วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ได้ฤกษ์เปิดงานนิทรรศการหมุนเวียนพันธุกรรมสร้างชีวิต

On April 2, 2022

วันนี้(2เมย.65) พลอากาศเอก เสนาะ  พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการหมุนเวียน “พันธุกรรมสร้างชีวิต”จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 เมษายน 2565 เวลา 08.00 – 17.00 น ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดปทุมธานี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการน้อมรำลึก ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน และจัดงานภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด  ในรูปแบบ Onsite และทาง Online ผ่านทาง Facebook พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ  

พลอากาศเอก เสนาะ  พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า “งานนิทรรศการหมุนเวียน “พันธุกรรมสร้างชีวิต” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี วันที่ 2 เมษายน 2565 เพื่อสร้างความตระหนักและปลูกจิตสำนึกแก่ประชาชนและเยาวชนได้รู้จักรักและหวงแหนในพันธุกรรมท้องถิ่น ดังพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “การรักทรัพยากร คือการรักชาติ รักแผ่นดิน” เกิดแรงบันดาลใจในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมั่นคง และยั่งยืนตลอดไป”

โดยภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเผยแพร่พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม นิทรรศการพันธุกรรมสัตว์ท้องถิ่น 

นิทรรศการ “พันธุกรรมสร้างชีวิต” จากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จัดแสดง 7 ฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมพืช พันธุกรรมสัตว์ และทรัพยากรไทย พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่าน Facebook live กว่า 30 เรื่องราว และทางด้านขององค์ความรู้ด้านการเกษตรภายในงานยังจัดเต็มการอบรมวิชาของแผ่นดิน และการอบรมเชิงปฏิบัติการ เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ด้านการเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงจัดหนักจัดเต็มตลอด 3 วัน เช่น หลักสูตรกัญชา พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยอาจารย์ นพ.สมยศ กิตติมั่นคง แพทย์ประจำโรงพยาบาลบางโพ กรุงเทพฯ หลักสูตร การผลิตมูลไส้เดือนด้วยวัสดุในบ้าน โดย ผศ.ดร.วิยดา กุนทีกาญจน์ และผศ.ดร.ทรรศวรรณ ทิพยวรการกูร อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หลักสูตรการเลี้ยงไก่ไข่และไก่เนื้ออินทรีย์ โดยอาจารย์อำนาจ เรียนสร้อย แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม จ.นครปฐม และหลักสูตรพรรณไม้แปลกที่ควรปลูก โดยอาจารย์วีระยุทธ ศรีเลอจันทร์ (ทอง ธรรมดา) ศูนย์เรียนรู้เพชรพิมาย จ.นครราชสีมา เป็นต้น โดยจำกัดผู้เข้าร่วมอบรม 50 คนต่อวิชา ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ชม ช้อป ตลาดเศรษฐกิจพอเพียง ตลาดแห่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สินค้า ผลผลิตเกษตรปลอดภัยที่คัดสรรมาให้เลือกซื้อ รวมถึงอาหารพื้นบ้านคาวหวานทั้ง 4 ภาค ที่มากด้วยคุณภาพจากผู้ผลิต ราคาเป็นกันเองกว่า 200 ร้านค้า

พิเศษ ภายในงานมีการแจกพันธุกรรม “เบญจรงค์ 5 สี” ให้ประชาชนผู้มาร่วมงานกว่า 800 ต้น และกิจกรรมเพาะ แจก แลก เปลี่ยน นำแก้วน้ำ หรือภาชนะเหลือใช้มาใส่กล้าไม้กลับไปดูแลต่อที่บ้าน  เพื่อร่วมกันอนุรักษ์พันธุกรรมพืชต่อไป

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมมีส่วนร่วม สำหรับผู้มาร่วมงานเพียงบันทึกภาพ VDO แชร์ลงบน Facebook หรือ Tiktok พร้อมเช็คอินและแฮชแท็ค #พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ รับของที่ระลึก แก้วน้ำสุดเท่ ฟรีทันที หรือจะเข้าชมพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual museum) ท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์บนโลกออนไลน์ สามารถแลกรับเจลแอลกอฮอล์ ล้างมือ ไอเท็มประจำตัวที่ต้องมีในยุค New normal แบบนี้

โดยการจัดงานในครั้งนี้ยังคงคุมเข้มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  อย่างเคร่งครัดผู้เข้าเยี่ยมชมงานจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม หรือมีผลตรวจ ATK โดยแสดงหลักฐานประกอบภายใน 72 ชั่วโมง พร้อมตรวจวัดอุณหภูมิทุกครั้งก่อนเข้าร่วมงาน และลงทะเบียนก่อนเข้าสถานที่ด้วย Application ไทยชนะหรือสมุดสำหรับลงทะเบียน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-529-2212-13, 087-359-7171,คลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.wisdomking.or.th หรือ facebook / Instagram /Line ID : @wisdomkingmuseum และ Youtube พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ


You must be logged in to post a comment Login