- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 14 hours ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 2 days ago
- อย่าไปอินPosted 5 days ago
- ปีดับคนดังPosted 6 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 7 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 1 week ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 1 week ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 2 weeks ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
สังคมไทยหลังโควิด ชีวิตจะยิ่งมืดมน
บทความพิเศษ โดย นายวิญญัติ ชาติมนตรี
การมาของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด 2019 (COVID-19) นับเป็นปัญหาใหญ่มากของชาวโลก ที่หนึ่งในนั้นรวมถึงประเทศไทยด้วย อะไรคือไวรัสโควิด-19 คงไม่ต้องกล่าวอีก เพราะเชื่อว่าทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในสังคมทุกประเทศต่างก็ทราบถึงความร้ายแรงกันอย่างดี
เมื่อโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรง มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตนับล้านคน วัคซีนสำหรับโควิด-19 จึงบังเกิดขึ้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้อยู่หลายตัวเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 เพราะช่วยปกป้องร่างกายจากโควิด โดยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันที่จะตอบสนองต่อไวรัส ร่างกายเราก็จะสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งจะช่วยต่อสู้กับไวรัสได้ กระบวนการนี้บางครั้งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีไข้ หนาวสั่น หรือปวดหัว แต่อาจจะไม่เกิดกับทุกคน วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ต่ำกว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิต
เนื่องจากวัคซีนโควิดเพิ่งได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นในช่วงไม่นานหลังจากมีการแพร่ระบาดขึ้นในโลก ผลลัพธ์ของวัคซีนที่ดีไม่ว่าจะเป็นวัคซีนตัวใดจะต้องมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ นอกจากต้องมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องมีความรวดเร็วในการผลิต และการจัดส่งวัคซีนที่มีมาตรฐานที่เข้มงวด เพราะนั่นคือสิ่งที่องค์การอนามัยโลกกำลังช่วยให้วัคซีนได้รับการฉีดให้กับประชากรจำนวนมากทั่วโลก แม้วัคซีนไม่อาจป้องกันการติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่วัคซีนโควิด-19 ถือว่าปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
วัคซีนประเภทต่างๆที่มีศักยภาพต่อต้านการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่
1.วัคซีนเชื้อตาย จะใช้ไวรัสที่ถูกทำลายหรือทำให้อ่อนแอ จึงไม่ก่อให้เกิดโรค แต่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์สร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้
2.วัคซีนที่ทำจากโปรตีนไวรัส จะใช้ชิ้นส่วนของโปรตีนหรือเปลือกโปรตีนที่ไม่เป็นอันตรายที่มีลักษณะคล้ายตัวไวรัสโควิด-19 มากระตุ้นให้ร่างกายสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างปลอดภัย
3.วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ จะใช้ไวรัสที่ปลอดภัยไม่ก่อโรคมาเป็นแพลตฟอร์มในการผลิตโปรตีนของไวรัสโคโรนา เพื่อกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน
4.วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม RNA และ DNA เป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ซึ่งใช้สารพันธุกรรม RNA หรือ DNA ที่ดัดแปลงพันธุกรรมแล้วมาสร้างโปรตีนที่กระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้อย่างปลอดภัย
เมื่อกล่าวถึงวัคซีนแต่ละอย่างข้างต้น จะพบว่าแต่ละประเทศก็เลือกใช้วัคซีนที่คิดว่าจะเหมาะสม ในสถานการณ์นั้นนั้น และมีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการป้องกันเชื้อโควิด
ในช่วงเริ่มต้นก็อาจจะไม่มีใครรู้ว่าวัคซีนตัวใดคือวัคซีนที่ดีที่สุด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ทุกประเทศต่างรู้ ต่างเข้าใจว่า “วัคซีนที่ดีกว่า” นั้น มีอยู่จริง และรู้ว่าวัคซีนใด “ด้อยประสิทธิภาพ” แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทย กลับยังคงพยายามที่จะสั่งวัคซีนที่มีคุณภาพต่ำ เมื่อเทียบกับประสิทธิผลที่ออกมาในช่วงระยะเวลาที่สามารถจะพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ด้วยเหตุผลว่า “เราเป็นลูกค้าที่ดี” และนั่นคือเหตุผลที่ประเทศไทยได้วัคซีนที่มีคุณภาพด้อยกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังมีราคาที่สูงกว่าวัคซีนที่มีคุณภาพที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ภาพที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ใครที่ได้วัคซีนคุณภาพต่ำไปแล้ว แม้แต่ครบโดสคือสองเข็มแล้ว ก็จำเป็นต้องกลับมาฉีดวัคซีนตัวอื่นกระตุ้นแทนในที่สุด
เหล่านี้ยังไม่นับรวมถึงเมื่อได้นำเข้าวัคซีนคุณภาพที่ดีกว่าชัดเจนกว่ามาแล้ว ไม่ว่าจะโดยวิธีรับบริจาค หรือสั่งซื้อเข้ามา ก็ล้วนแต่พบปัญหาความไม่เท่าเทียมในการแจกจ่าย รวมถึงอภิสิทธิ์ชนที่สามารถเข้าถึงวัคซีนที่ดีกว่า ในขณะที่ประชาชนโดยทั่วไปกลับไม่มีทางเลือกที่จะได้วัคซีนคุณภาพ
ถ้าหากนับดราม่าในเรื่องวัคซีนไม่มาตามนัด ด้วยเหตุผลของ “วัคซีน” หรือ ”แย่งซีน” ก็ตาม การบริหารจัดหาวัคซีนเหล่านี้ ได้สร้างความไม่ปลอดภัยกับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะยังมีคนไทยอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มแรก และยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่มีความไม่เชื่อใจในตัววัคซีน หรือไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนคุณภาพ เพราะมีราคาต้องจ่าย ซึ่งแท้จริงแล้ว การบริการ ด้านสาธารณสุขนั้น ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียม โดยไม่ถูกบีบบังคับ และต้องสามารถเลือกได้
รัฐไทยสำเร็จหรือล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตโควิด?
ถามว่าเหตุใดประเทศไทยจึงล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตโควิดในสายตาของประชาชนส่วนใหญ่ อะไรคือสิ่งชี้วัดความล้มเหลวนั้น ล้วนมาจากปัจจัยสำคัญในอดีตที่เกิดขึ้นและเห็นกันมาแล้ว ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะหากการเมืองในประเทศดี ผู้นำประเทศดี ผลที่เห็นและประชาชนได้รับย่อมสะท้อนคำตอบในด้านดีด้วย แต่ความจริงของสถานการณ์ปัจจุบันทำให้มองอนาคตแทบไม่เห็น สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือความเลวร้ายในอดีตที่ประเทศชาติและประชาชนยังตกอยู่ภายใต้การบริหารของผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร
ขณะที่ผู้เขียนนั่งเขียนบทความนี้ ก็ลองนึกๆว่ามีหลายเรื่องที่เป็นปัญหาสะสม สร้างความตกต่ำให้กับประเทศชาติ ตราบใดที่การเมืองยังเป็นของกลุ่มอำนาจเก่า และผู้นำประเทศอย่าง พล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าที่ทำให้ประเทศแทบจะไม่มีอนาคต
เห็นได้จากปัญหาความยากจน ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาทางการเมือง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาทางการเงิน การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินและวินัยการคลัง ปัญหาด้านความเชื่อมั่นในการลงทุน ปัญหาด้านการสาธารณสุขที่กำลังซ้ำเติมประชาชนที่เผชิญกับโควิดในขณะนี้
ในอดีตการแก้ปัญหาความยากจนและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เห็นคือทำได้เพียงแค่การแจกเงินผ่านบัตรคนจนจำนวน 14.5 ล้านคน แต่ปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจจากภัยโควิดและภัยธรรมชาติ จำนวนคนยากจนก็น่าจะพุ่งสูงขึ้นกว่า 20 ล้านคน แล้วหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นเรื่อยๆจะแจกเงินประชาชนได้อีกแค่ไหนกัน
เมื่อดูการบริหารจัดการรับมือไวรัสโควิด-19 หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมาไม่ได้จัดหา “วัคซีน” ด้วยเหตุผลเรื่องคุณภาพหรือประสิทธิภาพ แต่ใช้งบประมาณแผ่นดินจัดซื้อวัคซีนที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของวัคซีน หลายคนปฏิเสธวัคซีนที่รัฐอ้างว่าจะจัดให้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งที่ความจริงวัคซีนก็ยังขาดแคลน ไม่สามารถฉีดได้ต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็น
อย่างนี้ไม่เรียกว่าความล้มเหลวในการบริหารจัดการโควิดและวัคซีนแล้วจะเรียกว่าอะไร ไม่ว่าจะเป็นภาพคนนอนป่วยตายในบ้าน คนนอนตายบนถนนเพราะหาเตียงไม่ได้ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์ถูกทอดทิ้งให้รับมืออย่างไร้ทิศทางการจัดการ ภาพคนเบียดเสียดใกล้ชิดกันเพื่อรอรับวัคซีน แต่สิ่งที่ผู้มีอำนาจให้ความสำคัญมากกว่าชีวิตประชาชนกลับกลายเป็นการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรม
แทนที่คณะรัฐมนตรีจะยับยั้ง กลับเห็นชอบให้มีการ “นิรโทษกรรม” บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัคร ไว้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ตอกย้ำว่ารัฐบาลล้มเหลวในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข เพราะไม่เร่งหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาฉีดให้ประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง เนื่องจากประชาชนต้องรอคอยวัคซีน ข้อมูลด้านวัคซีนมีความสับสน แต่ห้ามประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อต้องรอการตรวจด้วยการยืนยันตามระเบียบ สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามก็มีเตียงไม่เพียงพอ ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจกลายเป็นสิ่งจำเป็น
ความไม่พอใจจากประชาชนจึงห้ามไม่ได้ ม็อบจึงเกิดขึ้นเพื่อประท้วงรัฐบาล พวกเขาเรียกหาวัคซีนดีๆ แต่กลับได้รับรถฉีดน้ำ กระสุนยาง แก๊สน้ำตา การปฏิบัติอย่างรุนแรงของตำรวจ คฝ. และคดีความ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติรองรับสิทธิพื้นฐานด้านการชุมนุม การบริการสาธารณสุขที่ดีอยู่แล้ว ดูเหมือนว่ารัฐบาลและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะแยแสต่อความเป็นมนุษย์ของประชาชนน้อยลงๆราวกับเป็นประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
เก่งแต่กู้ คนรุ่นใหม่แบกหนี้ รัฐบาลอนาคตรับภาระ
เมื่อดูวินัยการเงินการคลัง ในปี 2563-2564 มีการกู้เงินฉุกเฉินนอกงบประมาณ 1.5 ล้านบาท เกิดปัญหาหนี้สาธารณะพุ่งชนเพดานกว่า 60% ของจีดีพี รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก คนที่เรียนจบใหม่ไม่มีงานทำและต้องตกงานกันมากขึ้น ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายย่อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องปิดตัวลง คนจน คนไร้อาชีพมากขึ้น ล้วนแต่ไม่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่มีการประชาสัมพันธ์หรือมีประกาศข่าวสารว่าประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้มาก่อน
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขและความยากจนไม่สามารถหลอกกันได้ ดังนั้น การกู้เงินจำนวนมากนับล้านล้านบาทจะตกเป็นภาระให้แก่คนรุ่นใหม่ รัฐบาลในอนาคต ต้องใช้หนี้คืนในอนาคต เพราะเงินในอนาคตที่ขยันสร้างหนี้ในปัจจุบันมาใช้สุรุ่ยสุร่ายทำให้เสียวินัยทางการเงิน ก็มาจากการบริหารประเทศทั้งสิ้น แต่กลับไม่นำมาแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างเต็มกำลังดังที่ประเทศอื่นเขาทำกัน ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องดิ้นรนควักกระเป๋าจองสิทธิ หรือจัดหาซื้อวัคซีนมาฉีดด้วยตนเอง นี่คือความเป็นจริง
การเมืองในสภาที่ผ่านมา ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้ความสามารถเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องเสียหายร้ายแรงทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ได้รวมศูนย์อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แต่กลับปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและไม่สุจริต มีพฤติการณ์ฉ้อฉลทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งค้าความตาย เหิมเกริม และมีข้อสั่งการของตนในลักษณะ “กลืนน้ำลาย” ตัวเอง
จากการถ่ายทอดสดการอภิปรายหลายประเด็น ผู้อภิปรายได้มีการยกเรื่องราวผู้นำประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยบอกว่าจะไม่ทำรัฐประหารแต่ก็ยังทำ ทั้งยังอภิปรายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่บอกว่าไวรัสโควิด-19 เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แต่กลับไม่ธรรมดา เพราะยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสะสม 1 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 10,000 คน เป็นต้น ซึ่งผลการโหวตแม้จะไว้วางใจ เพราะรัฐบาลกุมเสียงข้างมากในสภา แต่นายกรัฐมนตรีกลับได้คะแนนน้อยที่สุด ย่อมแสดงผลสะท้อนถึงความเป็นผู้นำที่บริหารประเทศล้มเหลวได้อีกด้านหนึ่ง
แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังจะได้อยู่ต่อเพราะเสียงในสภาที่รู้กัน เรื่องการลาออกเพื่อเปิดให้เลือกนายกฯคนใหม่ขึ้นมาแทนนั้น คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ถ้า พล อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ก็ยังน่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ พล อ.ประยุทธ์จะดูดีขึ้นมาได้บ้าง จากที่หลายคนมองว่าไม่มีอะไรดีในสายตาของประชาชนส่วนใหญ่
จนถึงวันนี้ หากจะฝืนอยู่ด้วยการหลอกตัวเองหรือหลอกประชาชนก็ไม่มีประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติ
7 ปีที่ผ่านมาเป็นอดีตที่ชัดเจน แม้จะมองอนาคตไม่เห็น แต่ถ้าภายหลังภัยโควิดครั้งนี้ ยังคงปรากฏชื่อ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ก็เชื่อได้ว่า หายนะที่ร้ายแรงต่อคนไทย จะหนักยิ่งขึ้น คนไทยจะสิ้นหวัง อนาคตประเทศไทย และสังคมไทยจะมืดมน จนสุดจะหาคำมาบรรยาย
You must be logged in to post a comment Login