- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ธุรกิจการเงินจากคำสอนศาสนา
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 12 พ.ย. 64)
อิสลามจะมีคำสอนเรื่องความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น เช่น พระเจ้า นรก สวรรค์ มีคำสอนเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อและมีคำสอนเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้อิสลามแตกต่างไปจากศาสนาอื่นๆก็คือ อิสลามยังมีคำสอนที่เป็นพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจการเงินไว้ทั้งในด้านแนวความคิดและการปฏิบัติ
เนื่องจากอิสลามเป็นวิถีการดำเนินชีวิต พิธีกรรมและคำสอนทางศาสนาจึงมีส่วนในการกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตทางเศรษฐกิจด้วย เช่น มุสลิมทุกคนถูกกำหนดให้ไปทำพิธีฮัจญ์ที่นครมักก๊ะฮฺครั้งหนึ่งในชีวิตหากมีความสามารถทางด้านร่างกายและการเงิน หากเปรียบการเดินทางไปทำฮัจญ์เป็นธุรกิจท่องเที่ยว การให้บริการคนเดินทางไปทำพิธีฮัจญ์ก็เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องมีการโฆษณาเพราะมีความต้องการทุกปี
การไปทำฮัจญ์ต้องใช้เงินจำนวนมากเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหารการกินอย่างน้อยสามสัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน เพราะไหนๆจะเดินทางครั้งหนึ่งในชีวิต ทุกคนที่ไปก็อยากจะอยู่ที่นั่นนานๆ คนที่มีเงินออมไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่มุสลิมในเอเชียอาคเนย์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรไม่มีเงินเดือนและไม่มีเงินออม แต่ถือว่าตัวเองมีเรือกสวนไร่นาเป็นทรัพย์สิน จึงขายทรัพย์สินของตัวเองส่วนหนึ่งเพื่อนำเงินไปทำพิธีฮัจญ์ ด้วยเหตุนี้ ที่ดินทำกินจึงตกเป็นของนายทุนที่รับซื้อแทนที่จะเป็นมรดกตกถึงมือลูกหลาน
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาที่ดินของชาวมาเลเซียไว้ให้ถึงลูกหลาน มาเลเซียจึงได้มีการจัดตั้งสถาบันออมเงินที่เรียกว่า “ตะบงฮาญี” ขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ตั้งใจจะไปทำฮัจญ์นำเงินมาฝากไว้เป็นการออมเงินแทนที่จะนำทรัพย์สินของตนไปขาย
ตะบงฮาญีตั้งขึ้นใน ค.ศ.1963 ทำหน้าที่เป็นเหมือนสหกรณ์หรือธนาคารเฉพาะกิจรับออมเงินจากผู้ที่ประสงค์จะไปทำฮัจญ์เท่านั้น และเพื่อรักษาเงินไว้ให้สะอาด รัฐบาลมาเลเซียได้ออกกฤษฎีกาค้ำประกันว่าเงินออมของผู้ฝากจะอยู่อย่างครบถ้วน อีกทั้งยังจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ขัดกับศาสนบัญญัติและไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยที่เป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลามด้วย
เงินออมของตะบงฮาญีจะถูกนำไปลงทุนในวิสาหกิจต่างๆทั้งของรัฐและเอกชน เช่น บริษัทน้ำมันปาล์ม บริษัทปีโตรเลียม บริษัททางด่วน กิจการโทรคมนาโคม เป็นต้น เงินปันผลจากกำไรของบริษัทหรือกิจการเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะเป็นของตะบงฮาญีในฐานะหุ้นส่วนผู้ประกอบการและอีกส่วนหนึ่งตะบงฮาญีจะแบ่งไปสมทบในบัญชีของผู้ออมเงินกับตะบงฮาญีในฐานะผู้นำเงินมาลงทุน
เมื่อเงินในบัญชีของผู้ออมเงินครบจำนวนที่สามารถไปทำฮัจญ์ได้แล้ว ตะบงฮาญีก็จะแจ้งให้ผู้ออมได้ทราบและจะดำเนินการทุกขั้นให้ผู้ออมเงินกับตะบงฮาญีไปทำพิธีฮัจญ์ตั้งแต่ออกเดินทางจนกระทั่งกลับบ้าน
ตะบงฮาญีนอกจากจะมีรายได้จากการลงทุนแล้ว รายได้อีกส่วนหนึ่งจะมาจากค่าบริการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ไปทำฮัจญ์ด้วย ในแต่ละปี มีมุสลิมชาวมาเลเซียเดินทางไปทำพิธีฮัจญ์ตามโควต้าของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียประมาณกว่า 20,000 คน แต่ละคนต้องใช้เงินอย่างต่ำในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาประมาณ 250,000 บาทเป็นอย่างต่ำ ดังนั้น ตะบงฮาญีจึงมีรายได้มากมายจากการจัดบริการฮัจญ์ในทุกปี
ตะบงฮาญีไม่เพียงแต่เป็นสถาบันการเงินแบบอิสลามที่เติบโตอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ตะบงฮาญียังมีส่วนช่วยในการวางรากฐานและผลิตคนที่มีประสบการณ์ทางด้านการเงินและการธนาคารแบบอิสลามให้ประเทศมาเลเซียด้วย เพราะหลังจากนั้น เมื่อธนาคารอิสลามแห่งมาเลเซียถูกก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกใน ค.ศ.1983 มาเลเซียก็มีบุคลากรที่มีประสบการณ์มาบริหารธนาคารอิสลามให้โลกได้เห็นว่าแม้จะไม่มีดอกเบี้ยเป็นรายได้เหมือนธนาคารแบบตะวันตก แต่ธนาคารอิสลามที่ปราศจากดอกเบี้ยก็สามารถยืนอยู่ได้แม้ในสภาวะต้องเผชิญกับวิกฤตการเงิน
หลังวิกฤตการเงินใน พ.ศ.2540 ที่เริ่มต้นจากประเทศไทยซึ่งส่งผลทำให้สถาบันการเงินในระบบดอกเบี้ยต้องซวนเซล้มระเนระนาด การเงินและการธนาคารอิสลามก็เริ่มเป็นที่สนใจของสังคมเศรษฐกิจโลกแม้ในประเทศไทย
You must be logged in to post a comment Login