- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
มูลค่าของความซื่อสัตย์
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 13 พ.ค. 65)
เจ้าของธุรกิจคนหนึ่งเตรียมขยายธุรกิจในต่างจังหวัด เขาจึงต้องการคนที่เหมาะสมมาดูแลกิจการของเขา ในวันสิ้นเดือน เขาเอาเงินเดือนใส่ซองให้พนักงานสามคนที่มีประสบการณ์โดยทุกซองเขาใส่เงินเกินไปหนึ่งพันบาท ในพนักงานทั้งหมด มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่นำเงินมาคืนเขา
ในตอนที่พนักงานคนนั้นนำเงินมาคืน เจ้าของธุรกิจบอกเธอว่า “คุณสอบผ่าน ผมกำลังทดสอบว่าใครเป็นคนซื่อสัตย์ที่ผมจะส่งไปเป็นผู้จัดการสาขาที่เปิดใหม่ เงินเดือนที่เกินนั้น คุณเก็บไว้และคุณรอรับเงินเดือนมากกว่านี้อีกจากตำแหน่งใหม่ที่ผมจะมอบให้คุณ”
พนักงานของเจ้าของธุรกิจคนนี้มีการศึกษาดีและมีใบปริญญารับรองคุณวุฒิทางด้านวิชาการทุกคน แต่ไม่มีพนักงานคนใดมีใบรับรองความซื่อสัตย์ที่สถาบันการศึกษาออกให้ เขาจึงต้องทดสอบ
ใครบอกว่าความดีกินไม่ได้และความซื่อสัตย์ไม่มีค่า ยุคนี้ไม่มีใครสนใจเรื่องคุณธรรมความดีอีกต่อไปแล้ว?
ครั้งหนึ่ง ประเทศไทยเคยมีรายได้จากการส่งแรงงานไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นอันดับต้นๆ แต่เมื่อคนงานไทยคนหนึ่งแอบขโมยเครื่องประดับทองคำและเพชรนิลจินดาในวังของผู้เป็นเชื้อสายกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียกลับมาประเทศไทย และเมื่อถูกจับได้ ทางเจ้าหน้าที่ของไทยกลับส่งของปลอมกลับไปให้ ผลที่ตามมาก็คือ ไม่เพียงแต่ผู้ขโมยเท่านั้นที่ต้องรับโทษ แรงงานไทยอีกหลายแสนคนต้องรับเคราะห์เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงานในซาอุดิอาระเบียอีกต่อไป รายได้จากแรงงานในตะวันออกกลางนับหลายแสนบาทในแต่ละปีจึงหดหายไปทันที ไม่เพียงเท่านั้น คนไทยทั้งประเทศยังถูกมองว่าไม่น่าไว้ใจอีกด้วย
ถ้าความซื่อสัตย์มีมูลค่า การทุจริตก็มีมูลค่าความเสียหายด้วยเช่น แต่ความทุจริตสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนมากมายและกว้างขวางกว่า
ก่อหน้าสมัยอิสลาม พ่อค้าบางชุมชนในแผ่นดินอาหรับเคยทำการค้าโดยเอารัดเอาเปรียบและคดโกงผู้คน พระเจ้าจึงส่งนบีบางคนมาเตือนพ่อค้าให้ชั่งตวงโดยเต็มและอย่าโกงตาชั่ง แต่พวกพ่อค้าไม่เชื่อนบี ในที่สุด ชุมชนนี้ก็ถูกพระเจ้าทำลายหายสาบสูญไป
ความซื่อสัตย์เป็นนามธรรม มิได้อยู่ในรูปวัตถุหรือตัวเงิน แต่ความซื่อสัตย์สามารถเป็นต้นทุนการทำธุรกิจได้
นบีมุฮัมมัดมีอาชีพเป็นพ่อค้าตั้งแต่หนุ่ม ก่อนได้รับภารกิจเผยแผ่อิสลาม ท่านมีฐานะยากจน แต่ชาวมักก๊ะฮฺให้ฉายาท่านเองว่า “อัลอะมีน” ซึ่งแปลว่า “ซื่อสัตย์และไว้วางใจได้” คุณสมบัตินี้เป็นต้นทุนทางคุณธรรมที่ท่านไม่ได้ซื้อมาจากที่ไหน ชาวเมืองมอบให้ท่านเอง แม้ชาวเมืองไม่ชอบการเผยแผ่อิสลามของท่าน แต่เมื่อใดที่ชาวเมืองที่เกลียดท่านจะเดินทางไกล ชาวเมืองจะเอาทรัพย์สินของต้วเองมาฝากไว้กับท่านด้วยความแน่ใจว่าจะได้ทรัพย์สินที่ตัวเองฝากไว้ครบถ้วน
คุณสมบัติแห่งความซื่อสัตย์และประสบการณ์ทางการค้านี้เองเป็นสิ่งดึงดูดแม่ม่ายเศรษฐีนามเคาะดีญะฮ์ให้ชวนท่านมาร่วมทำการค้าด้วย เมื่อทุนทางวัตถุรวมกับทุนทางคุณธรรมและประสบการณ์ ธุรกิจการค้าจึงเกิดกำไรมากมาย ดังนั้น นางเคาะดีญะฮ์จึงขอแต่งงานกับมุฮัมมัดเป็นการรวมชีวิตและรวมทุนในเวลาเดียวกัน
มุฮัมมัดแต่งงานเมื่ออายุ 25 ปีในขณะที่นางเคาะดีญะฮ์มีอายุมากกว่า จนกระทั่งเมื่อมุฮัมมัดอายุ 40 ปีและได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็น “นบีผู้นำสาส์นจากพระเจ้า” มาเผยแผ่ยังผู้คน นบีมุฮัมมัดจึงยุติการค้าเพื่อทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้ามอบให้โดยที่ภรรยาของท่านทุ่มเททรัพย์สินทั้งหมดให้แก่นบีมุฮัมมัดในการปฏิบัติภารกิจ เช่น การช่วยเหลือคนยากจน แม่ม่ายและปลดปล่อยทาส
ในตอนนบีมุฮัมมัดเสียชีวิต ท่านไม่ได้ทิ้งทรัพย์สินอะไรไว้มากมาย แต่อิสลามที่เกิดขึ้นและเติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้เริ่มต้นจากคุณธรรมที่เรียกว่า “ความซื่อสัตย์”
You must be logged in to post a comment Login