วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พัฒนาการของกฎหมายอิสลาม

On March 4, 2022

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 4 มี.ค.  65)

กฎหมายมีหน้าที่ตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  สมัยก่อน ประเทศไทยไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และกฎหมายการสื่อสาร  แต่ด้วยความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและมีนวตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้น จึงได้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาควบคุม ทั้งนี้เพื่อความยุติธรรมและความเป็นระเบียบ

ในอดีต  สังคมเล็กๆที่ไม่มีการรบราฆ่าฟันหรือการทำสงคราม จึงไม่มีกฎหมายสงคราม ในบางสังคมอาจมีสงคราม แต่ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับสงคราม   สงครามจึงกลายเป็นอาชญากรรมทำลายชีวิต

สังคมอาหรับก่อนหน้าอิสลามเป็นสังคมชนเผ่าที่ไม่มีรัฐบาลกลางและไม่มีกฎหมาย ความสงบจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเผ่าเล็กที่อ่อนแอกว่ายอมเป็นบริวารหรือไม่ก็เป็นพันธมิตรกับเผ่าใหญ่ แม้สังคมชนเผ่าอาหรับไม่มีกฎหมายเหมือนพวกลูกหลานอิสราเอล แต่ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติแบบ “ตาแทนตา ฟันแทนฟัน” ที่ทำให้คนที่คิดจะฆ่าใครต้องคิดแล้วคิดอีก

เมื่อนบีมุฮัมมัดเริ่มนำอิสลามมาเผยแผ่ในเมืองมักก๊ะฮฺ คำสอนของอิสลามยังไม่ได้อยู่ในรูปของกฎหมาย  หากแต่เป็นหลักคำสอนด้านความเชื่อที่ย้ำให้ชาวอาหรับเข้าใจว่าพระเจ้ามีองค์เดียว และพระองค์คืออธิปไตยที่คำบัญชาของพระองค์ต้องได้รับการเชื่อฟังโดยมีนบีมุฮัมมัดเป็นผู้ใช้อำนาจของพระองค์

ในช่วงเวลา 13 ปีที่นบีมุฮัมมัดเผยแผ่อิสลามอยู่ในมักก๊ะฮฺ ไม่มีคำบัญชาเรื่องสงครามถูกประทานลงมาแม้ท่านและมุสลิมจะถูกกดขี่ข่มเหงอย่างหนัก  แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่จะทำสงคราม

ต่อเมื่อมุสลิมและนบีมุฮัมมัดอพยพหลีกหนีการกดขี่ข่มเหงไปแล้ว ชาวมักก๊ะฮฺยังยกกองกำลังมารุกรานราวีอีก  ตรงจุดนี้เองที่พระเจ้าได้มีคำบัญชาลงมาอนุญาตให้ทำสงครามอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์กุรอาน ดังนี้

“ทำไมสูเจ้าจึงไม่ต่อสู้ในหนทางของพระเจ้าเพื่อผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่อ่อนแอและถูกกดขี่ และพวกเขาร้องว่า ‘โอ้พระผู้อภิบาลของเรา โปรดทรงนำเราออกจากเมืองที่ผู้คนของมันเป็นผู้กดขี่ข่มเหง และโปรดตั้งผู้คุ้มครองจากพระองค์ให้แก่เราและได้โปรดตั้งผู้ช่วยเหลือจากพระองค์แก่เราด้วยเถิด’” (กุรอาน 4.75)

“สำหรับบรรดาผู้ถูกโจมตีนั้นได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ เพราะพวกเขาถูกกดขี่ข่มเหง และพระเจ้าทรงสามารถช่วยพวกเขาได้อย่างแน่นอน” (กุรอาน 22.39)

“คนเหล่านี้คือผู้ถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะเขากล่าวว่า ‘อัลลอฮฺคือพระเจ้าของเรา’ ถ้าหากพระเจ้าไม่ทรงกำราบคนหมู่หนึ่งโดยอาศัยคนอีกหมู่หนึ่ง  สถานที่บำเพ็ญภาวนา โบสถ์ สุเหร่าและมัสยิดซึ่งเป็นสถานที่ที่พระนามของพระเจ้าถูกกล่าวรำลึกก็จะถูกทำลาย พระเจ้าจะทรงช่วยบรรดาผู้ที่ช่วยเหลือพระองค์ แท้จริง พระเจ้าเป็นผู้ทรงพลังผู้ทรงอำนาจ” (กุรอาน 22.40)

“และจงต่อสู้ในหนทางของพระเจ้ากับบรรดาผู้ที่ต่อสู้สูเจ้า แต่จงอย่าละเมิดขอบเขต เพราะพระเจ้าไม่ทรงรักผู้ละเมิด” (กุรอาน 2.190)

“จงต่อสู้พวกเขาไม่ว่าสูเจ้าจะเผชิญหน้าพวกเขา ณ ที่ใดในการรบ และจงขับไล่พวกเขาออกไปจากที่ที่พวกเขาขับไล่สูเจ้าออกมา ถึงแม้ว่าการฆ่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่การกดขี่ข่มเหงและการสร้างความเสียหายนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าการฆ่า” (กุรอาน 2:191)

ไม่เพียงเท่านั้น  ก่อนหน้าอิสลาม เมื่อมีสงครามเกิดขึ้น  สมาชิกแต่ละเผ่าต้องลงทุนจัดเตรียมอาวุธ เสบียง  สัตว์พาหนะและกำลังคนกันไปเอง  แน่นอน เมื่อใครลงทุนก็ต้องไปถอนทุนกันเอาเองในสนามรบ สงครามจึงกลายเป็นอาชญากรรมที่ต่างฝ่ายต่างหาทางเข่นฆ่าศัตรูเพื่อถอนทุน อาวุธ ทรัพย์สิน เสบียงและอะไรก็ตามที่ใครเก็บหรือยึดได้ในสนามรบจะตกเป็นของคนนั้น

ด้วยเหตุนี้  พระเจ้าจึงได้มีบัญชาลงมาห้ามผู้ศรัทธาเก็บทรัพย์สินจากสนามรบหลังสงครามไปเป็นของตัวเอง  แต่ให้นักรบทุกคนนำทรัพย์สินที่เก็บได้ไปรวมไว้ที่นบีมุฮัมมัดและกำหนดให้นบีมุฮัมมัดเก็บทรัพย์สินที่ได้มาไว้หนึ่งในห้าส่วนเพื่อนำไปใช้เลี้ยงดูครอบครัวของท่าน หญิงม่ายและเด็กกำพร้า  ส่วนที่เหลือจากนั้นให้นำไปแบ่งในหมู่นักรบที่มีส่วนร่วมในสงคราม

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าคัมภีร์กุรอานมิใช่คัมภีร์ที่มีบทสวดมนต์เพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาในมัสยิดเท่านั้นเท่านั้น แต่ยังมีเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมไปถึงสงครามและสนามรบด้วย


You must be logged in to post a comment Login