วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ม.ราชภัฏสวนสุนันทา จัดงาน “Startup Champions Modle” โชว์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

On March 26, 2022

ม.ราชภัฏสวนสุนันทา จัดงาน “Startup Champions Modle” โชว์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน

นายกองเอก ปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดงาน“Startup Champions Model” การแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แผนงานวิจัยการพัฒนาศักยภาพ สู่การยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำบนฐานการใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม

รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยถึงผลการจัดงานแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แผนงานวิจัยการพัฒนาศักยภาพชุมชนและสมาชิกในชุมชนจังหวัดอุดรธานี “Startup Champions Model” สู่การยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำบนฐานการใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ที่จังหวัดอุดรธานี ว่า การจัดงานดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการวิจัยที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยเสริมสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนท้องถิ่น

ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของชุมชน ด้วยการนำงานวิจัยไปต่อยอดภูมิปัญญาของชาวบ้าน ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพมาตรฐานและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น ทั้งการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มีบรรจุภัณฑ์และฉลากสินค้า ป้ายราคาที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค รองรับการจำหน่ายสินค้าทั้งในระบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งผลจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กับกลุ่มภาคีเครือข่าย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพในจังหวัดอุดรธานีในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล มีการนำเสนอรูปแบบที่น่าสนใจ และที่สำคัญสามารถต่อยอดชิ้นงานผลิตภัณฑ์เดิมแตกไลน์เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ๆ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันในเชิงพาณิชย์

“วันนี้นักวิจัยของม.ราชภัฏสวนสุนันทา ได้นำงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนได้จริง ดังนั้น ชุมชนที่มีภูมิปัญญามีชิ้นงานอยู่แล้ว เราสามารถไปช่วยสนับสนุนดึงศักยภาพตรงนั้นออกมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ให้ประชาชนมีรายได้ ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศต่อไป” อธิการบดี ม.ราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวทิ้งท้าย

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. ได้สนับสนุนทุนวิจัยพื้นฐานให้กับ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา งบประมาณปี 2563 รวม 50 ล้านบาท เพื่อนำผลงานวิจัย นวัตกรรมต่างๆ ไปต่อยอดสนับสนุนวิสาหกิจชุมชมและกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยจังหวัดอุดรธานีเป็นแห่งหนึ่งที่ ม.ราชภัฏสวนสุนันทาได้นำงบสนับสนุนดังกล่าวไปพัฒนาศักยภาพของชุมชนได้ตามเป้าหมายอย่างครบถ้วน สามารถนำงานวิจัยแปลงคุณค่าภูมิปัญญาเป็นมูลค่าเพิ่ม สร้างโอกาสและรายได้ให้กับคนในชุมชน ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น

ด้านนางสาวกรองทอง แก่นคำ ตัวแทนกลุ่มต้นคราม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในการเป็นต้นแบบบรรจุภัณฑ์และตราสัญลักษณ์ “Startup Champion Model” กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ย้อมครามของกลุ่มเป็นผ้าทอมือ ที่แต่เดิมรุ่นยายรุ่นแม่ทำกันเป็นลายมัดหมี่ดั้งเดิมซึ่งอาจดูไม่ทันสมัยทำให้มีกลุ่มลูกค้าค่อนข้างจำกัด พอมาถึงรุ่นลูกจึงอยากสืบสานต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น เริ่มจากแสวงหาองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษา โดยได้อาจารย์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา เข้ามาช่วยแนะนำตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ตัดเย็บยังไงให้เหมาะกับสภาพอากาศร้อนของบ้านเรา การเพิ่มลวดลายและเฉดสีให้หลากหลายทันสมัยขึ้น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนชี้แนะจุดบกพร่องที่บางครั้งตัวผู้ผลิตเองอาจมองข้าม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จุดประกายให้กลุ่มได้นำมาพัฒนาต่อยอด จนวันนี้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มต้นครามได้ยกระดับไปอีกขั้น เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน Startup และ OTOP 5 ดาว มีช่องทางจำหน่ายทั้งหน้าร้านและออนไลน์ผ่านเพจเฟสบุ๊ค ต้นคราม ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง


You must be logged in to post a comment Login