเล็กโทรนิกส์

   • ในผู้ที่สมองเสื่อม นอกจากการออกกำลังกาย ควรได้ทำกิจกรรมที่ได้คิดอ่าน ใช้สมองด้วย

 3. ดูแลเรื่องการรักษาโรคประจำตัว โดยการ    

  • รับประทานยาสม่ำเสมอ

   • สำรองยาให้เพียงพอ

   • เลื่อนนัดให้ยาวขึ้น หากเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการคงที่

   • หากมีระบบรับปรึกษาแบบออนไลน์ อาจใช้ระบบนี้ชั่วคราว เพื่อลดการไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

4. หากมีอาการผิดปกติ หรือมีภาวะฉุกเฉิน เช่น มีไข้ แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย รับประทานได้น้อย หรือซึมลง ในกรณีนีควรไปโรงพยาบาล

หากต้องออกนอกบ้าน ควรระวังเรื่องใดบ้าง

หากต้องออกนอกบ้านควรเลือกเวลาที่ไม่ต้องเผชิญกับผู้คนจำนวนมาก  หลีกเลี่ยงการเดินในสถานที่แออัด เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ ป้องกันตนเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย สวมเสื้อผ้ามิดชิด ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ  รักษาระยะห่าง  เมื่อกลับเข้าบ้าน ควรอาบน้ำ สระผม  เปลี่ยนเสื้อผ้า รวมถึงการเช็ด ทำความสะอาดของใช้ที่ติดตัวไปด้วย

ยิ่งสูงอายุยิ่งต้องระวัง ขอให้ผู้สูงอายุทุกท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง ปลอดโรค ปลอดภัย ห่างไกลจากโรคโควิด-19


You must be logged in to post a comment Login