วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

คลายมายาคติเรื่องโควิด-19

On July 20, 2021

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 23-30 ก.ค. 64)

อาจกล่าวได้ว่าตอนนี้โรคกลัวโควิด-19 รุนแรงกว่าโควิด-19 ด้วยซ้ำไป มีการปั่นกระแสให้เกิดความกลัวในโควิด-19 โดยมีวาระซ่อนเร้นเป็นแน่  ความกลัวแพร่เร็วกว่าโควิด ฟังความจริงจาก ดร.โสภณ

เขาว่ากันว่าเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ “ต้องฟังหมอ มากกว่าฟังหมา” ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) จึงได้รวบรวมความเห็นของสถาบันทางการแพทย์ระดับโลก มาเป็นหลักในการคลายปมมายาคติเกี่ยวกับโควิด-19 มาถึงวันนี้เราต้องเลือกเอาว่าจะเชื่อหมอแก่ๆ ที่ Out แล้ว หมอขุนนางที่มักออกมาพูดให้คนตกใจ หรือเชื่อองค์กรแพทย์ระดับโลกที่มีผลวิจัยรับรองในสากลจริงๆ

ท่านทราบหรือไม่ว่า

1. การฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อเสี่ยงอันตราย โดยองค์การอนามัยโลก “เตือนฉีดวัคซีนสลับชนิดเสี่ยงอันตราย แต่หมอไทยมั่นใจมาถูกทาง มีการผลศึกษารองรับ” <1> แต่ “หมอไทย” ก็ไม่ได้แสดงเอกสารผลการศึกษากับนักข่าวแต่อย่างใด

2. เรื่องสายพันธุ์แลมบ์ดา สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ แถลง. . . “ปัจจุบันยังคงไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ได้แน่ชัดว่า ไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาทำให้เกิดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงกว่าปกติ หรือทำให้วัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพลดลง”. . .ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กของสหรัฐฯ. . .ว่าแม้ไวรัสกลายพันธุ์แลมบ์ดาจะทำให้แอนติบอดีจากการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำลง แต่ก็เป็นตัวเลขที่ลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น. . .วัคซีนป้องกันโควิดชนิด mRNA ซึ่งได้แก่วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา. . .สามารถรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ได้ <2>

3. องค์การอนามัยโลกบอกคนส่วนใหญ่ที่ติดโควิดจะมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และหายเองโดยไม่ต้องรักษาเป็นพิเศษยกเว้นผู้สูงวัย-ผู้มีโรคประจำตัวสำคัญ <3>

4. สมาคมการแพทย์อเมริกัน พบว่าคนติดโควิด 81% มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ และมีอัตราการตาย 2.3% (ไทย 1%) ถ้าอายุเกิน 80 ปี ตาย 14.8% <4> ดังนั้นจึงไม่พึงตกใจหากติดโควิดขึ้นมา ต้องมีสติ

5. โควิดมีอัตราตายเพียง 1-3% ของผู้ติดเชื้อเท่านั้น  ส่วน SARS ตายถึง 15% และ MERS ตายถึง 34% โรคที่ติดง่ายมักมีอัตราการตายน้อย อย่ากลัวจนเกินไป <5>

การดูแลตัวเองที่บ้านเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด จำนวนเตียงคนไข้ของไทยมีไม่เพียงพออย่างแน่นอน ข้อแนะนำของการดูแลกันเองที่บ้านขององค์การอนามัยโลก
            – ผู้ป่วยควรอยู่ห้องต่างหาก หรืออยู่ห่างผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร
            – ควรจำกัดการเคลื่อนไหวภายในบ้าน
            – ให้อากาศถ่ายเทในห้อง-พื้นที่ที่ใช้ร่วมกันโดยเปิดหน้าต่าง

– ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และใช้จานชาม ผ้าขนหนูหรือสิ่งอื่นๆ แยกกัน
            – ทำความสะอาดพื้นผิวที่ผู้ป่วยสัมผัสบ่อยๆ และฆ่าเชื้อทุกวัน
            – ไม่ควรให้ใครมาเยี่ยมในช่วงเวลาป่วย <6>

กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา ก็กล่าวว่าโดยที่ผู้ป่วยจะมีอาการ 2-3 วันและดีขึ้นใน 1 สัปดาห์จึงไม่ต้องไปโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐ (CDC) แนะว่า:

– มียาสามัญประจำบ้าน (ยาพาราฯ) เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น

– ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้มากที่สุด

– จัดหาซื้ออาหาร สิ่งของต่างๆ ผ่านระบบเดลิเวอรี่

– มีหมายเลขโทรศัพท์ของแพทย์อยู่ในมือ (ของเราจะโทร.ติดไหมหนอ)

– ใช้อุปกรณ์ตรวจสอบเพื่อช่วยตัดสินใจว่าต้องไปหาหมอไหม <7>

ส่วนเครือข่าย MayoClinic ของสหรัฐอเมริกา ก็แนะนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดังนี้:

– ปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว

– อย่าติดตามข่าวสารโควิดมากนัก อาจเครียด/เสียเวลาพัก

– ทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และดื่มน้ำมากๆๆๆ

– ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน

– นอนให้ได้มากที่สุด (นอนคว่ำถ้าหายใจยาก)

– หลีกเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่

– ยืดเหยียดร่างกาย (นั่งตัวตรง) หายใจลึกๆ ทำสมาธิ

– เพลิดเพลินกับกิจกรรมที่ผ่อนคลาย

– ติดต่อกับญาติมิตรเพื่อช่วยกันดูอาการ <8>

การหลอกหลอนให้เรากลัวเกินเหตุต่อโควิด-19 นั้น ก็คงเพื่อหวังกุมอำนาจ ทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนหวังที่จะกดขี่ขูดรีดในระยะยาวและตลอดไป  ยิ่งกว่านั้นยังสร้างหนี้สินอีกมหาศาลให้ลุกหลานต้องชดใช้ในอนาคต ทำให้ประเทศไทยจนลงในเชิงเปรียบเทียบและระยะยาว  เรามากันผิดจุดแล้ว ต้องร่วมกันหาทางแก้ไขโดยควรปลดคณะทำงานด้านนี้เพราะทำงานล้มเหลว ทำให้มีการแพร่เชื้อมากมายกันขนานใหญ่ รวมทั้งผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ

อย่าให้ใครใช้ความกลัวโควิด-19 มาลวงเรา

อ้างอิง

<1> เตือนฉีดวัคซีนสลับชนิดเสี่ยงอันตราย แต่หมอไทยมั่นใจมาถูกทาง มีการผลศึกษารองรับ. BBC. 13 กรกฎาคม 2564. https://www.bbc.com/thai/international-57815131

<2> โควิด-19 : “แลมบ์ดา” ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อันตรายกว่าเดลตาจริงหรือ. BBC. 7 กรกฎาคม 2564. https://www.bbc.com/thai/international-57752238

<3> WHO. Coronavirus. https://www.who.int/health-topics/coronavirus#tab=tab_1

<4> Characteristics of and Important Lessons From the Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) Outbreak in China. Jama Network. February 24, 2020. https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2762130

<5> ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา Comparative Review of SARS-CoV-2, SARS-CoV, MERS-CoV, and Influenza A Respiratory Viruses https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7516028/

<6> Episode #36 – Safe care at home. WHO. April 30, 2021. https://bit.ly/3wuhyrb

<7> Caring for Someone Sick at Home. CDC. July 2, 2021. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/if-you-are-sick/care-for-someone.html

<8> Treating COVID-19 at home: Care tips for you and others. MayoClinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/coronavirus/in-depth/treating-covid-19-at-home/art-20483273


You must be logged in to post a comment Login