วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โรคอ้วนในยุค work from home และผลร้ายทางนรีเวช

On July 9, 2021

คอลัมน์ : เปิดโลกสุขภาพ

ผู้เขียน : พญ.สุขุมาลย์ สว่างวารี 

สูติแพทย์ แพทย์มะเร็งนรีเวช และผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช รพ.พญาไท1

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 9-16 ก.ค. 64)

ในช่วง work from home จากสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน สาว ๆ หลายท่านอาจเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองในเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น  บางท่านน้ำหนักเพิ่มเกือบ10 กิโลกรัมในช่วงนี้  และพบว่าอัตราโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสุขภาพของสตรี โรคอ้วน(Obesity) หมายถึง ความผิดปกติของร่างกายจากการมีน้ำหนักตัวเกินมาตราฐาน เนื่องจากร่างกายมีภาวะไขมันสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ มากเกินกว่าปกติ โดยประเมินง่าย ๆ จากค่า ดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง โดยค่าปกติคือ 18.5-22.99 ในคนเอเชีย หากค่าได้มากกว่า 23 ขึ้นไป ในคนเอเชียถือว่ามีภาวะน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคของระบบต่างๆ มากมาย(obesity-related comorbidity ) ได้แก่ ระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอริซึ่ม ระบบหัวใจและหลอดเลือด

ความดัน โลหิตสูง ระบบทางเดินหายใจ เ ระบบข้อและกล้ามเนื้อ โรคมะเร็ง เป็นต้น

พญ.สุขุมาลย์ สว่างวารี 

สำหรับโรคทางสูตินรีเวชนั้นพบความสัมพันธ์ต่อความผิดปกติตั้งแต่ผลต่อวัยรุ่น วัยเจริญพันธ์ รวมไปถึงวัยหมดประจำเดือน ดังนี้

1. โรคอ้วนสัมพันธ์กับการมีประจำเดือนมาเร็วกว่าอายุที่ควรจะเป็น การมีประจำเดือนมาไม่ปกติในช่วงวัยรุ่น

และกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ

2.ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่มีค่าดัชนีมวลกายสูงมี ความเสี่ยงที่สูงขึ้นของปัญหาการตกไข่ที่ไม่ปกติ และมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ได้ไม่ดี

3.การคุมกำเนิด  เนื่องจากประสิทธิกาพและความปลอดภัยของยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนอาจเปลี่ยนไปใน โรคอ้วน    โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากถึง 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป ทำให้การให้ยาฮอร์โมนชนิดรวมในการคุมกำเนิดในผู้ป่วยโรคอ้วนต้องเฝ้าระวังทั้งเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดที่ลดลง  โดยพบว่าภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนทำให้มีโอกาสการตั้งครรภ์ขณะใช้ยาฮอร์โมนในการคุมกำเนิดสูงกว่าสตรีน้ำหนักปกติถึง 2.49เท่า สำหรับยาคุมกำเนิดฮอร์โมนชนิดแผ่นพบว่าโอกาสการตั้งครรภ์ในสตรีโรคอ้วนสูงกว่าสตรีน้ำหนักปกติถึง 4.63 เท่า

4.เพิ่มความเสี่ยงต่อกาวะแท้ง 1.45 เท่าสำหรับสตรีโรคอ้วนเมื่อเทียบกับสตรีน้ำหนักปกติ  พบโรคร่วมทางสูติกรรมที่เพิ่มมากขึ้นในสตรีอ้วนได้แก่ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ การคลอดผิดปกติ ทารกน้ำหนักผิดปกติ ลิ่มเลือดอุดตันในสตรีตั้งครรภ์ เป็นต้น

5.โรคอ้วนทำให้อาการของอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนรุนแรงขึ้น  เพิ่มความเสี่ยงอาการมดลูกหย่อน ความเครียด ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเร็ด

6.บางงานวิจัยมีข้อมูลว่าโรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงของติ่งเนื้อยื่อบุโพรงมคลูกและอาการเนื้องอกมดลูก 1.19 (1.09 to 1.31) เท่า

7.เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมดลูกและรังไข่     โดยผู้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากกว่าสตรีน้ำหนักปกติถึง 2 เท่า และ สตรีที่มีโรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากกว่า 3 เท่า สำหรับมะเร็งรังไข่พบว่าสตรีน้ำหนักเกินเกณท์เพิ่มความเสี่ยง 1.04 เท่าและโรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งรังไข่สูงถึง 1.28-1.41 เท่าเมื่อเทียบกับสตรีน้ำหนักปกติ สำหรับมะเร็งเต้านมพบความสัมพันธ์ของความเสี่ยงของสตรีโรคอ้วนในวัยทองที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม และโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งเต้านมหลังการรักษาสูงขึ้นในสตรีโรคอ้วน

8.อาการวัยทองพบว่าสตรีน้ำหนักเกินและอ้วนพบการแย่ลงของอาการไวทองใน 3 กลุ่มอาการหลักได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางดึก กล้ามเนื้อและไขข้อผิดปกติ รวมไปถึงอาการทางกระเพาะปัสสาวะผิดปกติของวัยทองด้วย 

จะเห็นได้ว่าในขณะเราต้องผจญกับโรคโควิด 19 ทำให้สตรีหลายท่านต้อง work from home ส่งผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ทางนรีเวชมากมาย ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือโรคอ้วนแล้วนั้น การลดน้ำหนักเป็นสิ่งจำเป็นที่สาว ๆ ต้องให้ความสำคัญเพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาในอนาคต

การลดน้ำหนักด้วยการปรับไลฟ์สไตล์และมาตรการควบคุมอาหารที่เหมาะสม  รวมถึงการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และสม่ำเสมอ เป็นทางออกให้แก่สตรีที่มีโรคอ้วนในปัจจุบัน และทำให้สาวๆ กลับมามีรูปร่างที่สวยงามตลอดไป


You must be logged in to post a comment Login