วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บอร์ด กสศ.ห่วง โควิดทำครอบครัวยากจนเฉียบพลัน 300,000 คน พบเด็กเยาวชนยากจนกลุ่มรอยต่อหลุดจากระบบการศึกษา 57,590 คน

On July 20, 2021

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 8/2564 มีดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. เป็นประธาน มีวาระความคืบหน้าผลการเบิกจ่ายงบประมาณทุนเสมอภาคให้แก่กลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนพิเศษและกลุ่มรอยต่อทางการศึกษา

ดร.ประสาร กล่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กสศ. ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 911,364 คน ที่ยังศึกษาต่อในสถานศึกษาเดิม ในปีการศึกษาที่ 1/2564  (กลุ่มชั้นเคลื่อน) ในอัตรา 1,500 บาท/คน จำนวน 1,419 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ กสศ. และ หน่วยงานต้นสังกัด สพฐ. สถ. และ บช.ตชด. ได้ดำเนินการติดตามสถานะนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มชั้นรอยต่อทางการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ที่ กสศ. ได้สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการสมัครและเรียนต่อ จำนวน 294,454 คน รายละ 800 บาทไปเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.64 โดยพบว่า ขณะนี้มีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษที่ยังไม่พบข้อมูลการเรียนต่อในฐานข้อมูล จำนวน 57,590 คน (ราว 20%) ประกอบด้วย นักเรียนชั้นอนุบาล 3 ที่ไม่พบข้อมูลศึกษาต่อชั้นป. 1 จำนวน 1,159 คน คิดเป็น 1% ของนักเรียนยากจนชั้นรอยต่อในระดับเดียวกัน นักเรียนชั้น ป.6 ที่ไม่พบข้อมูลศึกษาต่อชั้น ม. 1 จำนวน 25,556 คน คิดเป็น 22% และ ม.3 ที่ไม่พบข้อมูลศึกษาต่อ จำนวน 30,875 คน คิดเป็น 53% โดยกว่าครึ่งหนึ่งยังอยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับ

“ปัจจุบันมีเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาระดับอนุบาล-ม.ต้น ที่อาศัยอยู่กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ อยู่ราว 2.2 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2564 กสศ. ศธ. สถ. และ บช.ตชด. ได้รับจัดสรรงบประมาณดูแลอยู่เพียง 1.8 ล้านคน จากการประเมินของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าการทวีความรุนแรงของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลต่อประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยทำให้เกิดภาวะยากจนเฉียบพลันมากขึ้นราว 10% หรือราว 300,000 คน ก่อนที่กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้จะทยอยหลุดออกจากระบบการศึกษาจึงมีความจำเป็นต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นห่วงคือ การที่กสศ. ถูกตัดงบประมาณจำนวน 904.57 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เด็กเยาวชนยากจนพิเศษและกลุ่มรอยต่อทางการศึกษา จำนวน 712,725 คน ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ” ดร.ประสาร กล่าว

นายภูวนาท กองธรรม ครูโรงเรียนบ้านแม่สลิดหลวงวิทยา จ.ตาก กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมนักเรียนในกลุ่มยากจนพิเศษทุนเสมอภาคจาก กสศ. พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ยิ่งในช่วงนี้ผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง หลายคนต้องตกงานกลับมาอยู่บ้านขาดรายได้ การมีทุนเสมอภาคทำให้ช่วยลดภาระผู้ปกครอง เด็กๆ สามารถเรียนหนังสืออยู่ในระบบการศึกษาต่อไปไม่ต้องออกไปช่วยผู้ปกครองทำงานหารายได้   ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าทุนที่ให้กับนักเรียนรายหัวเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่สำหรับเด็กที่นี่แล้วเงินจำนวนนี้ถือว่ามีค่ามาก ก่อนหน้านี้เคยถามเด็ก ๆ ที่ไม่ได้เรียนต่อส่วนใหญ่บอกว่าพ่อแม่ไม่มีเงินอยากให้ออกมาทำงาน ดังนั้นหากพวกเขาได้ทุนก็จะช่วยทำให้เขาได้เรียนต่อ และยังมีเด็กยากจนด้อยโอกาสอีกจำนวนมากที่ยังรอโอกาสจากทุนนี้

นางวิภาดา ผ่านชมภู ครูโรงเรียนผาสุกประชานุกูล จ.อุดรธานี กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 รอบนี้รุนแรงมาก เห็นได้จากจำนวนผู้ปกครองที่เคยไปทำงานในกรุงเทพฯ ต้องถูกเลิกจ้างไม่มีทางออกต้องพาบุตรหลานกลับมาเรียนที่ในพื้นที่สิบกว่าคน ตั้งแต่ป.4 จนถึง ม.1 จากที่ได้สอบถามผู้ปกครองส่วนหนึ่งทำงานรับจ้างเป็นลูกจ้างที่ร้านอาหารพอร้านปิดไม่มีรายได้ก็ตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ที่บ้าน เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าอยู่ในเมือง  ดังนั้นการมีทุนเสมอภาคเข้ามาช่วยเหลือนักเรียนก็จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองที่กำลังประสบปัญหาได้เป็นอย่างมาก


You must be logged in to post a comment Login