วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปีชงกับคนไร้ศาสนาและคนงมงาย

On January 18, 2022

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  18 ม.ค.  65)

นี่ก็ใกล้ตรุษจีนแล้ว หลายคนกำลังไป “แก้ชง” ต่างๆ กันมากมาย  ผมอยากจะบอกว่าเรื่อง “ปีชง” ไม่มีในพุทธศาสนา หรือศาสนาใดๆ  ถ้าเราเป็นคนมีศาสนา ยึดมั่นในคำสอนและเชื่อฟังพระศาสดา ต้องไม่ไปงมงายกับ “ปีชง” เด็ดขาด เพราะเท่ากับว่าเรากำลังลบหลู่ ไม่เชื่อฟังคำสอนของพระศาสดา และสำหรับคนไม่มีศาสนา แต่คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ก็ไม่งมงายในเรื่องนี้ เพราะเสียเวลาและไม่เป็นประโยชน์

อาม่าของผมเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อน “ปีชง” ของจีน ในแต่ละปีมีแค่นักษัตรเดียว แต่เดี๋ยวนี้ มีถึง 4 นักษัตร โดยมีนักษัตรที่ชง 100%, ชง 75% ชง 50% และชง 25% ว่ากันไปโน่นเลย วัดหรือศาลเจ้าต่างๆ คงหวังจะให้มีคนหรือ “ลูกค้า” ไป “แก้ชง” กันมากๆ จะได้มีรายได้มากๆ กันหรืออย่างไร  ในประเทศจีนก็มีความเชื่อนี้ก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแพร่เข้าไปถึง จึงมีเรื่อง “ปีชง” ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพุทธ เช่นเดียวกับชาวอินโดนีเซียก่อนที่จะรับฮินดู พุทธ และอิสลามในที่สุด ก็นับถือพวกเทพ พวกผีมากมายมาก่อน และทุกวันนี้หลายคนแม้รับอิสลามมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ก็ยังนับถือเทพ นับถือผีอยู่อย่างต่อเนื่อง

มีบางคนบอกว่าแม้ไม่มีใครรับรองว่าการ “แก้ชง” จะดีหรือได้ผลหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ให้ทำไปเถอะหาก

1. ทำแล้วสบายใจเหมือนการทำบุญสุนทาน

2. ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนแล้ว คือไม่ถึงขั้นต้องเสียเงินเสียทองมากมาย ไม่ทำให้เป็นหนี้เป็นสิน

3. ไม่เป็นการไปเบียดเบียนใคร

การคิดแบบนี้ผิดแน่นอนเพราะความสบายใจแบบนี้เป็นสิ่งชั่วคราว ไม่ได้ช่วยให้เราพ้นทุกข์ใดๆ  เพียงแต่ทำให้เราสบายใจที่ได้บริจาค/ทำสิ่งที่เชื่อว่าดี  สถานีวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America หรือ VOA) ได้เผยแพร่ผลการศึกษาว่า “สมองมนุษย์จะปลอดโปร่งขึ้นเมื่อได้เป็นผู้ให้ และระบบเส้นประสาทที่เรียกว่า Vagus. . .ทำให้เราอยากช่วยเหลือผู้อื่น อยากให้และอยากเสียสละ. . .ระบบประสาท Vagus จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อคนๆ นั้นได้ทำอะไรก็ตามเนื่องมาจากความสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่น. . .ระบบประสาทดังกล่าวทำให้มนุษย์วิวัฒนาการมาเป็นสัตว์สังคม ซึ่งสนับสนุนการทำงานแบบรวมกลุ่ม ตั้งแต่แรกเกิดเด็กทารกต้องพึ่งพาผู้อื่นในการดูแลตนเอง โดยจะมีสารเคมีในระบบประสาทบางชนิด ที่กระตุ้นให้เรารู้สึกพึงพอใจเมื่อได้เสียสละ สารเคมีชนิดหนึ่งคือ oxytocin ซึ่งจะอยู่ในเส้นประสาท และกระแสเลือด มีความเกี่ยวพันกับความรู้สึกรัก และเสียสละของมนุษย์ <1>

ยังมีบางคนพยายามจะเชื่อเรื่อง “ปีชง” ให้ได้โดยอ้างว่า

1. แม้ “ปีชง” จะเป็นเรื่องของโหราศาสตร์ หรือในอีกนัยหนึ่งคือมายาศาสตร์จีน ที่ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาก็จริง แต่องค์ความรู้ในศาสตร์อื่นที่นอกเหนือไปจากพุทธศาสนา ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นเรื่องไม่มีจริง ไม่มีผล หรืองมงายเสมอไป

2. ถึงแม้ศาสนิกชนจะเชื่อว่าไม่มีศาสตร์ใดที่รู้แจ้งไปกว่าการตรัสรู้ของศาสดา แต่ไม่ได้หมายความว่า นอกจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือศาสดาอื่นใด ไม่มีความรู้อะไรอีกเลย ยังมีองค์ความรู้ในศาสตร์อื่นและภูมิปัญญาโบราณของทุกชนชาติทั่วโลกอีกมากมาย ที่บางอันมีมาก่อนเกิดพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป

คนที่อ้างอย่างนี้อาจถือได้ว่าเป็นคนลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา ลบหลู่พระศาสดาของศาสนาต่างๆ โดยตรง เพราะความเชื่อเรื่อง “ปีชง” ขัดแย้งกับคำสอนของศาสดาของทุกศาสนาก็ว่าได้  การไม่เชื่อคำสอนของศาสดากลับไพล่ไปเชื่อความเชื่อนอกศาสนาที่ขัดแย้งกับคำสอนของศาสดา ย่อมเท่ากับการลบหลู่ศาสดาโดยตรง ไม่สมควรเป็นศาสนิกชน  หรือแม้แต่คนไม่มีศาสนา แต่มีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ก็ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ยึดติดกับความงมงายของมายาคติเหล่านี้ ก็คงไม่เชื่อถือเรื่อง “ปีชง” แต่อย่างใด

บางคนบอกว่าเรื่อง “ปีชง” เป็นศาสตร์  นี่ย่อมไม่ใช่ศาสตร์เพราะถ้าเป็นศาสตร์จริง ต้องพิสูจน์ได้แน่ชัด  ศาสตร์คือข้อเท็จจริงหรือกฎที่จัดไว้อย่างเป็นระบบ หรืออาจหมายถึงกระบวนการและกิจกรรมที่ทำให้ได้ความรู้ที่สามารถทดสอบได้  บางคนก็บอกว่าเราต้องใช้สติในการไตร่ตรอง เอาเหตุเอาผลมาประกอบการตัดสินใจเสมอ  แต่ในความเป็นจริง ถ้าเราใช้สติจริง ปัญญาย่อมเกิด แต่โดยที่เรายังเชื่อโดยขาดสติ ย่อมไม่มีปัญญาอย่างแน่นอน  ถ้าเราทำตามความเชื่อนอกศาสนาหรือความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ก็ย่อมเป็นความงมงายอย่างแน่นอน

ความเชื่อเรื่อง  “ปีชง” ย่อม “ขัดกับหลักการของชาวพุทธในระดับพื้นฐานที่สอนว่าลักษณะและชะตากรรมของมนุษย์เราเป็นผลมาจากความคิด คำพูดและการกระทำโดยเจตนาโดยรวมกล่าวคือ กรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าเรื่องเหล่านี้เป็นดิรัจฉานวิชา และทรงสอนทั้งพระภิกษุและพระภิกษุณีว่าจะต้องไม่ข้องแวะกับเรื่องโหราศาสตร์หรือเรื่องของการทำนายทายทักและดิรัจฉานวิชาในทุกรูปแบบ. . .ปรากฎใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส (๒๙/๗๕๓) ความตอนหนึ่งว่า อาถพฺพณํ สุปินํ ลกฺขณํ โน วิทเห อโถปิ นกฺขตฺตํ วิรุตญฺจ คพฺภกรณํ ติกิจฺฉํ มามโก น เสเวยฺย ฯ ภิกษุผู้นับถือ(พระรัตนตรัย) ไม่พึงประกอบการทำอาถรรพณ์ การทำนายฝัน การทายลักษณะ และการดูฤกษ์ ไม่พึงข้องแวะการทายเสียงสัตว์ร้อง”

“นอกจากนั้นแล้ว ใน นักขัตตชาดก (ขุททกนิกาย ชาดก ๒๗/๔๙) พระพุทธเจ้าก็ยังได้ตรัสถึงเรื่องของคนที่มัวแต่รอฤกษ์ยามว่าเป็นคนโง่ เขาแทนที่จะได้เจ้าสาวที่ไปสู่ขอไว้กลับถูกคนอื่นชิงตัดหน้าเอาไปเสียก่อน เพราะมัวแต่ถือฤกษ์ถือยามอยู่ ดังความของพระคาถาในชาดกเรื่องนี้ว่า นกฺขตฺตํ ปฏิมาเนนฺตํ อตฺโถ พาลํ อุปจฺจคา อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ    กึ กริสฺสนฺติ ตารกา ฯ ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้” <2>

ทางออกสำหรับท่านที่ต้องการให้มีสิริมงคลแก่ชีวิต ไม่ต้อง “แก้ชง” เพียงปฏิบัติตาม “มงคลชีวิต 38 ประการ” ที่พระพุทธเจ้าสอน ก็ได้มงคลสมใจได้อย่างแน่นอน หลายคนอาจทำไม่ได้ทุกข้อ แต่ยิ่งทำได้มากก็มีมงคลมาก ดังนี้ “ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต บูชาคนที่ควรบูชา อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม มีบุญวาสนามาก่อน ตั้งตนชอบ เป็นพหูสูต มีศิลปะ มีวินัย มีวาจาสุภาษิต บำรุงมารดาบิดา เลี้ยงดูบุตร สงเคราะห์ภรรยา(สามี) ทำงานไม่คั่งค้าง บำเพ็ญทาน ประพฤติธรรม สงเคราะห์ญาติ ทำงานไม่มีโทษ งดเว้นจากบาป สำรวมจากการดื่มน้ำเมา ไม่ประมาทในธรรม มีความเคารพ มีความถ่อมตน มีความสันโดษ มีความกตัญญู ฟังธรรมตามกาล มีความอดทน เป็นผู้ว่าง่าย เห็นสมณะ สนทนาธรรมตามกาล บำเพ็ญตบะ ประพฤติพรหมจรรย์ เห็นอริยสัจจ์ ทำพระนิพพานให้แจ้ง จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม จิตไม่โศก จิตปราศจากธุลี จิตเกษม” <3>

ถ้าเราเป็นชาวพุทธ หรือศาสนิกชนอื่นใดก็ตาม ต้องไม่คิดนอกลู่นอกทางอย่างงมงายและขาดเหตุผลเท่าที่ควร ไม่เช่นนั้นจะเป็นบาป เป็นการบ่อนทำลายศาสนามากกว่า

อ้างอิง

<1> โปรดอ่านเพิ่มเดิมที่ ‘’รายงานสุขภาพเรื่องสมอง และระบบประสาท กับ หลักการพื้นฐานด้านชีววิทยา” ของสถานีวิทยุ Voice of America: https://bit.ly/3K3xI2V

<2> โหราศาสตร์กับพระพุทธศาสนา. https://bit.ly/34J1aLr <3> มงคลสูตร https://bit.ly/3K19k1P


You must be logged in to post a comment Login