วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มายาดอลล่าร์สหรัฐ

On October 1, 2021

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 1-8 ต.ค. 64)

โลกใช้เหรียญกษาปณ์ทองคำและเงินเป็นสิ่งแทนค่าและสื่อกลางในการซื้อขายมานานนับพันปีและไม่เคยมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ถ้าใครไม่มีเหรียญกษาปณ์ก็สามารถเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนกัน

แม้ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อไม่มี แต่ก็มีปัญหาเรื่องการสะสมทองคำในมือของคนกลุ่มน้อยซึ่งทำให้เศรษฐกิจไม่หมุนเวียนและการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากการให้กู้ยืมทองคำและคิดดอกเบี้ย ศาสนาจึงแนะนำให้มีการจ่ายทานและสั่งห้ามเรื่องดอกเบี้ยในคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่สมัยโมเสสและพระเยซูมายืนยัน หลังจากนั้น คัมภีร์กุรอานได้ถูกส่งมายืนยันการสั่งห้ามดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง

ในความเข้าใจของคนทั่วไป  ดอกเบี้ยคือส่วนที่เกินจากเงินต้นในสัญญากู้ยืมที่ลูกหนี้ต้องจ่ายให้เจ้าของเงิน  แต่นบีมุฮัมมัด ในฐานะเป็นพ่อค้าที่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆทองๆและมองเห็นการณ์ไกล ท่านได้วางหลักเรื่องการเงินไว้ว่า “อย่าขายทองเพื่อทองเว้นเสียแต่ว่ามันจะหนักเท่ากัน และอย่าขายเงินเพื่อเงินเว้นเสียว่ามันจะหนักเท่ากัน แต่ท่านสามารถขายทองเพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน หรือขายเงินเปลี่ยนเป็นทองได้ถ้าต้องการ”

พูดง่ายๆก็คือ ทองกับทองแลกกันต้องน้ำหนักเท่ากันและส่งมอบกันทันที แต่ทองกับเงินเป็นโลหะคนละสกุล สามารถแลกเปลี่ยนกันโดยมีน้ำหนักต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้แลกเปลี่ยน

หลังโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์เริ่มผลิตสินค้าได้จำนวนมากและต้องระบายสินค้าออกไปขายทั่วโลก  พ่อค้าในยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ ต้องการเงินทุน จึงจำเป็นต้องกู้เงิน  แต่คัมภีร์ไบเบิลห้ามดอกเบี้ยซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า usury  คำนี้หมายถึงดอกเบี้ยที่นายทุนเรียกเก็บจากคนจนในอัตราสูงเพราะความเสี่ยงสูงในการได้เงินคืน

ผิดกับพวกพ่อค้าที่มีความสามารถในการจ่ายเงินคืน นายทุนจึงคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ พวกพ่อค้าและนายทุนจึงขอให้โป๊ปอนุมัติการกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยต่ำแก่พ่อค้า แต่โป๊ปเห็นว่าดอกเบี้ยจะสูงหรือจะต่ำก็คือดอกเบี้ย  จึงไม่อนุมัติ แต่การค้าต้องดำเนินต่อไป พวกนายทุนและนักธุรกิจจึงไม่ฟังโป๊ปและทำธุรกิจกู้ยืมโดยเรียกดอกเบี้ยในคำสมัยใหม่ว่า interest  นับแต่นั้นมา พวกนักธุรกิจตะวันตกก็ไม่เชื่อฟังโป๊ปอีกเลยและดอกเบี้ยได้กลายเป็นหัวใจของระบบการเงินสมัยใหม่

การค้าระหว่างประเทศในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน  แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นชาติมหาอำนาจและมั่งคั่งขึ้นมาจากการขายอาวุธให้ประเทศยุโรปรบกันในสงครามโลกทั้งสองครั้ง  สหรัฐอเมริกาก็กลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่ผู้คนอยากคบค้าด้วย  ดอลลาร์สหรัฐจึงเข้ามาเป็นสกุลเงินสากลของโลกแทนเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ

เมื่อการค้าต้องใช้ทองคำเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน การจ่ายค่าสินค้าเป็นทองคำจึงเป็นเรื่องลำบาก เวลานั้น อเมริกามีทองคำสำรองสองในสามของโลก ตัวแทนจาก 44 ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปจึงมาประชุมกันที่เมืองเบรตตัน วูด รัฐนิวแฮมพ์ไชร์ สหรัฐอเมริกาเพื่อทำความตกลงเรื่องจะใช้เงินสกุลอะไรในการทำการค้าระหว่างประเทศ

หลังจากประชุมกันอยู่หลายวัน ที่ประชุมได้ตกลงใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐและได้มีการกำหนดมาตรฐานอัตราแลกเปลี่ยนทองคำหนึ่งออนซ์เท่ากับ 35 ดอลลาร์สหรัฐโดยธนาคารกลางของสหรัฐฯเป็นผู้ได้อภิสิทธิ์ในการพิมพ์ธนบัตร นั่นหมายความว่า หากชาติใดต้องการธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐก็ต้องส่งทองคำไปแลกเปลี่ยนและใครมีธนบัตรดอลลาร์สหรัฐ 35 ดอลลาร์ก็สามารถนำไปแลกทองคำได้หนึ่งออนซ์กลับคืนมาได้

หลังจากนั้นไม่นาน ธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐได้ถูกธนาคารกลางสหรัฐ(ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เป็นของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่เป็นของกลุ่มนายธนาคารจากยุโรป)แอบพิมพ์เพิ่มขึ้นมาเกินกว่าทองคำสำรองที่ได้ตกลงกันไว้ การจะแลกทองคำหนึ่งออนซ์ด้วยเงิน 35 ดอลล่าร์สหรัฐจึงทำไม่ได้อีกต่อไป ต้องใช้เงินดอลล่าร์ฯมากกว่านั้น คนทั่วไปจึงดูว่าทองคำมีราคาแพง แต่อันที่จริงแล้ว ทองคำไม่ได้มีราคาแพงขึ้น แต่สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐต่างหากที่มีค่าน้อยลงเพราะถูกพิมพ์ออกมามาก

ยิ่งในปี ค.ศ.1971 เมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสันได้ออกประกาศว่าสหรัฐอเมริกาจะออกธนบัตรโดยไม่อาศัยทองคำสำรองอีกต่อไปแล้วและไม่อนุญาตให้เอาดอลล่าร์มาแลกทองคำกลับคืน นับแต่นั้นมา ประเทศต่างๆที่ส่งทองคำไปสำรองที่สหรัฐฯจึงรู้ว่าทองคำของตัวเองถูกปล้นแล้ว


You must be logged in to post a comment Login