วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ธรรมที่ต้องปฏิบัติในตลาด

On September 24, 2021

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 24 ก.ค.- 1 ก.ย. 64)

พื้นฐานทางเศรษฐกิจดั้งเดิมของมนุษย์คือการผลิตเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเองและคนในครอบครัว  มีเหลือก็แบ่งปันในหมู่เครือญาติและเพื่อนบ้านโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน น้ำใจของการแบ่งปันจึงสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในสังคมและทำให้คนเกิดความรู้สึกอยากตอบแทนผู้แบ่งปัน

เมื่อคนมีจำนวนมากขึ้น ความต้องการมีมาก การแบ่งปันจึงกลายเป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของที่แต่ละคนอยากได้ แลกเปลี่ยนกันแล้ว ความสัมพันธ์ที่เกิดจากการแบ่งปันก็ค่อยๆหายไป

แลกเปลี่ยนสิ่งของกันไปมาสักพัก มนุษย์ก็เริ่มพบอุปสรรคสารพัด เอาไก่ไปแลกเกลือ พอฝนตกหนัก เกลือเปียก คนที่ได้เกลือไปก็เหลือเกลือน้อยลง ระหว่างฝนตก เกิดฟ้าผ่า ไก่ตกใจตาย หรือดิ้นหนีหายไปหรือพอถึงบ้านเป็นหวัดตาย  สรุปแล้วทั้งสองฝ่ายต่างขาดทุนในการแลกเปลี่ยน

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงคิดหาวัตถุมาเป็นสิ่งแทนค่าและใช้วัตถุนั้นเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน คนบนภูเขาเห็นเปลือกหอยสวยงามเป็นสิ่งมีค่าเพราะหายาก จึงใช้เปลือกหอยเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน คนริมทะเลเห็นเช่นนั้น จึงกลับมาเก็บเปลือกหอยไร้ค่าริมทะเลที่ไปซื้อของหมู่บ้านชาวเขาได้มากมายมาขายที่หมู่บ้านของตน ไม่นานก็กลายเป็นเศรษฐี

เปลือกหอยอยู่ได้ไม่นานก็แตกและเสื่อมค่าไร้ราคา ผู้คนจึงหาวัตถุอื่นที่คงทนกว่ามาแทน เช่น เหล็กหรือหินมีค่าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ถึงกระนั้น นานวันเข้า เหล็กก็เป็นสนิม มีวันผุพังเสื่อมค่าและหนัก จะซื้อสินค้าทีละมากๆก็ลำบากในการพกพาและยังทอนด้วยการแบ่งไม่ได้อีกด้วย

ในที่สุด เมื่อมนุษย์พบว่าแร่เงินและทองคำเป็นวัตถุมีค่า ไม่เป็นสนิมเหมือนเหล็ก หลอมเป็นรูปต่างๆได้ง่าย มนุษย์จึงนำวัตถุทั้งสองอย่างนี้มาทำเป็นเหรียญกษาปณ์ขนาดต่างๆและกำหนดค่าโดยใช้นำหนักเหรียญเป็นเกณฑ์เพื่อใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน

เหรียญกษาปณ์เงินและทองคำเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในอาณาจักโรมันและเปอร์เซีย

เมื่อทองคำเป็นสิ่งมีค่าที่สามารถซื้อสินค้าหรือแม้กระทั่งซื้อใจคนได้  การจะครอบครองทุกสิ่งบนโลกใบนี้นอกจากจะใช้อำนาจเข้ายึดแล้ว ยังทำได้โดยการใช้ทองคำหรือเงินซื้อ  แร่ทองคำจึงเป็นวัตถุที่ชาติมหาอำนาจอยากได้และแย่งชิง ส่วนแร่เงินค่อยๆหมดบทบาทไปเพราะคุณสมบัติสู้ทองคำไม่ได้

เมื่อนบีมุฮัมมัดปฏิบัติภารกิจเผยแผ่อิสลามในมักก๊ะฮฺ ท่านได้พบเห็นการแลกเปลี่ยนซื้อขายในทั้งสองระบบแล้ว นั่นคือ การซื้อขายแบบแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้า และการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยใช้เหรียญทองคำและเหรียญเงินเป็นสื่อกลาง ทั้งนี้เพราะท่านเคยติดตามกองคาราวานของลุงไปค้าขายที่ซีเรียชุมทางการค้าใหญ่ในสมัยนั้นและเป็นดินแดนที่อาณาจักรโรมันและเปอร์เซียต่อสู้แย่งชิงกันครอบครอง

เนื่องจากเป็นชุมทางการค้าที่เส้นทางสายไหมจากจีนพาดผ่าน ตลาดที่นั่นจึงใช้เหรียญกษาปณ์ของอาณาจักรโรมันและเหรียญเงินของชาวเปอร์เซียในการซื้อขาย  ชาวอาหรับในเวลานั้นเรียกเหรียญกษาปณ์ทองคำของอาณาจักรโรมันว่า “ดีนาร์” ซึ่งมาจากคำว่า “ดีนาริอุส” และเรียกเหรียญเงินของอาณาจักรเปอร์เซียว่า “ดิรฺฮัม” ซึ่งมาจากเสียงเรียก “ดรัม” ของชาวเปอร์เซีย

เมื่อนบีมุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่อิสลาม สิ่งที่ท่านเรียกร้องผู้คนตั้งแต่เริ่มแรกเลยคือการศรัทธาใน “อัลลอฮฺ” องค์เดียวที่มีคุณสมบัติสำคัญมากมาย หนึ่งในนั้นคือความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงถูกพระเจ้าสั่งให้นำคุณสมบัตินี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันแม้ในเรื่องการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วย ทั้งนี้เพื่อมิให้มีการคดโกง เอารัดเอาเปรียบและสร้างปัญหาขึ้นมา ดังนั้น ท่านจึงได้วางกฎกติกาในการซื้อขายแลกเปลี่ยนไว้ดังนี้

“ทองคำกับทองคำแลกเปลี่ยนกันต้องเท่ากัน เงินกับเงินแลกเปลี่ยนกันต้องเท่ากัน อินทผลัมกับอินทผลัมแลกเปลี่ยนกันต้องเท่ากัน  ข้าวสาลีแลกกับข้าวสาลีต้องเท่ากัน  เกลือกับเกลือแลกเปลี่ยนกันต้องเท่ากัน ข้าวบาร์เลย์กับข้าวบาร์เลย์แลกเปลี่ยนกันต้องเท่ากัน   ถ้าใครรับส่วนเกิน มันจะเป็นดอกเบี้ย  อย่างไรก็ตาม จงขายทองเพื่อเงินตามที่ท่านต้องการโดยมีเงื่อนไขว่าต้องส่งมอบกันทันทีที่ขายและจงขายข้าวบาร์เลยเพื่ออินทผลัมตามที่ท่านต้องการโดยมีเงื่อนไขว่าต้องส่งมอบกันทันที”

คำสอนดังกล่าวบอกให้รู้แน่ชัดว่า ให้คือให้โดยไม่คิดอะไรตอบแทน

การแลกเปลี่ยนสินค้าที่เหมือนกันต้องเท่ากันและแลกเปลี่ยนกันทันที การแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างเดียวกันที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งได้เพิ่มเติมถือเป็น “ริบา” (ดอกเบี้ย) ส่วนเกินที่ต้องห้ามเพราะความไม่ยุติธรรม

การซื้อขายคือการแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือสินค้าที่ไม่เหมือนกันโดยทั้งสองฝ่ายที่ซื้อขายต่างพอใจเป็นที่อนุญาต

คำสอนของนบีมุฮัมมัดและการปฏิบัติของท่านทำให้เราได้รู้ว่าอิสลามคือวิถีการดำเนินชีวิตที่ต้องปฏิบัติตามในตลาดด้วย ไม่ใช่แค่การทำพิธีกรรมทางศาสนาในมัสยิดเท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login