วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“พิบูลโมเดล” ตลาดเกษตรสีเขียวจากอำเภอสู่ระดับตำบล บูรณาการตลาดเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม

On May 19, 2022

“ตลาดสินค้าเกษตรสีเขียว พิบูลโมเดล”  บูรณาการตลาดโดยเกษตรกรแบบมีส่วนร่วมสร้างตลาดนำการผลิต   1 ในภารกิจติดตาม การขับเคลื่อนโครงการแก้จนพร้อมยกระดับงานบริการทะเบียนราษฎรดิจิทัล (Digital Platforms) รองรับก้าวสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ (Mid-term Follow-up : 10 Flagships to DOPA All Smart 2022) โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

การทำเกษตรยุคใหม่ เกษตรกรต้องไม่ใช่แค่การเป็นผู้ผลิตอย่างเดียว แต่ต้องมองให้ครบรอบด้าน ตั้งแต่ต้นทางการผลิต กลางทางการแปรรูป ไปจนถึงปลายทางด้านการตลาด ให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภค

นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง โครงการ “ตลาดเกษตรสีเขียว” เป็นการสร้างความเข้มแข็งระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอเพื่อความยั่งยืน(E-DOPA Sustainability) หนึ่งในกิจกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ของอำเภอพิบูลมังสาหารโดยบูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่นและท้องที่ เพื่อ“สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” ให้เกษตรกรจากระดับอำเภอไปสู่ระดับตำบล ทั้งส่งเสริมและยกระดับการทำอาชีพเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ก่อให้เกิดความยั่งยืนในระบบการผลิตทางการเกษตรของพื้นที่

การพัฒนาทักษะด้านการตลาดให้กับเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตได้มีสถานที่จำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ส่งถึงผู้บริโภคโดยตรง นอกจากเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกร ยังส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการวางแผนการผลิตเพื่อผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด เป็นการใช้หลักการการตลาดนำการผลิต อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรพัฒนาสินค้าทางการเกษตรให้มีมาตรฐานในการรับรองคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดระบบการผลิตปลอดภัย GAP Organic สินค้าปลอดภัยส่งผลต่อสุขภาพผู้ผลิต ผู้บริโภคและสภาพแวดล้อมดีขึ้น รักษาสภาพแวดล้อม เกิดความยั่งยืนในระบบการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่

เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่มีผลผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร นำสินค้ามาจำหน่ายกว่า 35 ร้าน เช่น ข้าว ไม้ผลพืชผักตามฤดุกาล สมุนไพร เป็นต้น มาจำหน่ายในทุกวันจันทร์และวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7.00 -13.00 น. ณ ลานกิจกรรมหน้าศาลหลักเมืองอำเภอพิบูลมังสาหาร เริ่มตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565) มูลค่าตลาดรวม 2,692,633 บาท

“เกษตรกรได้มีสถานที่ซื้อขายผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรงและมีความต่อเนื่องยั่งยืนติดต่อันมาเป็นเวลา 3 ปี การที่เรามีสถานที่ประจำให้เกษตรกรสามารถนำผลิตผลมาสร้างรายได้เป็นเรื่องที่ดี หากสินค้านั้นเป็นที่ยอมรับ มีความปลอดภัย มีความสะอาดและอร่อย ส่งผลให้ตลาดแห่งนั้นเป็นที่ยอมรับ มีการพัฒนาคุณภาพกันอย่างต่อเนื่องจากจำนวนร้านค้า 20 ร้าน เพิ่มมาเป็น 35 ร้าน สร้างยอดขายได้กว่า 2 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มเป็น 20 ล้านบาทได้ในอนาคต ปัจจุบันการค้าขายตามหลักเศรษฐศาสตร์จะหมุนเวียนอยู่ 5 รอบอาทิ วันนี้ขายได้ 1 แสนบาท เงินจำนวน 1 แสนบาทนั้นจะเกิดการหมุน 5 รอบ เงินจากตรงนี้ไปซื้อตรงนั้น ตรงนี้ ก็จะทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี”

นางเขมคณิศ แสงพันธุ์ตา  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนทำสวนอินทรีย์หมู่ 7 ต.สว่าง อ.สว่างวีระวงศ์ และกรรมการแม่บ้านระดับจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ทางเกษตรจังหวัดได้จัดตั้งตลาดเกษตรสีเขียวขึ้นมาเป็นตลาดยุทธศาสตร์ 4 อำเภอ อำเภอสิรินธร อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอสว่างวีระวงศ์ และอำเภอตาลสูง โดยให้เกษตรกร กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งประมง พืช ผักผลไม้ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตได้มาร่วมกันเปิดตลาดเกษตรสีเขียวทุกวันจันทร์และวันศุกร์ เวลา ณ ลานศาลหลักเมืองที่ว่าการอำเภอพิบูลมังสาหาร

นอกจากโอกาสด้านการตลาดแล้วยังได้รับการส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก หรือการกำจัดขยะ เรามีโครงการขยะเหลือศูนย์ (Zero waste) ในพื้นที่ โดยให้ผู้นำชุมชนในแต่ละกลุ่มที่เราสามารถประสานงานได้ มาเรียนรู้แล้วนำกลับไปทำในชุมชนของตนเอง

สร้างมูลค่าเพิ่ม จากผลผลิตที่แตกต่าง

นางเขมคณิศ แสงพันธุ์ตา  เล่าให้ฟังว่าผลผลิตหนึ่งที่โดดเด่นในจังหวัดอุบลราชธานี คือ มะม่วงหิมพานต์ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากโดยเฉพาะในแถบชลบุรี เนื่องจากพื้นที่ภูมิศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานีเหมาะกับการปลูกไม้แทบทุกชนิด อาทิ ทุเรียน มังคุด ลองกอง เฉพาะพื้นที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์ในอำเภอสว่างวีระวงศ์ ประมาณ 5,000 ไร่ เราคัดผู้มีใจร่วมกลุ่มเกษตรอินทรีย์ได้ประมาณ 200-300 ไร่  เพื่อยกระดับคุณภาพสินคา ให้ได้ผลผลิตที่มีความหอม กรอบอร่อย

“ปัจจุบันผลผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากแปลงผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ยังไม่พอกับความต้องการของตลาด เกิดกระแสบอกต่อจากผู้บริโภค เมื่อเราทำตลาดโดยพาเกษตรกรผู้ผลิตพบผู้บริโภคโดยตรง  จากผู้ปลูกถึงผู้บริโภคเลย ความใหม่ ความสด และพื้นที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ดินร่วนปนทราย เพราะฉะนั้นแล้วเรื่องปัญหาเรื่องความชื้น หรือเชื้อราต่างๆ จะน้อย รสชาติก็จะอร่อยกว่าที่เคยทาน จะมีความกรุบความมันความกรอบอยู่ในตัว ไม่ใช่เฉพาะที่เรา มีอีกหลายกลุ่มที่ทำไปขาย ก็จะได้รับผลตอบกลับมาเหมือนกันประมาณนี้แทบทั้งนั้นเลย”ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนทำสวนอินทรีย์กล่าวและว่า

ตนเองนั้นมีพื้นที่สวน 5 ไร่ ปลูกมาได้ 18 ปีตอนที่เริ่มปลูกไม่ได้คิดว่าจะทำเชิงเกษตรอินทรีย์ แต่เนื่องจากตัวเองเป็นคนที่เป็นภูมิแพ้แบบหนักมากเลย ฉะนั้นพอมีปัญหาไม่สบายจะรักษายากก็เลยหันมาใช้วิธีธรรมชาติดูแลตัวเอง เลยทำเป็นเกษตรอินทรีย์ ตามมาตรฐาน PCS ในปี 2559  หลักสำคัญการทำเกษตรอินทรีย์ คือ ดินดี น้ำดี อากาศดี ตามศาสตร์ของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เลย ใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติด้วยกันเอง อย่างปุ๋ยหมักก็ใช้น้ำหมักธรรมชาติ สิ่งที่เหลือในพื้นที่มาสกัดโดยใช้จุลินทรีย์ธรรมชาติ  สามารถสร้างรายได้หลักแสน ดีกว่าทำนา  และเรายังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ ให้ชาวบ้านด้วย

“ตราบใดที่เกษตรกรต้องการเป็นแนวร่วมขยายพื้นที่อินทรีย์ เราก็ไปให้ความรู้ ตลาดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ยังไปได้อีกไกล เพราะว่าเม็ดมะม่วงมีประโยชน์ตั้งแต่ต้นของเขา และยอดอ่อนนำมาเป็นเครื่องเคียงเป็นผักแกล้มผักแนมให้สารชะลอวัยสูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย และตัวไขมันในเม็ดมะม่วง จะเป็นไขมันดี พวกนี้จะไปแทนที่ไขมันทรานส์ ถ้าเรารับประทานเข้าไป พวกรักสุขภาพจะทราบกันดีตรงนี้”

การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดพันธุ์ในพื้นไปเพาะ ใช้เวลาเติบโตประมาณ 3 ปี พอปีที่ 4 เก็บสนุกเลย อยู่ที่การดูแลของเรา ถ้าเราดูแลดี เอาใจใส่เขาดี ต้นหนึ่งได้เฉลี่ยอยู่ 40-50 กิโลกรัม ราคาตั้งแต่ 20-60 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเม็ดที่แตกหัก ทางกลุ่มได้ต่อยอดผลผลิตโดยได้ผู้เชี่ยวชาญจากม.ราชภัฎอุบลฯ มาแนะนำเป็นพี่เลี้ยงให้องค์ความรู้เราในการแปรรูป ผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย อาทิ โคนไอศครีม วาฟเฟิลอบกรอบ จากเม็ดม่วงหิมพานต์ สนนราคาจำหน่าย 7 บาทต่อกรวย ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารกรีนและคลีนเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในอุบลราชธานี  097 -3540335

ด้านนายชาญชัย มหาดไทย เกษตรกรผู้ปลูกและผู้จำหน่ายในพื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร กล่าวว่าตนเป็นเกษตรกรหน้าใหม่เพิ่งผันตัวมาเป็นเกษตรกรปลูกพืชผักผสมผสานในพื้นที่ 6 ไร่  แบ่งพื้นที่ปลูกผักกูด 3 งาน โดยเลือกสายพันธุ์ผักกูดจากทางใต้มาปลูกในพื้นที่ ซึ่งให้ผลผลิตดีที่สุด โดยสร้างการรับรู้กับตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพภายใต้ชื่อ “ผักกูดอันดามัน”

เมื่อเลือกวิถีเกษตรกร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเอง เราก็ต้องมองหาโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้พอเพียงและอยู่ได้ จึงเลือกปลูกพืชชนิดที่ดูแลง่าย ทำงานจบในครั้งเดียว ไม่ได้ตรากตรำ ทำแค่ช่วงเช้ากับช่วงเย็นเท่านั้น  อาทิปลูกไม้ใหญ่ ไม้พยุง ประดู ไว้ให้เติบโตและเพิ่มมูลค่าตามกาลเวลา  อีกส่วนหนึ่งปลูกที่มีผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ตลอด อาทิ กล้วย ไผ่ และข้าวโพดหวาน และผักกูด

“ด้วยระบบดินต้องดี น้ำต้องดี อากาศต้องดี ในการทำเกษตรอินทรีย์ ตนจึงเลือกผักที่มีคุณค่าทางสารอาหารและมีความแตกต่างจากผักทั่วๆ ไปที่นิยมปลูกในพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดที่แตกต่างให้ได้ผลผลิตราคาดี ไม่ต้องแข่งขันด้านราคา จึงเลือกลองผิดลองถูกสายพันธุ์ผักกูดจากที่ต่างๆ พบว่า สายพันธุ์อันดามัน สามารถทนกับสภาพอากาศทางอุบลราชธานีได้ดี มีลำต้นอวบ ตลาดตอบรับดี”

เกษตรกรหน้าใหม่ กล่าวอีกว่า ในมุมมองของตนมองว่าผักกูดดีกว่าผักชนิดอื่น เพราะไม่มีปัจจัยการผลิต เหมือนผักทั่วไปที่มีงานจุกจิกเดี๋ยวไถ เดี๋ยวปลูก ทั้งยังต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิต อาทิ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฉีดยาฮอร์โมนต่างๆ เพื่อให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดยิ่งทำยิ่งเหนื่อย ขณะที่การเพาะเลี้ยงแปลงผักกูดโดยบำรุงดินให้ดี น้ำดี รอเก็บเกี่ยวผลผลิต จะยากหน่อยตรงที่ผักชนิดนี้ยังไม่อยู่ในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นัก จึงต้องมีวิธีการนำเสนอให้เขาได้รับรู้ถึงความใส่ใจ ในแต่ละขั้นตอนการผลิต การปลูกพืชโดยทั่วไปใช้ พื้นที่ 2×1 เมตร เก็บผลผลิตได้ 10 กำแล้ว  แต่ผักกูดต้องใช้พื้นที่ 2-3 งานจึงจะเก็บได้ 10 กำ ขายกิโลละ 140 บาท ขีดละ 14 บาท

ปัจจุบันส่งร้านอาหาร ทั้งขยายโอกาสตลาดทางด้านสุขภาพโดยผสมผสานความชอบส่วนตัวเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายคนรักสุขภาพ อาทิ เข้าร่วมกับผู้ปั่นจักรยาน  หลักๆ คือถ้าเราดูแลลูกค้าที่ใส่ใจในสุขภาพ เขาจะบอกต่อๆ กัน “ตลาดเกษตรสีเขียว” ลานหน้าศาลหลักเมืองอำเภอพิบูลมังสาหารจึงเป็นอีกเวทีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงฝีมือรสชาติอาหารจากผักกูด และผลผลิตในพื้นที่สร้างรายได้และสร้างการรับรู้ต่อผู้บริโภคโดยตรง


You must be logged in to post a comment Login