วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เศรษฐกิจพรุ่งนี้เพื่อคนไทย จะทำอย่างไรหลังภัยโควิด

On November 1, 2021

บทความพิเศษ  โดย พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ

คำถามที่คาใจคนไทยทั้งประเทศขณะนี้คือ “ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหลังโควิด?” ที่ต้องคาใจและกังวลใจกันก็เพราะว่า จากสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ ดูเหมือนประเทศจะย่ำแย่และเสื่อมถอยอย่างมาก ตัวเลขทางเศรษฐกิจทุกตัวดูย่ำแย่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่ำเตี้ย และยังไม่เห็นแนวทางที่ประเทศไทยจะก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไร แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลจะยังพยายามขายฝันว่าประเทศไทยกำลังไปด้วยดี แต่ถึงตอนนี้แล้วคงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตลอด 7 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิดแล้ว การเกิดการระบาดของไวรัสโควิดเป็นการตอกย้ำและแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา และแสดงถึงความล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่บริหารประเทศตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

เรื่องเหล่านี้หากจำกันได้ ผู้เขียนเองได้เตือนสติ พล.อ.ประยุทธ์และคนไทยทั้งประเทศมาโดยตลอด หลักฐานที่เตือนเห็นได้ชัดจากการถูกเรียกปรับทัศนคติ 8 ครั้ง และถูกเรียกดำเนินคดีอีก 4 ครั้ง รวมเป็น 12 ครั้ง อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์เองได้ออกมาพูดโจมตีโต้ตอบผู้เขียนหลายครั้ง แม้แต่ในที่ประชุมนานาชาติ G-77 พล.อ.ประยุทธ์ยังใช้เวทีการประชุมนานาชาตินี้เพื่อโจมตีผู้เขียน ถึงขนาดถามว่าผู้เขียนจบอะไรมาถึงได้มาวิจารณ์เศรษฐกิจ ซึ่งหากจะถาม พล.อ.ประยุทธ์กลับบนพื้นฐานเดียวกัน ก็ต้องถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จบอะไรมาถึงมาบริหารเศรษฐกิจ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง โดยไม่เคยแสดงให้ประชาชนได้รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจเลย แถมพูดผิดๆมาตลอด ผลลัพธ์ของการบริหารโดยขาดความรู้ความเข้าใจทำให้เศรษฐกิจไทยต้องย่ำแย่หนักตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิดแล้ว โดยหลังจากการเลือกตั้งและ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง เศรษฐกิจไทยกลับแย่ลง การขยายตัวลดต่ำลงกว่าเดิมมาก โดยในปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 2.4% หลังจากปี 2561 ขยายตัวได้ 4.2% และในไตรมาส 4 ปี 2562 ขยายตัวได้แค่ 1.6 % พอมาถึงไตรมาสแรกปี 2563 ก่อนมีการระบาดของไวรัสโควิด เศรษฐกิจไทยก็ขยายตัวติดลบแล้ว โดยติดลบที่ -1.8% ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวและอ่อนแอตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤตไวรัสโควิดเสียอีก

ดังนั้น การที่จะวิเคราะห์กันว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหลังโควิดอาจจำเป็นต้องย้อนหลังไปดูประเทศไทย 7 ปีที่แล้ว หลังเกิดการปฏิวัติ เพื่อที่จะได้เข้าใจสถานการณ์ก่อนวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด เพื่อดูว่าหลังวิกฤตการณ์แล้วไทยจะเป็นอย่างไร

7 ปี แห่งความเสื่อมถอย

หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่หลอกตัวเอง และใช้การวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม ตลอดจนข้อมูลจากสื่อหลักของต่างประเทศที่มองมาไทย ก็จะพบว่าเศรษฐกิจไทยตลอด 7 ปี มีแต่ความเสื่อมถอย เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยได้เพียงปีละ 1% กว่าๆเท่านั้น การส่งออกของไทยก็ขยายตัวเฉลี่ยประมาณปีละ 1% กว่าเช่นกัน ซึ่งถือว่าต่ำมากๆ ข้อมูลดังกล่าวมาจากสื่อหลักต่างประเทศ The Financial Times ถึงกับขนานนามประเทศไทยว่าเป็นคนป่วยของเอเชีย และจะยิ่งป่วยหนัก ซึ่งก็ป่วยหนักขึ้นจริงๆในเวลาต่อมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศของไทยหายไป 90% ตั้งแต่ปี 2558 หรือหลังจากการปฏิวัติ นักลงทุนญี่ปุ่นที่เคยลงทุนมากสุดกลับไม่ลงทุนเลย และการลงทุนจากต่างประเทศก็อยู่ในระดับต่ำจนมาถึงปัจจุบัน ข้อมูลดังกล่าวมาจากสื่อหลักของญี่ปุ่น นิกเคอิ เอเชีย นอกจากนี้สื่อนี้ยังมีบทวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าหากประเทศไทยฟื้นเศรษฐกิจได้ช้าจะแสดงถึงความล้มเหลวในการบริหารตั้งแต่อดีตตลอด 7 ปี

ตัวเลขความล้มเหลวทางเศรษฐกิจยังมีอีกมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องหนี้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน หนี้ของธุรกิจ หนี้เสียของธนาคาร และหนี้นอกระบบ แต่คงไม่จำเป็นต้องนำมาเสนอเพิ่มอีก ทั้งนี้เพราะสภาวะความเป็นอยู่และความลำบากของประชาชนที่เพิ่มขึ้นทุกปีเป็นเครื่องยืนยันได้ แม้แต่เวิลด์แบงก์ยังวิเคราะห์ว่าประเทศไทยระหว่างปี 2558-2561 กลับมีคนจนเพิ่มสูงขึ้น โดยเพิ่มจาก 7.21% เป็น 9.85% หรือเพิ่มจาก 4.85 ล้านคน เป็น 6.7 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน นี่ก่อนจะมีการระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งหลังจากวิกฤตไวรัสโควิดคนจนของประเทศไทยคงพุ่งสูงกว่านี้มาก ความจริงที่สวนทางกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยประกาศว่าคนจนจะหมดไป

สภาวะย่ำแย่และเสื่อมถอยที่เป็นอยู่ตรงกับที่ผู้เขียนเคยเตือนไว้แล้วว่าเป็นเหมือนทฤษฎีกบต้ม ที่กบถูกวางไว้ในหม้อต้มและเพิ่มไฟแรงขึ้นช้าๆ กบจึงปรับตัวเรื่อยๆ จนกระทั่งน้ำเดือดกบถูกต้มตายเสียแล้ว กระโดดออกจากหม้อไม่ทัน ซึ่งเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในอดีตที่มีมากว่า 100 ปีแล้ว ใช้อธิบายประเทศและบริษัทที่เสื่อมถอยไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ตัว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าใจจึงได้ส่งคนมาฟ้องผู้เขียน กลายเป็นคดีกบต้มสร้างความขบขันกันทั้งในประเทศและต่างประเทศที่รู้เรื่องทฤษฎีนี้ โดยในที่สุดอัยการได้ยกฟ้อง เพราะเป็นข้อคิดเห็นและคำแนะนำตามหลักการ ซึ่งสภาวะกบต้มที่ประเทศไทยเสื่อมถอยนี้ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิดที่เหมือนเป็นการเร่งไฟในหม้อต้มกบให้แรงขึ้น คนเดือดร้อนลำบากอีกทั้งยังบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมากจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์

หลังจากที่ทราบข้อมูลในอดีตพอสังเขปแล้ว ก็ต้องกลับมาดูคำถามที่ตั้งไว้ “ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหลังโควิด” โดยต้องคิดกันว่าอะไรที่เป็นปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบัน และจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

ผู้นำไทยต้องทันโลกไม่หลงยุค

ในมุมมองของผู้เขียนคิดว่าปัญหาสำคัญที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่คือ “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ต่ำมาตลอด จนมาเจอโควิดจึงทรุดหนัก ดังนั้น การจะฟื้นตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับที่สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตจะทำได้อย่างไร อะไรจะเป็นอนาคตของประเทศไทย” ในสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่เป็นอยู่นี้ และประเทศไทยจะต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลข่าวสารจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ การศึกษาประวัติการพัฒนาของประเทศต่างๆ การตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีของโลก การรับฟังความเห็นของผู้มีความรู้ความชำนาญ มีประสบการณ์ และมีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งอีลอน มัสก์, เจฟฟ์ เบซอส, แจ็ค หม่า, ซึ่งรวมถึงพี่โทนี่ในคลับเฮาส์ด้วย พอจะรวบรวมแนวคิดเริ่มต้นบางประเด็นที่จะนำเสนอดังนี้

หากต้องการจะฟื้นเศรษฐกิจของไทยและต้องการให้เศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตที่สูง เพื่อจะหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางให้พัฒนาเป็นประเทศรายได้สูงได้นั้น รัฐบาลต้องมีความรู้ความสามารถและความเข้าใจ สามารถทำหลายๆเรื่อง คิดหลายๆอย่างได้พร้อมกัน เหมือนที่พรรคไทยรักไทยเคยทำเมื่อในอดีต แต่ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะในโลกสมัยใหม่นี้ความจำเป็นที่จะต้องตามการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกให้ทันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก

แค่ความจำเป็นอย่างแรกก็เห็นได้ชัดแล้วว่าหากจะพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำของประเทศนี้ต่อไปแล้ว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์พิสูจน์แล้วว่าไม่มีความรู้ความสามารถ ขาดทักษะในการบริหารประเทศ ตกยุค ไม่สามารถตามโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ทัน ยึดติดกรอบคิดเก่าๆ อารมณ์ฉุนเฉียว ไม่รับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่ ฯลฯ เหมือนที่ผู้เขียนบอกตลอดหลายปีนี้ว่า ประเทศไทยโชคร้ายที่มีปัญหาทางการเมืองเป็นเวลานานในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีผู้นำที่ไม่สามารถตามโลกได้ทัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยล้าหลังและตกยุคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นทุกวันตามคำเตือนของผู้เขียนแล้ว

การที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยครั้งนี้จะต้องคิดหลายๆด้าน และทำหลายๆอย่างไปพร้อมกัน ผู้นำต้องฉลาดและรอบรู้ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าผู้นำในลักษณะแบบพี่โทนี่เป็นผู้นำที่หาได้ยาก เก่งและฉลาด สามารถปรับตัวเองและปรับประเทศเข้ากับสถานการณ์ได้เสมอ อีกทั้งยังมีบารมีพอที่จะควบคุมข้าราชการและนักการเมืองให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องได้ ซึ่งเป็นปัจจัยของความสำเร็จที่สำคัญมาก

แนวทางที่ประเทศไทยจะฟื้นเศรษฐกิจ และถ้าจะให้พัฒนาแบบก้าวกระโดดได้ เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะประเทศไทยล้าหลังและเสื่อมถอยมาหลายปี อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ได้กู้เงินไปแล้วเป็นจำนวนมากจนทะลุเพดานและต้องขยายเพดานกันแล้ว ดังนั้น การจะฟื้นเศรษฐกิจได้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และจะต้องมีหลักคิดในการพลิกฟื้นในระยะต่างๆอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ช่วยเหลือธุรกิจเดิม สร้างธุรกิจใหม่

เรื่องแรกที่คิดว่าต้องเร่งดำเนินการคือ ต้องฟื้นธุรกิจเดิมให้ได้ พร้อมกับสร้างธุรกิจใหม่ควบคู่กันไปด้วย เรื่องนี้ดูเหมือนง่ายแต่ยากมาก เพราะธุรกิจเดิมของไทยในปัจจุบันมีจำนวนมากที่กำลังจะเจ๊งและหนี้ท่วม ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารวิกฤตการณ์ไวรัสโควิดของรัฐบาลที่ผิดพลาด ทำให้ต้องเปิดๆปิดๆกิจการมาเกือบ 2 ปีแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไปหมดมาเกือบ 2 ปี ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก รัฐบาลต้องเร่งเข้าช่วยในการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งลดดอกเบี้ย ลดเงินต้น ยืดการชำระเงิน ให้พวกเขาสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งนี้ ต้องเลือกธุรกิจที่จะไปรอดในอนาคตด้วย เพราะหลายธุรกิจก็มีทิศทางจะเจ๊งอยู่แล้วตามกระแส disruption ของโลก

ในขณะที่กำลังช่วยเหลือธุรกิจเดิมให้อยู่รอด การสร้างธุรกิจใหม่ๆก็ยากไม่แพ้กัน หรืออาจจะยากยิ่งกว่าเสียอีก เพราะธุรกิจใหม่ที่จะพัฒนาให้ใหญ่โตไปได้ในอนาคตต้องอาศัยเทคโนโลยี หากเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาเป็นยูนิคอร์นได้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะบริษัทที่จะเป็นยูนิคอร์นได้จะต้องมีมูลค่าการตลาดอย่างน้อย 1 พันล้านเหรียญ (33,000 ล้านบาท) ขึ้นไป ซึ่งต้องส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบริษัทแบบนี้มากๆ ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกแข่งขันกันด้วยความเก่งและความฉลาด คนที่สามารถคิดเรื่องใหม่ๆทางด้านเทคโนโลยีได้จะสามารถทำเงินได้อย่างมหาศาลในเวลาไม่นาน การสร้างบรรยากาศของประเทศ และ สร้าง Eco-system เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเหล่านี้ได้ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน อีกทั้งจะต้องเปิดกว้างให้คนฉลาดและคนเก่งจากต่างประเทศเข้ามาทำงานและช่วยประเทศไทยในการพัฒนาด้านนี้ด้วย ทั้งนี้ บริษัทที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดในโลกในปัจจุบันเป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยีเกือบทั้งหมด ในขณะที่บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในไทยกลับเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเก่าทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความล้าหลังของประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด แม้กระทั่งในสิงคโปร์ คนที่รวยที่สุดในสิงคโปร์ในปัจจุบันคือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท SEA Group เจ้าของบริษัทขายสินค้าออนไลน์ Shopee นี่เอง

ต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มของประเทศ

การพัฒนา Eco-system ที่รัฐบาลในอนาคตต้องทำเป็นอย่างแรกคือ การปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มของประเทศ หรือ Digitization เพื่อสนับสนุนให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องและสร้างธุรกิจใหม่ๆได้ อีกทั้งยังลดขนาดราชการ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้กับประชาชน แถมยังลดการทุจริตคอร์รัปชันให้น้อยลงด้วย ประเทศที่เป็นแบบอย่างการพัฒนาเรื่องนี้คือประเทศเอสโตเนียที่แยกตัวออกมาจากประเทศรัสเซียในอดีต โดยหลังแยกประเทศเอสโตเนียได้ปรับเปลี่ยนประเทศเป็น Digitization ทั้งหมด ทำให้ประชาชนฉลาด และใช้เวลา 20 ปี ในการพัฒนาประเทศจนเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และทำให้รายได้ต่อหัวต่อคนของชาวเอสโตเนียสูงกว่าคนรัสเซียถึง 2 เท่า เป็นต้น โดยประเทศเอสโตเนียสามารถคิดค้นธุรกิจทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ประชาชนมีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งนี้ ต้องยกความดีให้กับผู้นำเอสโตเนียสมัยนั้นที่มีวิสัยทัศน์ยอดเยี่ยม ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ประเทศไทยควรจะเดินตาม

เมื่อตั้งใจจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มของประเทศแล้ว การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งประเทศที่ต้องสามารถเข้าถึงได้ฟรี และต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อราชการผ่านแพลตฟอร์มใหม่ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการคำนวณหาปริมาณการใช้ฟรีที่เหมาะสมเพื่อใช้ประโยชน์โดยไม่เป็นภาระทางการคลังมากนัก หรืออาจผลักภาระให้ กสทช. เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยมีรายได้จากการประมูลคลื่นมาสนับสนุน นอกจากนี้การปูพื้นฐานให้กับนักเรียน นักศึกษา เป็นเรื่องจำเป็น นโยบายการแจกแทบเล็ตฟรีแก่นักเรียน และการฝึกเขียน Coding เป็นเรื่องที่ต้องนำกลับมาทำใหม่อย่างจริงจัง

เสริมสร้างงานอย่าคิดแค่จะแจกเงิน

นอกจากนี้หลักคิดเดิมของพรรคไทยรักไทยในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยจะเพิ่มการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการลดรายจ่าย เช่น การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่น้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นมาก รวมถึงการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและพลังงานทั้งหมดเพื่อไม่ให้เอาเปรียบประชาชนมากเกินไป การลดการใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อราชการผ่านแพลตฟอร์มใหม่ที่ไม่ต้องเสียเวลามากนัก และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เป็นต้น

การเพิ่มรายได้ ซึ่งต้องเพิ่มทั้งของประชาชนและของรัฐ โดยรัฐบาลในอนาคตต้องมีนโยบายส่งเสริมการจ้างงาน ไม่ใช่คิดแต่แค่แจกเงิน การส่งเสริมการสร้างธุรกิจใหม่ๆที่มีการจ้างงานและเพิ่มรายได้ อีกทั้งการสร้างกิ๊กอีโคโนมีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยรัฐบาลเองก็ต้องคำนึงถึงการสร้างรายได้เข้ารัฐที่ไม่ใช่แต่เฉพาะภาษี เช่น การเจรจากับประเทศกัมพูชาเพื่อขุดพลังงานจากแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน จะทำให้ประเทศได้รายได้เพิ่มขึ้นปีละหลายแสนล้านบาททั้งทางตรงและทางอ้อม การทำแลนด์บริดจ์ เป็นต้น และที่สำคัญการฟื้นการท่องเที่ยวของไทยให้เข้ากับทิศทางของโลกในอนาคต โดยมุ่งเน้นคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่าปริมาณ การท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น

การขยายโอกาส เริ่มจากรัฐบาลในอนาคตต้องขยายโอกาสและเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศก่อน แล้วประชาชนจะได้โอกาสเพิ่มขึ้นตามมา ตัวอย่างเช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อหนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศจีน ที่รถไฟความเร็วสูงของจีนมาถึงเวียงจันทน์แล้ว และเชื่อมต่อจากหนองคายมาโคราช และเชื่อมต่อมายังกรุงเทพฯ ซึ่งพื้นที่จังหวัดอีสานจะได้รับโอกาสและประโยชน์อย่างเต็มที่ อีกทั้งการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งควรดำเนินการมานานแล้วแต่กลับละเลย ปัญหาน้ำท่วมสลับปัญหาน้ำแล้งจึงวนเวียนไม่รู้จบ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของผลิตผลการเกษตรที่ต้องพัฒนา รวมถึงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีและการตลาดร่วมในการบริหารการเกษตรในอนาคต

นี่เป็นเพียงบางประเด็นที่ต้องคิดล่วงหน้าในการที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาแข็งแกร่งและพร้อมที่จะก้าวกระโดดต่อไปในอนาคต สิ่งที่สำคัญที่สุดที่หนีไม่พ้นคือ ต้องมีผู้นำที่มีกรอบคิดและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถนำมาปรับใช้กับการพัฒนาประเทศได้ ไม่ใช่ต้องรอให้ย่ำแย่หรือรอให้โดนด่าก่อนถึงจะคิดทำ ซึ่งจะไม่สามารถพัฒนาประเทศให้ทันเวลาได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศในอนาคตเป็นเรื่องที่จำเป็น ประชาชนทั้งประเทศจะต้องพิจารณาเลือกผู้นำที่สามารถนำพาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปได้จริง โดยพิจารณาจากเหตุและผลอีกทั้งผลงานในอดีต ซึ่งเชื่อว่าหากประเทศไทยมีผู้นำที่เก่งและฉลาดเหมือนในอดีต หลังจากวิกฤตโควิดประเทศไทยจะสามารถกลับมายืนแถวหน้าในเวทีโลกได้อีกครั้ง จะทำให้ประชาชนพ้นทุกข์และมีความสุขกลับมาได้


You must be logged in to post a comment Login