วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ละบาปดีกว่าทำบุญ

On February 16, 2022

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 16 ก.พ.  65)

และก็มีกรุงเทพโพลล์ได้ทำสำรวจชาวพุทธกับการไปวัดของชาวพุทธไทยในวันมาฆบูชาประจำปี 2565 พบว่า ร้อยละ 63.5 เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ไปเข้าวัดทำบุญน้อยลง ร้อยละ 65.3 ยังไม่อยากไปเข้าวัดเพื่อทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาในวันมาฆบูชา เพราะต้องการหลีกเลี่ยงคนเยอะ กลัวติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 88.2 อยากทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทานในวันมาฆบูชา ร้อยละ 55.6 ไม่ทราบว่าวันมาฆบูชามีการทำบุญยุค New Normal ผ่านระบบออนไลน์ และร้อยละ 80.9 ไม่สนใจทำบุญผ่านระบบออนไลน์

เรียกว่า วันมาฆบูชา ในวันนี้ การทำบุญของชาวพุทธก็ลดน้อยลงไป ขณะที่บรรยากาศการจำหน่ายเครื่องสังฆทานในเทศกาลวันมาฆบูชาปีนี้เงียบเหงาหนัก เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่บีบรัด ประชาชนรายได้ลดลง บางคนจึงเลือกซื้อของไปห่อเออง ในขณะที่ทางร้านก็สั่งสินค้ามาขายน้อยลง เรียกว่า ประชาชนมีการประหยัดมากขึ้น เพราะต้องเก็บเงินไว้ใช้ในสิ่งที่จำเป็น แม้บางส่วนซื้อสินค้ามาห่อสังฆทานเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังต้องการทำบุญทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

โดยพ่อค้า แม่ค้า ที่จำหน่ายชุดสังฆทานราคาตั้งแต่ 100-300 บาทก็ยังขายไม่ค่อยได้เลย ต้องเรียกว่า ร้านค้าขายได้ลดน้อยลง หรือขายแทบไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ประหยัด นี่ก็ต้องเรียกกันว่า ยุคข้าวยาก หมากแพง ยุคเจ้าโควิดมานี่ ทำให้เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา ถูกเซาะทำจนแบบตกต่ำ แต่เอาล่ะ ไม่เป็นไร ชาวพุทธเรา ถึงแม้ว่า จะประกอบบุญได้น้อย แต่ขอให้เชื่อเถอะว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ละบาปให้มาก ถ้าละบาปมากดีกว่าทำบุญเยอะอีก ไม่งั้นพระพุทธเจ้าไม่เอา ละบาปขึ้นมาก่อนเป็นคำสอนข้อแรก

ถึงจะไม่ได้ทำบุญ โอกาสทำบุญน้อยก็ไม่เป็นไร อาตมาเองก็พยายามจัดญาติโยมไม่ให้เหินห่างทำบุญ แต่ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน เอากระบอกไปหยอดซักวันละบาท 7 วันบาท เรียกว่า เราไม่ได้ทิ้งบุญ ไม่ได้ห่างบุญ แต่เราทำบุญแบบเรียกว่า ทำบุญน้ำหยด ซึ่งการทำบุญน้ำหยดนี่ ไม่ใช่เล่นนะ อาตมาคิดดูแล้ว กระบอกเนี่ย ได้เดือนหนึ่งเกือบแสนหรือเป็นแสนบาทเลยทีเดียว ทำให้ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอะไรนี่อยู่ได้สบาย และโยมก็บอกว่า เขาไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะทำทีละน้อยๆ บาทสองบาท 5 บาท 10 บาท เป็นเหรียญ ไม่มีแบงค์

พอเอาเงินออกจากกระบอก ก็เรียกว่า นั่งนับกันจนตาแฉะ ดังนั้น ถ้ามาวัดแล้วไม่สะดวก ก็เอากระบอกไป และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเกื้อกูลต่อกัน เมื่อไม่ได้ใช้ก็เอามาถวายที่วัด แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ กระบอกหนึ่งหยอดไปก็ได้ 300 ,200, 500 บาท บางกระบอกถึง 700 หรือ 1,000 บาท ถามว่า ถ้าเดือดร้อนแล้ว เราไม่ได้มีข้อผูกมัด ไม่มีบอกว่า ถ้าพระใช้เอง บาป ไม่ใช่เลย บุญด้วย เพราะตัวเองก็จะได้ไม่เดือดร้อน เรียกว่า บุญช่วยตัวเองได้ด้วย ถ้าเหลือก็ช่วยวัด บางคนเอาไป 2 กระบวก 3 กระบอก หยอดๆไปได้หลายร้อยบาท ก็เอามาแก้ทุกข์ 

เรียกว่า แก้ขัดสนไปก่อน วัดไม่มีปัญหาอะไรมากมาย ทุกข์ของตัวเองต้องแก้ก่อน ถ้ามันสงบดี ก็ตั้งตัวได้ ตั้งรับได้ ก็หยอดไป ทำใหม่ ตอนนี้มีกระบอกปีนี้เป็นแสนลูก ใส่ลูกละไม่ต้องมาก แค่ 10 กว่าบาทก็ยังได้ตั้งเป็นล้าน เพราะฉะนั้น เรื่องทำบุญน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ พระพุทธเจ้าก็ตรัสแล้วว่า ไม่สรรเสริญหรอกคนที่ทำบุญเยอะ ทำบุญถี่ ทำบุญมาก ทำบุญบ่อย แต่สรรเสริญคนใคร่ครวญดีแล้วนำบอกให้ถึงจะเรียกว่า บุญไม่มีคำว่า ทำเกินฐานะ ทำบุญอย่าให้กระทบฐานะ และโภคะแห่งตน นี่เป็นคำสอน คำเตือนของพระพุทธเจ้า

อาตมาหวังว่า พวกเราอย่าตกใจกับภาวะคนทำบุญน้อย เข้าวัดน้อย สถานการณ์โควิดมันบีบคั้นให้เป็นอย่างนี้ เราก็ตั้งหน้า ตั้งตาละบาปให้เต็มที่เถอะ บุญทำไม่ได้ แต่ละบาปต้องทำ ถ้าไม่ทำ ไปทำบาปเพิ่มขึ้น บาปเก่าไม่ละ บาปเก่าเพิ่ม บาปเต็มสมอง บาปเต็มประเทศ จะอยู่กันยังไง เอาล่ะ เหมือนพระองค์หนึ่งแกนี่บวชมา ไม่ต้องทำบุญ ขอให้ละบาปเถอะ ไม่ใช่ไปกินเหล้าแล้วไม่จ่าย แล้วมาโกหก อย่างนี้เสียดายประเทศไทยเรา เจ้าของร้านอาหารก็ยกโทษ แถมยังให้เงินไปอีก 500 บาท ใจดีระวังนะ ผีจะเข้า ใจดีแบบไม่คิดถึงสันดานคนให้ดีบ้าง นี่แหละ คนไทยใจดีก็เลยทำให้อลัชชีในศาสนานี้มีเยอะขึ้น

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login