วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“เพื่อนบ้าน เปลี่ยนผู้นำ” โดย เกรียงศักดิ์ โยธาประเสริฐ

On April 22, 2022

ฝรั่งเศสและเพื่อนบ้านจะเปลี่ยนผู้นำ ด้วยการเลือกตั้ง  ฝรั่งเศสกำลังเลือกตั้ง เป็นการแข่งขันระหว่าง นายเอมมานูเอล มาครง วัย 44 ปี  ซึ่งเป็นประธานาธิบดีอยุ่ในปัจจุบันและ นางมารีน เลอ แปน วัย 54   ปี ฝรั่งเศสนับเป็นต้นแบบประชาธิปไตยประเทศหนึ่ง โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ประธานาธิบดี อยู่ในตำแหน่งวาระละ 5    ปี การเลือกตั้งจะแบ่งเป็นสองรอบ รอบแรกจากผู้สมัครทั้งหมด รอบสองจากผู้ที่ได้คะแนน อันดับหนึ่งและสอง สำหรับรอบแรกเมื่อวันที่ 10เมษายนที่ผ่านมา โดยนาย มาครง ได้ลำดับที่หนึ่งส่วน นางเลอแปน ได้ที่สอง ซึ่งจะต้องแข่งกันอีกครั้งในการเลือกตั้งวันที่ 24 เมษายนนี้

สำหรับเพื่อนบ้านรอบไทยกำลังมีการเปลี่ยนผู้บริหารประเทศ โดยก่อนหน้านั่น ในเดือนสิงหาคมปีก่อน มาเลเซียก็ได้นายกคนใหม่คือนายอิสมาอิล ซาบรี 

ฟิลิปปินส์  กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันที่ 9 พฤษภาคม รัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์กำหนดให้ประธานาธิบดี อยู่ได้วาระเดียว เป็นเวลา 6ปี  มีสองสภา คือ วุฒิสภาซึ่งมี 24 คน มาจากการเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎรซึ่งปัจจุบันจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 253 คนและจากบัญชีรายชื่ออีก 63 คน รวมเป็น 316คน(ตัวเลขไม่แน่นอนขี้นกับจำนวนประชากร) รายชื่อผู้สมัครที่ควรกล่าวถึง คือ นายเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส จูเนียร์ วัย 64 ปี ลูกชายอดีตประธานาธิบดี มาร์คอส โดยสมัครภายใต้พรรคตั้งใหม่ เฟอร์เดอรัล ปาร์ตี้ จับคู่กับนางซารา ดูแตร์เต ลูกสาวประธานาธิบดี ดูแตร์เต ผู้สมัครอีกคนหนึ่งคือ นางเลนี โรแบร์โต วัย 56 ปี อาชีพทนายความ และนักสิทธิมนุษยชน ลงแข่งอิสระ ใช้คำขวัญ ปฏิวัติสีชมพู รายอื่นก็มีอดีตดาราอย่าง นายฟรานซิสโก โคมาโกโซ และนักมวยดัง ปาเกียว ผลการสำรวจเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน นายมาร์คอส จูเนียร์ได้รับความนิยมเพียง ร้อยละ15 แต่การสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความนิยมเพิ่มถึงร้อยละ 55 นำคู่แข่งรายอื่น

การพัฒนาทางการเมืองของฟิลิปปินส์ ดูจะลงตัว เพราะเลือกตั้งประธานาธิบดีผ่านมาอย่างเรียบร้อยหลายสมัย ส่วนใหญ่ก็อยู่ตามวาระที่กำหนดในรัฐธรรมนูญคือ 6 ปี ไม่ปฏิวัติรัฐประหาร แม้ในช่วงที่ประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดาถูกตัดสินว่าคอร์รับชั่นก็เปลี่ยนผ่านโดยนางอาร์โรโย่ รองประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งแทนและมีการเลือกตั้งต่อไป ไม่มีการอ้าง ว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง การเปลี่ยนเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย ช่วงสำคัญเกิดขึ้นในยุคของมาร์กอส ซึ่งเป็นประธานาธิบดีในปี 2508 และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตัวเองอยู่ได้ไม่มีกำหนด จนอยู่มาครบ 21 ปี จึงถูกประชาชนขับไล่ในปี 2529  หากเทียบเคียงกับไทย เราต้องการเป็นประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2475 นับว่าก่อนเพื่อนบ้านมาก หากไม่นับปีนั้นเพราะเพื่อนบ้านยังอยู่ในปกครองของต่างชาติ แต่แม้นับเหตุการณ์ขับไล่ถนอม-ประภาส เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ก็ยังก่อนเหตุการณ์ขับไล่ มาร์กอส ในปี2529 หลายปี แต่ประชาธิปไตย ก็ไม่ไปไหน ในด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ฟิลิปปินส์มีอัตราความเติบโตสูงกว่าไทย อยู่ในระดับที่แข่งกับเวียดนาม

สิงคโปร์ จะเปลี่ยนผู้นำ ดูไม่น่าตื่นเต้น และไม่มีอะไรวุ่นวายเกี่ยวกับการเมืองในสิงค์โปร์ แต่ก็รู้กันว่า ดรรชนี ชี้วัด ทางเศรษฐกิจ การศึกษา ระบบการทำธุรกิจ วิทยาศาสตร์ แม้กระทั่ง การมีสำนักข่าว ตัวเลขของสิงค์โปร์สูงกว่าเพื่อนบ้านมาก สูงกว่าตะวันตกหลายประเทศ แต่ในทางการเมือง นับแต่ปี 2508เป็นต้นมา มีนายกเพียง 3 คน คือ นายลี กวน ยู  ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 31 ปีเศษ ประกาศลงจากตำแหน่งเอง และแจ้งล่วงหน้าว่า นายโก๊ะ จก ตง จะเป็นนายกคนต่อไป  ซึ่งก็ได้ดำรงตำแหน่งต่อมาอีก 13 ปีเศษ โดยนาย ลีเซียนลุง ลูกชายคนโต ของนายลีกวนยู เป็นนายกต่อมา และหากดำรงตำแหน่งอีกปีเคษ ก็จะครบ 20 ปี อย่างไรก็ดี เขาได้ยืนยันว่า นาย ลอว์เรนซ์ หว่อง วัย 49 ปี  รมต. คลัง ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค กิจประชาชน จะเป็น นายกคนต่อไป นายลีเซียน ลุง คงจะทำแบบเดียวกับพ่อของเขาคือ ลีกวนยู ที่ลงจากตำแหน่ง แจ้งว่าใครจะเป็นนายกคนต่อไป แม้ที่ผ่านมาจะมีนายกทีมาจากพรรคกิจประชาชน(People Action Party )เท่านั้น แต่ก็มีพรรคอื่นเข้าแข่งขัน แต่ไม่ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากประชาชน

สำหรับนายหว่อง เขามา จากครอบครัวธรรมดา ต้องช่วยงานครอบครัวตั้งแต่เด็ก ต่อมาได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่สหรัฐจนจบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล และปริญญาโทด้านจัดการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาท

ในด้านการแบบอย่างและร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยอาจไม่จำเป็นต้องเลือกสหรัฐหรือจีน เพราะคบประเทศใหญ่มักตามมาด้วยแรงกดดัน สิงค์โปรน่าจะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาได้ดี


You must be logged in to post a comment Login