วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เวทีรวมพลังคนเมือง ชี้โควิดทำเด็กเล็กถดถอยทุกด้าน วอนว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. วาง นโยบายหนังสือ 3 เล่มในบ้านเด็ก

On April 5, 2022

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ที่สถานีกลางบางซื่อ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และภาคีเครือข่าย กว่า 10 องค์กร จัดเสวนา “พลังการอ่านฟื้นวิกฤติเด็กปฐมวัย” รวมพลังชุมชนเมือง สร้างวิถีวัฒนธรรมการอ่านเพื่ออนาคต

น.ส.สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า หนังสือสำหรับเด็กจำเป็นอย่างยิ่งต่อความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการของเด็ก แต่จากข้อมูลพบว่า มีเด็กปฐมวัยเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้น ที่มีหนังสือเด็กอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 3 เล่ม สถานการณ์เหล่านี้ยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้นในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดพบว่ามีเด็กไทยกว่า 1.1 ล้านครัวเรือนที่ไม่มีหนังสือเหมาะสมวัยในบ้าน ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กปฐมวัย 0 – 6 ปีมีพัฒนาการล่าช้า 32.50% ยิ่งในภาวะวิกฤติโรคโควิด 19 ยิ่งซ้ำเติมภาวะความรู้ การเรียนถดถอย (learning Loss) ทั้งนี้ มีข้อมูลน่าสนใจพบว่าหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพคือการกำหนดเวลาอ่านทุกวัน (Daily Reading) เพียงวันละ 20 นาที ช่วยฟื้นฟูความรู้ที่สูญหายให้กลับมา ดังนั้น สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายได้รณรงค์ทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติการทางสังคมเพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือในเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สมองพัฒนาสูงสุด กว่า 80% ของชีวิตมนุษย์

“เราทำงานมานาน เห็นปัญหาสั่งสมในสังคมไทย โดยเฉพาะเกิดการระบาดของโควิด 19 ยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำ เปราะบางในวิกฤติเด็กเล็กชัดเจนมาก ขาดมาตรการดูแลพัฒนาเด็กในช่วงโควิด ทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้ผลเร็วมากที่สุด คือรัฐบาลต้องเร่งให้มีนโยบายหนังสือฟรีในบ้านเด็ก อย่างน้อย 3 เล่ม โดยเฉพาะกทม. อยากให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาต้นทุนชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่ม จึงอยากได้ยินสัญญาการบรรจุนโยบายการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กในการหาเสียงด้วย” น.ส.สุดใจ กล่าว

ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา กล่าวว่า การอ่านเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นความรู้พื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรมี เพราะจะนำไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายต้องมีความเข้าใจ และส่งเสริมการอ่านดังนี้ 1. ส่งเสริมให้มีหนังสือเล่มแรกแก่หญิงที่ไปฝากครรภ์ เพื่อให้รู้เรื่องการดูแลตัวเอง ดูแลลูกในครรภ์ การดูแลหลังคลอด โดยจัดสรรงบให้กับสถานที่รับฝากครรภ์เป็นผู้จัดหาและส่งถึงมือ 2.จัดสรรหนังสือเล่มที่ 2 ให้กับเด็กก่อนปฐมวัยผ่านแม่ โดยคำนึงถึงแม่ที่อาจจะไม่ได้มีความรู้เท่ากันทุกคน 3.เด็กปฐมวัยส่วนใหญ่จะอยู่กับพ่อ แม่ และชุมชน ดังนั้นในชุมชนควรคิดถึงนโยบายห้องสมุดที่มีหนังสือหรือสื่อสำหรับแม่ และ 4.ศูนย์เด็กเล็กต้องจัดให้มีมุมหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ที่ผ่านมาคิดว่าในระดับพื้นที่น่าจะมีหลายแห่งที่ทำแล้ว แต่ควรผลักดันเป็นนโยบายระดับประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเคยมีแนวคิดที่จะทำแต่ไม่เป็นรูปธรรมเพราะรวมศูนย์ไว้ที่กรมวิชาการเลยเกิดยาก

นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า การอ่านจะช่วยให้เด็กมีจินตนาการ เกิดพัฒนาการทางสมอง เราจึงมีโครงการมหัศจรรย์ 2500 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่สมองเติบโตที่สุดก็จะพยายามสนับสนุนสิ่งที่จะมาเสริมพัฒนาการเด็กในช่วงนี้ ทั้งนี้ กทม.มีศูนย์สำหรับดูแลเด็กโดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส รวมๆ เกือบ 700 แห่ง มีชุมชนร่วมดูแล มีการอบรมครูผู้ฝึกสอน มีการจัดสรรงบประมาณค่าวัสดุอุปกรณ์ หนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน เครื่องเล่น หัวละ 100 บาทต่อคนต่อปี และกำลังแก้ระเบียบอุดหนุนงบฯ เพิ่มราวๆ 600 บาท นอกจากนี้ยังร่วมกับกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติทำกล่องวิเศษที่มีเครื่องเล่น ชุดการอ่านอยู่ในนั้น มีการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง วัยใส ส่งเสริมให้มีความรู้ มีทักษะ เพราะแม่ถือเป็นหนังสือเล่มแรกสำหรับลูก และมีโครงการครูข้างถนนค้นหาเด็กเร่ร่อนเข้ามาดูแลแบบวันต่อวัน จัดทำคู่มือเดย์ บาย เดย์ให้เด็กก่อนวัยเรียนให้มีมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ตามขณะนี้อาจจะต้องรอนโยบายจากผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เพราะเท่าที่ฟังจากนโยบายก็เห็นว่าได้ให้ความสำคัญกับเด็กเช่นเดียวกัน เพราะ กทม.ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตาย

ส่วนนางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ และกรรมการแผนคณะที่ 8 สสส. แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา (แผน10) กล่าวว่า สถานการณ์การอ่านหนังสือปัจจุบันไม่ได้น้อยลง แต่มีลักษะการอ่านเปลี่ยนไป จากการอ่านตัวอักษรในหนังสือ มาเป็นการอ่านในรูปแบบดิจิทัล แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ให้คุณค่าเหมือนกัน เป็นการนำเข้าสรรพสิ่ง ประสบการณ์ที่อยู่รอบตัวเรา ลงลึกถึงความรู้สึกของผู้อ่าน ก่อให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่ อย่างไรก็ตามการอ่านอักษรในเครื่องมือดิจิทัลเป็นการอ่านเร็ว อ่านสั้นๆ และมีหลายสิ่งมาเร้าความสนใจ ดังนั้นที่เราต้องการคืออ่านให้ครบถ้วน แต่ก็ต้องเรียกร้องคนเขียน เขียนให้ครบถ้วนด้วย สิ่งสำคัญตนมองว่า วิถีการอ่านต้นตอมาจากระบบการศึกษาที่วางหลักสูตรความรู้มากเกินไป เด็กต้องเรียนหนักตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้รู้สึกว่าโลกการอ่านเป็นโลกที่เคร่งเครียด ทำให้เราไม่สามารถกระตุ้นให้เด็กอยากอ่านหนังสืออย่างแท้จริง มองการอ่านเป็นเรื่องที่ถูกบังคับ ต้องปรับตรงนี้ให้เด็กรู้สึกสนุกกับการอ่าน

นางอังคณา ขาวเผือก คณะทำงาน สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กทม. กล่าวว่า ในพื้นที่เด็กปฐมวัยมีปัญหาการอ่านค่อนข้างเยอะ ประกอบกับการระบาดของโควิด 19 เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนจึงทำให้ไม่ค่อยได้จับหนังสือ การอยู่กับโทรศัพท์อาจจะเป็นหนึ่งในการเรียนรู้ แต่ก็เป็นภัยเงียบที่กระทบการอ่านและพัฒนาการของเด็กได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้ กทม.ให้ความสำคัญกับการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน กทม.ควรส่งเสริมให้มีหนังสือสำหรับเด็กเข้าไปอยู่ในชุมชน เพื่อให้เด็กหรือพ่อแม่ สามารถหยิบยืมหนังสือนั้นเพื่อนำไปพัฒนาลูกได้ รวมถึงส่งเสริมให้แต่ละบ้านมีหนังสือ 3 เล่ม และอีกสิ่งสำคัญคือครูในศูนย์เด็กเล็กปัจจุบันมีการจ้างแบบลูกจ้างรายวัน ทำให้เวลาเจอโครงการดีๆ อยากเข้าร่วมเพื่อพัฒนาทักษะก็ต้องลางานขาดรายได้ ดังนั้นหากสามารถเพิ่มสวัสดิการครูตรงนี้ก็จะได้มีเวลาทุ่มสรรพกำลังในการดูแลเด็กด้วย
ทั้งนี้ ขณะนี้ทางเครือข่ายชุมชนพัฒนาเด็กด้วยการอ่านเปิดรับข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อรวบรวมเสนอต่อว่าที่ผู้ว่ากทม.ผู้สนใจสามารถส่งข้อมูลได้ที่เพจ “อ่านยกกำลังสุข”


You must be logged in to post a comment Login