วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เริ่มแล้ว “วันนักประดิษฐ์ 2564 -2565” ครั้งที่ 23 โชว์ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ระหว่าง 2-6 ก.พ.2565 ที่ ศูนย์การประชุมฯ ไบเทค บางนา

On February 2, 2022

วันที่ 2 ก.พ. 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 – 2565 (Thailand Inventor’s Day 2021 – 2022) เป็นวันแรก ซึ่งเหล่านักประดิษฐ์จากสถาบันศึกษา หน่วยงานรัฐ เอกชนร่วม โชว์นวัตกรรมกว่า 1,000 ผลงาน จาก 100 กว่าหน่วยงาน โดยคัดเลือกจากผลงานที่สมัครเข้าร่วมกว่า 10,000 ผลงาน พร้อมด้วย นิทรรศการระดับนานาชาติ จำนวน 200 ผลงาน จาก 24 องค์กร 20 ประเทศพันธมิตร


นอกจากนี้จัดพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ จากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช. ผู้บริหาร ให้เกียรติเข้าร่วมในพิธี พร้อมเชิญชวนประชาชน ร่วมชมงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ไทยที่ยิ่งใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 2- 6 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ขณะที่ช่วงบ่าย ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” โดยรูปแบบของการจัดงานมี 2 รูปแบบ ทั้งออนไลน์(online) ทางสื่อโซเชียล และแบบออนไซต์ (on-site) มาดูที่จัดงาน

สำหรับ “วันนักประดิษฐ์” จัดขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 และเพื่อเป็นการระลึกถึงวันประวัติศาสตร์การจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก และทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” โดยวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 -2565 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2565 ณ Event Hall 102 – 104 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการเผยแพร่ ถ่ายทอด และขยายผลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่ผู้ใช้ประโยชน์ และสาธารณชน เป็นกลไกในการสร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจ แก่นักประดิษฐ์ไทย และเยาวชนรุ่นใหม่ในการพัฒนาผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ พร้อมสร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการประดิษฐ์คิดค้น

ในโอกาสเดียวกันนี้ วช. ได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เป็นปีที่ 47 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ในการพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยได้รับเกียรติจาก นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นประธานมอบรางวัลฯ รวมทั้งสิ้น 309 รางวัล แบ่งเป็น 4 ประเภท ใน 12 สาขาวิชาการ ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น นับเป็นพิธีการสำคัญที่เกิดขึ้นในงานวันนักประดิษฐ์เป็นประจำทุกปี

สำหรับวันนักประดิษฐ์ในปีนี้ วช.ดำเนินกิจกรรมภายใต้แนวคิด “วิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต สู่สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ได้รวบรวมผลงานประดิษฐ์คิดค้นจาก ปี 2564 และ ปี 2565 มาแสดงศักยภาพต่อสาธารณชน ประกอบด้วยภาคนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขเพื่อประชาชน” และนิทรรศการน้อมรำลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” อีกทั้ง นิทรรศการผลงานประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมในระดับชาติ ได้แก่ ผลงานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการผลงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยและบัญชีนวัตกรรมไทย นิทรรศการผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา ใน 6 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 1) ด้านความมั่นคง อาทิ อาวุธยุทโธปกรณ์ ยุทธภัณฑ์ทางการทหาร เครื่องมือสื่อสาร 2) ด้านการเกษตรสร้างมูลค่า ได้แก่ เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป และเกษตรอัจฉริยะ 3) ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะการท่องเที่ยว หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีภัณฑ์ ดิจิทัลการแพทย์ครบวงจร 4) ด้านนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ อาทิ โภชนาการและสุขภาวะในช่วงปฐมวัย สื่อการเรียนรู้ ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัล และดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา ฯลฯ 5) ด้านผู้สูงวัยและผู้พิการ และ 6) ด้านนวัตกรรมสีเขียว อาทิ การลดของเสียจากต้นทาง หมอกควัน การจัดการขยะมูลฝอย น้ำเสีย และของเสียอันตราย เป็นต้น รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,000 ผลงาน จาก 100 กว่าหน่วยงาน โดยคัดเลือกจากผลงานที่สมัครเข้าร่วมกว่า 10,000 ผลงาน พร้อมด้วย นิทรรศการระดับนานาชาติ จำนวน 200 ผลงาน จาก 24 องค์กร 20 ประเทศพันธมิตร ในรูปแบบ Online Event

ทั้งนี้ ยังจัดการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน กว่า 400 ผลงาน ในโครงการ Thailand New Gen Inventors Award : I – New Gen 2021 โดยนักประดิษฐ์ที่สนใจต่อยอดผลงาน สามารถรับคำปรึกษาทางธุรกิจ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาทักษะการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการได้ อีกทั้ง กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อีกมากมาย อาทิ กิจกรรม Steam 4 Innovator , Robot Car Kit , Mocrobit to Code , การฝึกอบรมวิชาชีพ และกิจกรรมเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ ด้านประชาชนทั่วไป ยังสามารถเยี่ยมชมนวัตกรรมจากกลุ่มธุรกิจเริ่มต้น (Startup) และวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ได้อีกด้วย นับว่า วช. ได้นำสิ่งประดิษฐ์และกิจกรรมดี ๆ จำนวนมากของประเทศ มารวมไว้อย่างเต็มอิ่ม ตลอดทั้ง 5 วันของการจัดงาน ผู้สนใจเข้าร่วมชมงานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

โดยในภาคบ่ายของงานได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี ดร.วิภานัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)และ นายแพทย์ ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ร่วมลงนามบับทึกความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์และทคโนโลยีของไทยแบบยั่งยืน


You must be logged in to post a comment Login